: จากเส้นทางการประกวดสุนทรพจน์ในโรงเรียนที่เล็กที่สุด สู่เส้นทางการประกวดสุนทรพจน์ถวายงานผ่านภาษา ชิงถ้วยพระราชทาน ในหลวง ร.9 ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของประเทศ :
นายนัธวินทร์ ทองย้อย นิสิตคณะบริหารธุรกิจ เศรษฐศาสตร์ และการสื่อสาร สาขานิเทศศาสตร์ ชั้นปีที่ 3 มหาวิทยาลัยนเรศวร
กับโอกาสในการเข้าร่วมประกวดสุนทรพจน์อุดมศึกษาเฉลิมพระเกียรติ ชิงถ้วยพระราชทานพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนารถบพิตร จัดโดยสมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ครั้งที่ 18 ประจำปี 2560 รอบชิงชนะเลิศ ณ หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรุงเทพมหานคร ในหัวข้อ โลกและไทยเป็นสุขทุกถิ่น ด้วยศาสตร์และศิลป์แห่งนวมินทราชา
เส้นทางของการประกวดสุนทรพจน์ จากจุดเริ่มต้นจนมาถึงวันนี้
เมื่อก่อนเป็นคนที่ขี้อายมากๆ ไม่กล้าแสดงออก ไม่คิดเหมือนกัน ว่าวันหนึ่งเราจะมาถนัดและหลงรักการพูด การเป็นพิธีกรมากขนาดนี้ ย้อนไปตอนเรียนอยู่ชั้นม.1 คุณครูให้เขียนเรียงความ จำได้ว่าตอนนั้นให้เขียนเรื่อง “สัตว์เลี้ยงที่เราชอบ” แล้วบังเอิญว่าเขียนข้อความได้โดนใจครู ครูก็เลยติดต่อให้เราไปแข่งสุนทรพจน์เพราะเห็นว่าการเขียนของเราพอใช้ได้ ก็เลยได้รับโอกาสในการไปแข่งสุนทรพจน์ ตอนนั้นม.1 หลังจากนั้นก็แข่งมาเรื่อยๆ จนม.6 พอเข้ามหาวิทยาลัยก็พักช่วงไป เพราะไม่ทราบว่ามีการแข่งขัน พอมาปี3 ถึงรู้ว่ามีการประกวดสุนทรพจน์ถวายงานผ่านภาษา ก็ไปแข่งกับทางมหาวิทยาลัยก่อนก็ได้ที่ 2 และได้ไปแข่งระดับภาคที่เชียงราย ได้รางวัลชมเชยกลับมา การไปแข่งบนเวทีระดับประเทศ ทำให้เราได้เจอคนเก่งๆ เราก็ได้เก็บประสบการณ์
ผมว่าสำคัญที่สุดคือการที่เราต้องรู้ว่า เอกลักษณ์ของเรา น้ำเสียงของเรา โดดเด่นในด้านไหน สามารถที่จะเล่นไดนามิคได้มากขนาดไหน แล้วก็พยายามดูคนที่พูดเก่งๆ เพื่อเราจะได้นำเอาเอกลักษณ์ตรงนั้นมาปรับใช้กับตัวเราด้วย และสิ่งสำคัญที่สุดเลยคือ การกำหนดช่วงลมหายใจในการพูด จะทำให้มันสามารถราบรื่นได้กว่าคนทั่วไป
ต้นแบบในด้านของการพูด ส่วนมากจะเป็นหลายๆแง่ของแต่ละคน ถ้าอย่างพี่โอปอล์ ปาณิสรา ก็จะเป็นในเรื่องของความมั่นใจ น้ำเสียง ถ้าเป็นอย่างพี่กันต์ กันตถาวร ก็จะเป็นในเรื่องความเข้มแข็งของเสียง ที่เป็นต้นแบบ หรือผู้ประกาศข่าวอย่างคุณสรยุทธ ก็จะเป็นที่ความารีแล็กซ์ของเขาที่เป็นเอกลักษณ์ก็พยายามนำมาปรับใช้กับตัวเรา
ความรู้สึก ความภาคภูมิใจ ในการที่มีโอกาสได้ประกวดสุนทรพจน์ถวายงานผ่านภาษา
ผมคิดว่ามันเหมือนกับว่าเป็นต้นทุนที่สำคัญและเป็นกำไรกับเราด้วย เพราะว่าเราแข่งครั้งแรกในชีวิตของระดับอุดมศึกษาแต่เราสามารถที่จะทะลุผ่านไปสู่ระดับภาคได้ ไปแข่งที่กรุงเทพฯคือที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็เหมือนกับตรงนั้นเป็นกำไรล้วนๆ ที่ไม่ได้ว่าใครจะหาได้ เพราะว่าการแข่งขันสูงมาก
ประสบการณ์ในวันนั้น จำได้ว่าตื่นเต้นมาก เพราะเราไม่รู้เลยว่าพอไปที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยระดับการแข่งจะเป็นอย่างไร ห้องเก็บตัวก็จะกดดันเพราะเราไม่สามารถจะติดต่อกับบุคคลภายนอกได้เลย และเรื่องของสมาธิ ทุกคนจะต้องนั่งท่องจดจ่อ บรรยากาศยิ่งทำให้เรากดดัน แต่มันก็คือทำให้เราสามารถที่จะควบคุมทุกอย่างบนเวทีได้ ก็คืออยู่ที่ตัวเราล้วนๆ และสติสำคัญที่สุด ผมได้รับประสบการณ์กลับมาเยอะมาก เราได้รู้จักกับบุคคลที่อยู่ในแวดวงสุนทรพจน์ แวดวงนิเทศศาสตร์ด้วย ก็ได้มิตรภาพที่ดีกลับมา
บทบาทในปัจจุบัน กับการเป็นพิธีกรมหาวิทยาลัย ประสบการณ์ต่างๆที่ได้รับ
เริ่มจากการที่เราเป็นพิธีกรของมหาวิทยาลัย พอเราได้ทำหน้าที่ตรงนี้ เราก็ได้รู้การทำงานของผู้คนในสังคมมากๆ เวลาเราออกงานหนึ่งงาน แน่นอนว่าประสบการณ์ที่ได้รับก็แตกต่างกันไป ปัญหาที่เราเจอก็แตกต่างกันไป สิ่งทีเราจะต้องปรับตัวให้ได้ก็เหมือนการประกวดสุนทรพจน์ก็คือสติสำคัญที่สุด การทำการบ้าน การเตรียมข้อมูล การพูดคุยกับบุคคลที่เขามาดูแลเรา ทุกสิ่งมันคือการสร้างความมั่นใจ สร้างแรงผลักดันในการที่เราจะทำงานแต่ละงานได้ มิตรภาพกับคนรอบข้าง
อยากบอกน้องๆว่าทุกคน มีของดีอยู่กับตัวหมดทุกคน อยู่ที่ว่าเราจะหยิบออกมาใช้ได้อย่างไร เราจะกล้าหยิบมันออกมาหรือเปล่า คนที่เก่งกว่าผมก็มี แต่ว่าเขาอาจยังไม่มีความกล้า คืออยากให้กล้าและลองทำไปเลย ก้าวแรกของทุกคนมันอาจจะไม่สมหวัง ผมเองก้าวแรกก็ไม่ได้สมหวังเหมือนกัน ยังพูดไม่ค่อยรู้เรื่อง รวมไปถึงตอนที่เราออกไปแข่ง หรือมีงานพิธีกรก็ยังลนตลอดเวลา แต่เราก็นำเอาข้อผิดพลาดตรงนั้นมาพัฒนาให้ตัวเราได้ อันดับแรกต้องมีความกล้า กล้าที่จะทำก่อน อย่ากลัวในการที่จะเจอปัญหา มันจะทำเราเป็นคนที่สมบูรณ์แบบได้
ขอขอบคุณภาพจาก : องค์การนิสิต มหาวิทยาลัยนเรศวร