คณะเภสัชฯ ม.นเรศวร คาดปี 2561 เตรียมเชิญญี่ปุ่น จีน ร่วมสัมมนาวิชาการมุ่งสู่ระดับนานาชาติ

รองศาสตราจารย์ ดร.ภญ.จารุภา วิโยชน์  ผู้รับผิดชอบโครงการฯ  และอาจารย์ประจำภาคเทคโนโลยี  เภสัชกรรม  คณะเภสัชศาสตร์  มหาวิทยาลัยนเรศวร  ได้กล่าวถึงโครงการสัมมนาทางวิชาการ Natural Products-From Basic to Translation II (NPBT II) 2017 : Herbal Extracts for Aging Prevention and Treatment ว่า การจัดโครงการฯ ดังกล่าวได้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 2 แล้ว  โดยในครั้งแรกจัดเมื่อปี 2559 ซึ่งถือว่าเป็นการต่อยอดความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยนเรศวรกับมหาวิทยาลัยจากประเทศฝรั่งเศส  รวมถึงเป็นการเปิดโอกาสให้กับผู้ที่สนใจทั้งในกลุ่มของนิสิตและบุคคลภายนอกได้ความรู้งานวิจัยไปต่อยอดใช้ประโยชน์ต่อไป

“เหตุผลที่จัดโครงการเนื่องจากเราได้ต่อยอดความร่วมมือกันระหว่างมหาวิทยาลัยนเรศวรกับมหาวิทยาลัยจากประเทศฝรั่งเศส  ซึ่งได้ทำความร่วมมือกันมาเป็นเวลาหลายปี  ประกอบกับเมื่อปี 2559  เราได้เขียนโครงการวิจัยร่วมกันโดยส่งไปที่สถานทูตฝรั่งเศสและ สกอ. ซึ่งก็ได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยในการที่จะแลกเปลี่ยน บุคลากรและเราก็ได้มีโอกาสไปทำงานที่ฝรั่งเศสด้วย  ในขณะเดียวกันเขาก็กลับมาประเทศไทยเพื่อที่จะถ่ายทอดเทคโนโลยี

สำหรับคณะเภสัชศาสตร์กับประเทศฝรั่งเศสที่มาร่วมงานดังกล่าว  ต้องบอกว่ามีการทำงานร่วมกันมาเป็นระยะเวลานานแล้ว  เช่น  อาจารย์เองก็มีโอกาสไปทำงานที่ห้องปฏิบัติการของประเทศฝรั่งเศส  แลกเปลี่ยนอาจารย์ที่คณะ  และก็มีอาจารย์คณะเภสัชศาสตร์ที่จบมาจากประเทศฝรั่งเศสเช่นกัน  จึงทำให้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลร่วมกันมาโดยตลอด  กล่าวคือ  มีความสัมพันธ์กันมานาน  ซึ่งไม่ใช่แค่การลงนามความร่วมมือแต่ยังมีการทำกิจกรรมต่างๆ  ร่วมกัน  ซึ่งเราก็เห็นว่าเป็นต้นแบบที่ดี

การจัดโครงการฯ ในครั้งนี้ นอกจากนิสิตคณะเภสัชศาสตร์จะได้รับประโยชน์แล้ว  ยังเปิดโอกาสให้กับนิสิตคณะอื่นๆ  บุคลากรภายนอกมหาวิทยาลัย  ภาคเอกชนที่มีความสนใจในเรื่องของผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ สามารถนำความรู้จากงานวิจัยนำไปใช้ประโยชน์ได้  ซึ่งในระหว่างการสัมมนาได้เปิดเวทีให้แสดงความคิดเห็นร่วมกันระหว่างนักวิจัยกับภาคเอกชน เพื่อให้ได้มาซึ่งโจทย์วิจัยและผลงานวิจัยที่เรามีอยู่ไปใช้ได้จริงในอนาคต” รองศาสตราจารย์ ดร.ภญ.จารุภา กล่าว

 

นอกจากนี้  รองศาสตราจารย์ ดร.ภญ.จารุภา ได้กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า  การจัดงานโครงการสัมมนาทางวิชาการ Natural Products-From Basic to Translation จะจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 3  ในปี 2561 อย่างแน่นอน

โดยจะทำให้เป็นในระดับนานาชาติมากยิ่งขึ้น และคาดว่าจะมีประเทศญี่ปุ่นและจีนมาร่วมการสัมมนาวิชาการในโครงการฯ ด้วย โดยตั้งเป้าหมายที่จะเป็นองค์ความรู้ถ่ายทอดให้นิสิตของเรา  อาจารย์ของเรา  รวมทั้งภาคเอกชน  ซี่งมหาวิทยาลัยนเรศวรพร้อมที่จะให้การสนับสนุนคนในชุมชนเป็นที่ตั้ง  ดังนั้น ในการจัดครั้งที่  3  จะมีการประชาสัมพันธ์ให้กับผู้ที่มีความสนใจเกี่ยวกับการพัฒนาเรื่องผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ  โดยนอกจากจะมีการสัมมนาแล้ว  จะมีการฝึกอบรม  การเปิดเวทีร่วมแสดงความคิดเห็น  การเรียนรู้ระหว่างนักวิจัย  ผู้ประกอบการทั้งในและต่างประเทศ

อย่างไรก็ตาม  คณะเภสัชศาสตร์  มหาวิทยาลัยนเรศวร  ยังคงผลักดันให้เกิดผลงานวิจัยแบบบูรณาการตามแนวนโยบายของรัฐบาล  ที่จะต้องมาจากความต้องการของประชาชนและภาคเอกชนเพื่อนำไปสู่การต่อยอดและการผลิตต่อไป

“มีอาจารย์หลายๆ  ท่านที่จะทำให้งานวิจัยมาขึ้นห้างด้วยการผลักดันตามนโยบายของรัฐบาลให้เป็นงานวิจัยในเชิงบูรณาการ  ทั้งนี้งานวิจัยต่างๆ  ก็จะต้องมาจากความต้องการของประชาชนและเอกชน  นำไปสู่การต่อยอด  สู่การผลิต  ซึ่งตอนนี้คิดว่าน่าจะเป็นผลิตภัณฑ์ได้ในอนาคต เช่น ว่านมหาเมฆ  แผ่นปิดแผลวัสดุปิดแผลจากธรรมชาติ  รวมถึงผลงานจากอาจารย์เพ็ญศรี  เจริญสิทธิ์  เป็นเรื่องเกี่ยวกับสีจากธรรมชาติ  เช่น  สีจากใบสัก  สีที่ใช้ในอุตสาหกรรมอาหารหรือเครื่องสำอาง เป็นต้น”

 

รองศาสตราจารย์ ดร.ภญ.จารุภา  กล่าวฝากทิ้งท้ายอีกว่า  ปัจจุบันมีข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง อาหารเสริมเผยแพร่ผ่านสื่อออนไลน์อยู่มากมายซึ่งอาจจะเป็นเรื่องยากในการค้นหาข้อมูลที่มีความน่าเชื่อถือ  ซึ่งในส่วนของคณะเภสัชศาสตร์  มหาวิทยาลัยนเรศวร มีหน่วยงานต่างๆ รวมถึงมีสถานวิจัยเพื่อความเป็นเลิศทางวิชาการ ด้านนวัตกรรมทางเคมี  มีความยินดีและพร้อมจะให้ข้อมูลตอบทุกข้อสงสัย เพื่อให้เกิดความมั่นใจ และมีความปลอดภัยในการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ต่างๆ

“เรื่องของความรู้ที่มีอยู่ตาม Social Media จะต้องมีการคัดกรอง  เช่น  โฆษณา  เครื่องสำอาง  อาหารเสริมต่างๆ  เป็นต้น  ซึ่งภาษาที่ใช้จะมีการชักจูงแต่ทั้งนี้ไม่ได้บอกว่าเป็นข้อมูลที่เชื่อไม่ได้  แต่ข้อมูลเหล่านั้นเราสามารถที่จะค้นหาความเป็นจริงได้  แต่บางทีก็ค่อนข้างลำบาก หากจะให้คนในชุมชนต่างๆไปค้นข้อมูลทางวิชาการ  ดังนั้น  สิ่งที่น่าจะเป็นที่พึ่งได้ก็คือมหาวิทยาลัยที่อยู่ในเขตชุมชนนั้น  เช่นในส่วนของคณะเภสัชศาสตร์  มหาวิทยาลัยนเรศวร สถานวิจัยเพื่อความเป็นเลิศทางวิชาการ ด้านนวัตกรรมทางเคมี  ที่สามารถตอบข้อสงสัยในเรื่องต่างๆ  ว่าข้อมูลที่ได้รับมานั้นมีความเป็นจริงหรือไม่อย่างไร  ที่ไม่ใช่แค่เรื่องเกี่ยวกับด้านเคมีเท่านั้น  ซึ่งที่สถานวิจัยฯ  นอกจากจะทำการผลิตแล้วยังมีการศึกษาในระดับชีวะโมเลกุลที่ดูในเรื่องของประสิทธิภาพและความปลอดภัยด้วย  เพื่อให้เกิดความมั่นใจในกรณีที่ผู้บริโภคจะนำไปใช้  รวมถึงการถ่ายทอดเทคโนโลยีไปให้กับภาคเอกชน  ทำให้เขามั่นใจว่าสิ่งที่เขาผลิตออกมามีความปลอดภัยแน่นอน หรือให้คำชี้แนะเพิ่มเติมว่าจะต้องไปสอบถามที่หน่วยงานใด  มีความยินดีที่จะตอบคำถามทุกข้อสงสัย” รองศาสตราจารย์ ดร.ภญ.จารุภา  กล่าวฝากทิ้งท้าย

 

 

ขอขอบคุณผู้ให้สัมภาษณ์ : รองศาสตราจารย์ ดร.ภญ.จารุภา วิโยชน์  ผู้รับผิดชอบโครงการฯ  และอาจารย์ประจำภาคเทคโนโลยีเภสัชกรรม  คณะเภสัชศาสตร์  มหาวิทยาลัยนเรศวร

ขอขอบคุณภาพประกอบเพิ่มเติม : งานประชาสัมพันธ์  คณะเภสัชศาสตร์  มหาวิทยาลัยนเรศวร

Loading

แชร์รายการนี้
fb-share-icon