เปิดความคิด นักพัฒนาแอพพลิเคชั่นดูแลผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ เตรียมพร้อมพัฒนาเป็นภาษาต่างประเทศ

         อาจารย์ปริญญา บุญชัย หนึ่งในทีมพัฒนาแอพพลิเคชั่น Thai Cleft Care ให้กับสถานรักษาแก้ไขภาวะปากแหว่งเพดานโหว่และความผิดปกติของศีรษะและใบหน้า มหาวิทยาลัยนเรศวร ซึ่งล่าสุดได้รับโล่ประกาศเกียรติคุณในฐานะเป็นผู้ที่ได้มีส่วนช่วยสนับสนุนกิจกรรมของสมาคมฯ จากนายกสมาคมความพิการปากแหว่ง เพดานโหว่ ใบหน้าและศีรษะ แห่งประเทศไทย จากงานประชุมวิชาการประจำปี 2560 สมาคมความพิการปากแหว่ง เพดานโหว่ ใบหน้าและศีรษะ แห่งประเทศไทยครั้งที่ 10 ที่ผ่านมา โดยได้เล่าให้ฟังถึงที่มาที่ได้มีโอกาสมาร่วมผลิตแอพพลิเคชั่น Thai Cleft Care ว่า ตนเองพอมีพื้นฐานเกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีดิจิตอล ซึ่งมีความคิดว่าจะทำอย่างไรให้เทคโนโลยีดิจิตอลที่มีอยู่นี้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชน จนได้รับความไว้วางใจจากภาคเอกชนและสถานรักษาแก้ไขภาวะปากแหว่งเพดานโหว่และความผิดปกติของศีรษะและใบหน้า มหาวิทยาลัยนเรศวร ในการผลิตแอพพลิเคชั่นดังกล่าวขึ้นมา


         “เรามีความรู้ในเรื่องของการใช้เทคโนโลยีดิจิตอลแล้วเรามีความรู้สึกว่าจะทำอย่างไรให้ตัวเทคโนโลยีนี้ได้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุด เราก็ได้โอกาสจากสถานรักษาแก้ไขภาวะปากแหว่งเพดานโหว่และความผิดปกติของศีรษะและใบหน้า มหาวิทยาลัยนเรศวรให้เกียรติในการนำเทคโนโลยีของเราไปใช้งาน นั่นก็คือการผลิตแอพพลิเคชั่นร่วมมือกับธนาคารไทยพาณิชย์ในการผลิตตัวแอพพลิเคชั่นตัวนี้ขึ้นมา” อาจารย์ปริญญา กล่าว

         สำหรับการพัฒนาแอพพลิเคชั่น Thai Cleft Care นี้ต้องอาศัยความรอบคอบเป็นสำคัญ เนื่องจากเป็นแอพพลิเคชั่นเกี่ยวกับข้อมูลทางด้านการแพทย์ จะต้องมีการตรวจสอบข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญ และต้องรักษาข้อมูลของผู้ป่วยด้วยระบบที่มีความปลอดภัย

         “การพัฒนาแอพพลิเคชั่นนี้ มีความซับซ้อนในการพัฒนามากกว่าแอพพลิเคชั่นตัวอื่นๆ กล่าวคือ แอพพลิเคชั่นอื่นๆ ความละเอียดอ่อนของเนื้อหามีไม่มากนัก แต่ด้วยความเป็นข้อมูลทางการแพทย์การที่เราจะรับข้อมูลเข้ามา การที่จะประมวลผลข้อมูลต่างๆ เนื้อหาต่างๆ จะต้องผ่านกระบวนการตรวจสอบจากผู้เชี่ยวชาญทางด้านการแพทย์ก่อน และข้อที่ยากอีกอย่างหนึ่งก็คือ ระบบรักษาความปลอดภัย เมื่อเป็นข้อมูลของผู้ป่วยต้องให้ความสำคัญในเรื่องนี้ สำหรับระยะเวลาในการพัฒนาแบบ DEMO ตัวแรกหลังจากที่ได้รับงบประมาณมาจากธนาคารไทยพาณิชย์ และร่วมมือกับทางสถานรักษาปากแหว่งเพดานโหว่ มหาวิทยาลัยนเรศวร ใช้เวลาในการพัฒนาประมาณ 2 เดือนด้วยกัน

         ทั้งนี้ ต้องขอขอบคุณคุณหมอศรัณย์ที่พยายามประสานข้อมูลต่างๆ ให้จนถึงขณะนี้แอพพลิเคชั่นได้ปล่อยให้มีการใช้ไปประมาณ 6 เดือนกว่าและมีการพัฒนาไป 2 เวอร์ชั่นแล้ว รวมถึงต่างประเทศก็มีการดาวน์โหลดไปใช้เช่นเดียวกัน ซึ่งหลังจากนี้จะมีการพัฒนาให้เป็น 2 ภาษาทั้งภาษาไทยและภาษาต่างประเทศต่อไป

         นอกจากนั้น ไม่เพียงแค่ทำแอพพลิเคชั่นสำหรับผู้ป่วยอย่างเดียว ตอนนี้เรากำลังพัฒนาแอพพลิเคชั่นสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ภายในสถานรักษาปากแหว่งเพดานโหว่ มหาวิทยาลัยนเรศวรของเรา ซึ่งตอนนี้คุณหมอและผู้ป่วยสามารถติดต่อกันได้แบบ Real Time ดังนั้น จึงทำให้ช่องทางโดยปกติผู้ป่วยต้องเดินทางมาจากจังหวัดเพชรบูรณ์ จากจังหวัดอุตรดิตถ์ที่ต้นทุนสูงและต้องใช้ระยะเวลาในการเดินทาง เหตุนี้จึงได้พัฒนาแอพพลิเคชั่นขึ้นมาและได้ข้อมูลแบบ Real Time โดยการนำข้อมูล Machine Learning ปัญญาประดิษฐ์มาประยุกต์ใช้ก็จะทำให้ต้นทุนต่ำลงและได้งานที่มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น

         รวมถึงจะทำอย่างไรให้ตัวแอพพลิเคชั่นกับตัวผู้ป่วยใช้งานอยู่ด้วยกันตลอดเวลา สามารถเก็บข้อมูลได้ตลอดเวลา เพราะว่าใน 1 เดือนจะมาพบแพทย์ที่สถานรักษาปากแหว่งเพดานโหว่ มหาวิทยาลัยนเรศวร เพียงแค่ 1 ครั้ง แล้วผลการรักษา เช่น เมื่อผ่าตัดไปแล้วเลือดออกบ่อยแค่ไหน ซึ่งเมื่อเวลาผ่านไปบางทีบางครั้งอาจจะลืมไปบ้าง แต่ว่าในแอพพลิเคชั่นเราออกแบบมาให้บันทึกข้อมูลแบบ Real Time ดังนั้น เมื่อมาพบคุณหมอหรือทำการตรวจสอบ คุณหมอก็จะทราบว่า ใน 1 เดือนมีความถี่เท่าใด มันก็เป็นประโยชน์และช่วยลดเวลา ขณะที่ในเรื่องของความแตกต่างระหว่างเวอร์ชั่นที่ 1 กับเวอร์ชั่นที่ 2 นั้น จะแตกต่างกันในเรื่องของฟังก์ชั่นเนื้อหาภายในแอพพลิเคชั่นที่จะต้องมีการปรับเนื้อหาให้มีความเป็นปัจจุบัน เช่น การรักษาที่เปลี่ยนแปลงไป เป็นต้น เพื่อให้ผู้ใช้งานได้รับประโยชน์สูงสุดและก็ได้รับข้อมูลที่ถูกต้องมากที่สุด” อาจารย์ปริญญา กล่าวถึงการพัฒนาแอพพลิเคชั่น

         สุดท้ายอาจารย์ปริญญา ได้ให้แนวคิดที่น่าสนใจอีกว่า การเป็นนักพัฒนาแอพพลิเคชั่นยุคใหม่ควรมองให้กว้าง ทำประโยชน์เพื่อส่วนรวม มีความยืดหยุ่นสู่การพัฒนา และไม่ยึดติดตีกรอบให้กับตัวเอง

         “อยากให้นักพัฒนาแอพพลิเคชั่น ให้มองถึงการทำประโยชน์เพื่อสังคม การทำประโยชน์เพื่อส่วนรวม ซึ่งการที่ทำอะไรขึ้นมาอย่างหนึ่งโดยที่ไม่นึกถึงเพียงแค่ตัวเราเอง ซึ่งนักพัฒนาแอพพลิเคชั่นบางส่วนอาจจะคิดว่าเพียงแค่การเขียนออกมาขายอย่างเดียว แต่ปัจจุบันนี้มีแอพพลิเคชั่นที่สามารถทำงานได้อีกหลายอย่าง อย่ายึดติดอยู่กับการทำแอพพลิเคชั่นในด้านใดด้านหนึ่งอยากให้ทำประโยชน์หลายๆ อย่างให้กับสังคมรวมถึงหมั่นศึกษาฝึกฝนตัวเองไว้เรื่อยๆ นักพัฒนาแอพพลิเคชั่นอย่างผมไม่ใช่คนเก่งที่สุด ผมไม่สามารถพัฒนาแอพพลิเคชั่นขึ้นมาได้อย่างสมบูรณ์ถ้าเกิดว่าไม่ได้รับข้อมูลที่ดีจากสถานรักษาปากแหว่งเพดานโหว่ มหาวิทยาลัยนเรศวร ดังนั้น นักพัฒนาแอพพลิเคชั่นที่ดีเราจะต้องมีการยืดหยุ่น แล้วทำตัวเป็นน้ำที่ไม่เต็มแก้ว พร้อมที่จะรับข้อมูลต่างๆมาพัฒนาเป็นแอพพลิเคชั่นของเรา ซึ่งวันนี้ผมเองอาจจะกำลังพัฒนาแอพพลิเคชั่นทางด้านการแพทย์ ต่อไปผมอาจจะพัฒนาแอพพลิเคชั่นทางการเกษตร ดังนั้น เราต้องไม่ยึดติดตีกรอบให้กับตัวเอง” อาจารย์ปริญญา กล่าวทิ้งท้าย

——————————————————-

ขอขอบคุณผู้ให้สัมภาษณ์ : อาจารย์ปริญญา บุญชัย
ขอขอบคุณภาพเพิ่มเติมจาก : เฟซบุ๊ก สถานรักษาปากแหว่งเพดานโหว่ มหาวิทยาลัยนเรศวร
NU Cleft & Craniofacial Center, เฟซบุ๊ก Pharinya Boonchai

Loading

แชร์รายการนี้
fb-share-icon