นักวิจัย ม.นเรศวร คิดค้น “สารกำจัดวัชพืชชีวภาพ (bioherbicide)”จากวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร โดยแบคทีเรีย

     ดร.ณิชากร คอนดี อาจารย์ประจำภาควิชาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร คิดค้น “สารกำจัดวัชพืชชีวภาพ (bioherbicide)” จากวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรโดยแบคทีเรีย ปลอดสารพิษ ลดการตกค้าง มุ่งสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนตามหลักสากล SDGs พร้อมต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์

     ทีมนักวิจัยได้ทำงานร่วมกับบริษัทที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมเกษตรมาตั้งแต่ปี 2561 เพื่อพัฒนาการนำวัสดุเหลือทิ้งทางเกษตรและผลพลอยได้จากการแปรรูปผลผลิตทางเกษตร เช่น กากสับปะรด กากถั่วเหลือง เปลือกทุเรียน กากมะพร้าว กากบีบน้ำมันมะพร้าว กากบีบน้ำมันรำข้าว เป็นต้น มาใช้เป็นแหล่งอาหารและพลังงานให้กับแบคทีเรียผลิตสารลดแรงตึงผิวชีวภาพ โดยมีเป้าหมายเพื่อให้เกิดการพัฒนาประเทศไทยอย่างยั่งยืนตาม SDGs รวมทั้งการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (net zero greenhouse gas emissions) โดยการลดปริมาณของเสียอันตรายและวัสดุเหลือทิ้งที่ถูกส่งไปเผากำจัดหรือฝังกลบ  พร้อมกับส่งเสริมการผลิตสารลดแรงตึงผิวชีวภาพมาใช้แทนที่สารเคมีที่อันตราย คือ “สารกำจัดวัชพืชชีวภาพ (bioherbicide)” ที่มีความปลอดภัยทั้งต่อทั้งผู้ใช้งานและผู้บริโภค และย่อยสลายได้ในสิ่งแวดล้อม ส่วนผสมหลักที่ใช้พัฒนาผลิตภัณฑ์สารกำจัดวัชพืชชีวภาพจะได้จากกระบวนการหมักวัสดุเหลือทิ้งทางเกษตรและผลพลอยได้จากการแปรรูปผลผลิตทางเกษตรร่วมกับแบคทีเรีย ซึ่งมีปลอดภัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยสามารถพัฒนาให้มีประสิทธิภาพในการกำจัดวัชพืชได้เทียบเท่าสารกำจัดวัชพืชเคมีในตลาด ผลิตภัณฑ์สารกำจัดวัชพืชชีวภาพจะอยู่ในรูปสารละลายของไมโครอิมัลชันที่มีสารสำคัญต่าง ๆ จะถูกห่อหุ้มให้คงอยู่ในสารละลายได้ในระดับนาโน  ผลิตภัณฑ์สารกำจัดวัชพืชชีวภาพที่พัฒนาได้ จะช่วยลดมุมสัมผัสเมื่อหยดบนใบวัชพืชจึงแผ่บนใบวัชพืชได้ทั่วถึง ลดการกระดอนออกจากใบพืชหลังพ่นได้ ทำให้เกาะติดกับใบวัชพืชได้ดี และซึมผ่านเข้าสู่เนื้อเยื่อใบวัชพืชได้อย่างรวดเร็ว ส่งผลให้สามารถออกฤทธิ์ในการกำจัดและลดการเจริญเติบโตของวัชพืชได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถทำงานภายใต้สภาวะที่วิกฤติของพีเอช อุณหภูมิ และความเค็มสูงได้  เนื่องจากแบคทีเรียมีความหลากหลายสายพันธุ์มากทำให้ได้สารลดแรงตึงผิวชีวภาพที่มีคุณสมบัติเด่นที่หลากหลาย การเพาะเลี้ยงแบคทีเรียเพื่อผลิตสารลดแรงตึงผิวชีวภาพยังใช้เวลาในการผลิตน้อยกว่าจุลินทรีย์ชนิดอื่นเพราะแบคทีเรียมีอัตราการเจริญสูง   และแบคทีเรียสามารถเจริญในอาหารที่หลากหลายสามารถใช้ของเสียจากการเกษตรกรรมเองและผลพลอยได้จากการแปรรูปผลผลิตทางเกษตรที่มีต้นทุนต่ำมาเป็นแหล่งสารตั้งต้นของการหมักเพื่อผลิตสารลดแรงตึงผิวชีวภาพจากแบคทีเรียได้ สารลดแรงตึงผิวในสารจับใบที่ขายในท้องตลาดส่วนใหญ่อาจสังเคราะห์จากปิโตรเลียมหรือสกัดด้วยวิธีทางเคมีจากพืช มีความเสี่ยงจากความเป็นพิษและการตกค้างได้ รวมทั้งถือว่าไม่เป็นทำการทำเกษตรอินทรีย์อย่างสมบูรณ์

     สารกำจัดวัชพืชชีวภาพ (bioherbicide)  พร้อมต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กองการถ่ายทอดเทคโนโลยีและบริหารจัดการทรัพย์สินทางปัญญา 0 5596 8727

Loading

แชร์รายการนี้
fb-share-icon