เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2566 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อุทัย วิชัย รองอธิการบดีฝ่ายยุทธศาสตร์ ผู้แทนมหาวิทยาลัยนเรศวร ร่วมลงนาม ในกิจกรรม “พิธีลงนามบันทึกแสดงเจตจำนงทางวิชาการ (Memorandum of Intent: MOI) ระหว่าง บพข. กับ 11 หน่วยงานเร่งรัดงานวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเชิงลึก (Deep Science and Technology Accelerators) เพื่อเร่งรัดนำงานวิจัยสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์” ได้แก่ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) มหาวิทยาลัยมหิดล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี มหาวิทยาลัยนเรศวร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ณ โรงแรมพูลแมนกรุงเทพ จี ถนนสีลม กรุงเทพฯ
พิธีลงนาม ฯ ในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อเร่งรัดนำงานวิจัยสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์” เพื่อต่อยอดความร่วมมือและนำสิ่งที่เป็นองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมของมหาวิทยาลัยไปสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อลดการทำงานที่ทับซ้อน ซึ่งจะมีการแบ่งปันและเชื่อมโยงทรัพยากร เช่น โครงสร้างพื้นฐาน และระบบนิเวศที่เอื้อต่อการสร้างผลิตภัณฑ์ หรือบริการ แหล่งฝึกอบรมบุคลากร ผู้เชี่ยวชาญรวมไปถึงผู้ประกอบการ ให้สามารถพัฒนาต่อยอดนวัตกรรม และเทคโนโลยีเชิงลึกจนได้ผลิตภัณฑ์หรือบริการที่มีมูลค่าสูง เสริมสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันของประเทศ โดยตลอด 3 ปีที่ผ่านมา บพข. ได้มีความร่วมมือกับ 9 มหาวิทยาลัย และ สวทช. จนเกิดเป็น 11 หน่วยงานเร่งรัดงานวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเชิงลึก หรือ 11 Accelerator Platforms
สำหรับหน่วย Accelerator ของ มหาวิทยาลัยนเรศวร คือ โครงการ Organic Tech Accelerator Platform (OTAP) : แพลตฟอร์มเร่งการเติบโตทางธุรกิจด้วยเทคโนโลยีดิจิตอล และนวัตกรรมสร้างสรรค์ให้เติบโตอย่างยั่งยืนในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.สุขกิจ ยะโสธรศรีกุล เป็นหัวหน้าโครงการ ซึ่งสามารถบ่มเพาะ 8 ธุรกิจสตาร์ทอัพ เน้นถ่ายทอดองค์ความรู้ในกระบวนการทดสอบการตลาด การออกแบบต้นแบบ อาทิ ดิจิทัลแคตตาล็อก สำหรับทดลองสวมใส่เครื่องประดับสามมิติ เครื่องฆ่าเชื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ ที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ หรือ gamified application สำหรับบริหารการเงินเพื่อ Gen Z โดยเฉพาะ โดยสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของมหาวิทยาลัยนเรศวร “มหาวิทยาลัยเพื่อสังคมของผู้ประกอบการ”