The NU SECRA Project ร่วมมือหลายองค์กรถ่ายทอดเทคโนโลยีแผนที่เสี่ยงภัย

      21 สิงหาคม 2566, พิษณุโลก – NU SECRA ร่วมมือหลากหลายองค์กรจัดโครงการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับองค์กรพัฒนาเอกชนและองค์กรส่วนท้องถิ่นในจังหวัดพิษณุโลกและพิจิตร ภายใต้ชื่อ “โครงการการจัดทำแผนที่เสี่ยงภัยน้ำท่วมและการกระจายมลพิษทางอากาศด้านฝุ่นควันเพื่อการบริหารจัดการชุมชน” ณ กองบริการเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยนเรศวร

      ผศ.ดร.กรกฎ นุสิทธิ์ ผู้อำนวยการสถานวิจัยความเป็นเลิศทางวิชาการด้านเทคโนโลยีพลังงานและสิ่งแวดล้อม กล่าวรายงาน โดยนำเสนอว่าโครงการการจัดทำแผนที่เสี่ยงภัยน้ำท่วมและการกระจายมลพิษทางอากาศด้านฝุ่นควันเพื่อการบริหารจัดการชุมชน มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ เสริมสร้างทักษะและความรู้ ด้านการประยุกต์ใช้โปรแกรมภูมิศาสตร์สารสนเทศ สำหรับแผนที่เสี่ยงภัยน้ำท่วมและภัยพิบัติอื่นให้กับบุคลากรจากหน่วยราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตลอดจนองค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานกับชุมชน ให้สามารถเตรียมความพร้อมในการรับมือกับภัยพิบัติโดยเชื่อมโยงกับภารกิจของตนได้

      รศ.ดร.ศรินทร์ทิพย์ แทนธานี รักษาราชการแทนอธิการบดี มหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวต้อนรับ และกล่าวถึงทิศทางที่จำเป็นของการทำงานในยุคปัจจุบันที่จะต้องขับเคลื่อนด้วยงานข้อมูลและเทคโนโลยี ซึ่งเป็นโอกาสที่ดีที่สถาบันวิชาการเช่นมหาวิทยาลัยนเรศวรได้เป็นกลไกสำคัญในการร่วมทำงานถ่ายทอดองค์ความรู้และทักษะเพื่อให้องค์กรที่ทำงานร่วมกับชุมชนได้นำไปใช้ให้เกิดประโยชน์กับการวางแผนและการคาดการณ์ต่างๆ ที่พร้อมรับต่อภัยบัติหรืออุบัติภัยต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นเพื่อจะทำให้ชุมชนปลอดภัยอย่างยั่งยืนได้ และเป็นที่น่ายินดีที่โครงการนี้เป็นโครงการที่นอกจากจะได้รับการสนับสุนจากอุทยานวิทยาศาสตร์แล้วยังเป็นโครงการความร่วมมือระหว่างเครือข่ายการทำงานของมหาวิทยาลัยนเรศวรทั้งในระดับนานาชาติตัวอย่างเช่น โครงการ Strengthening University-Enterprise Collaboration for Resilient Communities in Asia หรือโครงการ SECRA ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนโครงการระยะเวลา 3 ปี จากโปรแกรม Erasmus+ ของ European Union (EU) และในระดับชาติคือ เครือข่ายพัฒนาความเข้มแข็งต่อภัยพิบัติไทย หรือ TNDR (Thai Network for Disaster Resilience)

      ดร.พิจิตต รัตตกุล ประธานเครือข่ายพัฒนาความเข้มแข็งต่อภัยพิบัติไทย หรือ TNDR ได้กล่าวปฐมบทหัวข้อ “บทบาทการใช้เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศสำหรับพัฒนาความเข้มแข็งต่อภัยพิบัติไทย” โดยมีสาระสำคัญคือ ปัญหาสำหรับการรับมือภัยพิบัติพอสรุปได้ว่าเกิดจากการไม่ทราบหรือไม่รับรู้ว่าข้อมูลที่มีหรือเครื่องไม้เครืองมือที่มีนั้นสามารถนำมาใช้ได้อย่างไร ซึ่งทำให้ความสามารถในการมองภาพรวมว่าต้องจัดการด้านภัยพิบัติได้อย่างไรนั้นเป็นไปได้ยาก นอกจากนี้แล้วอีกส่วนหนึ่งคือข้อมูลจากทางหน่วยราชการ สถาบันการศึกษา ตลอดจนองค์กรต่างๆ ที่มีในประเทศยังไม่อัพเดทหรือยังไม่สามารถทำให้เกิดความทันสมัยต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ ทั้งๆ ที่ตัวภัยพิบัติเองมีพัฒนาการทั้งในเรื่องขอบเขตพื้นที่และความรุนแรงมากขึ้น ซึ่งถือว่าเป็นพื้นฐานของปัญหาในการจัดการภัยพิบัติของประเทศ ดังนั้น การจัดฝึกอบรมเพื่อให้ทำชุมชนสามารถที่จะใช้เทคโนโลยีและข้อมูลเพื่อการวางแผนให้ครอบคลุมและสามารถเตรียมความพร้อมได้จะทำให้เกิดผลดีกับชุมชน โดยข้อมูลที่จะนำสู่ชุมชนต้องคำนึงถึงว่าต้องไม่เป็นข้อมูลเชิงวิชาการเกินไป เพราะจะทำให้ชุมชนจะสับสนและเลิกสนใจ ทางภาควิชาการจำเป็นต้องตระหนักในประเด็นนี้โดยทำเรื่องยากให้เป็นเรื่องเข้าใจได้ง่าย นอกจากนี้แล้ว ต้องผลักดันชุมชนมีศักยภาพในการรับมือผ่านการถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยี และสร้างเสริมให้ชุมชนเป็นหลักในการที่จะเรียกร้องการแก้ไขปัญหาที่เขาต้องการและจำเป็นเองได้ เช่น ข้อมูลทาง GIS ใช้สำหรับการพยากรณ์ ซึ่งเป็นการทำข้อมูลที่เกิดขึ้นจากความต้องการและเรียกร้องโดยชุมชนเอง จะทำให้ชุมชนอยากใช้ข้อมูลนี้เพื่อการจัดการชุมชนของตนเอง ไม่ใช่จากผู้อื่น ตลอดจนสร้างประสิทธิภาพเพื่อให้รับรู้และเข้าใจข้อมูล และในด้าน protocol จำเป็นต้องสร้างความตระหนักและมีแบบแผนที่ชัดเจนในการทำงาน เพื่อให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทราบว่าต้องมีว่าใคร ทำอะไร ตัดสินใจอย่างไรบ้างในภาวะที่ต้องรับมือภัยพิบัติ โดยทั้งมหาวิทยาลัยเรศวรและทางเครือข่ายพัฒนาความเข้มแข็งต่อภัยพิบัติไทยจะได้ร่วมมือกันในการทำงานเพื่อสนับสนุนงานดังกล่าวนี้ให้เกิดขึ้นต่อไป

      สำหรับโครงการการจัดทำแผนที่เสี่ยงภัยน้ำท่วมและการกระจายมลพิษทางอากาศด้านฝุ่นควันเพื่อการบริหารจัดการชุมชนนี้ ผู้เข้าร่วมมีจำนวน 20 คนโดยประมาณ โดยมาจากองค์กรบริหารส่วนท้องถิ่น และองค์กรพัฒนาเอกชน ในเขตพื้นที่จังหวัดพิษณุโลกและจังหวัดพิจิตร ตลอดจนคณาจารย์ นิสิต และผู้ที่สนใจ กำหนดระยะเวลาจัดโครงการคือ 1 วัน โดยเกิดขึ้นจากความร่วมมือของหน่วยงานและองค์กรหลายฝ่าย ได้แก่ อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ, สถานวิจัยความเป็นเลิศทางวิชาการด้านเทคโนโลยีพลังงานและสิ่งแวดล้อม, สถานภูมิภาคเทคโนโลยีอวกาศ และภูมิสารสนเทศ ภาคเหนือตอนล่าง (GIS NU), คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร, โครงการ SECRA และ โครงการ FOUNTAIN ภายใต้การสนับสนุนของโปรแกรม ERASMUS+ จาก EU) และเครือข่ายพัฒนาความเข้มแข็งต่อภัยพิบัติไทย (TNDR)

Loading

แชร์รายการนี้
fb-share-icon