ม.นเรศวร ผนึกกำลังมหาวิทยาลัยเครือข่าย ALA เพื่อการพัฒนาโลจิสติกส์อาเซียน

       เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2566 ดร.พิสุทธิ์ อภิชยกุล รองอธิการบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์และการถ่ายทอดเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยนเรศวร ให้การต้อนรับมหาวิทยาลัยเครือข่ายทางวิชาการด้านโลจิสติกส์และซัพพลายเชน ในโอกาสที่เดินทางมาร่วม พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ ASEAN Logistics Academic Network (ALA) ซึ่งการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการในครั้งนี้ จะเป็นการต่อยอดจากความสำเร็จที่ผ่านมา โดยเป็นความร่วมมือกันของมหาวิทยาลัยเครือข่ายทั้ง 7 แห่ง อย่างเป็นทางการ ประกอบด้วย 1) มหาวิทยาลัยนเรศวร 2) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  3) มหาวิทยาลัยพะเยา  4) มหาวิทยาลัยรามคำแหง 5) มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม 6) มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร และ 7) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา พิษณุโลก โดยมีเจตนารมณ์ร่วมกันในการประสานความร่วมมือทางวิชาการด้านโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน ภายใต้ชื่อ “ASEAN Logistics Academic Network” หรือ ALA   ซึ่งมีวัตถุประสงค์ เพื่อประสานความร่วมมือทางวิชาการด้านโลจิสติกส์และโซ่อุปทานในการดำเนินงานวิจัย และ งานบริการวิชาการ ตลอดจนร่วมกันพัฒนาองค์ความรู้ นวัตกรรม เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ สู่การเป็นศูนย์กลางทางวิชาการด้านโลจิสติกส์และโซ่อุปทานในระดับภูมิภาคอาเซียนต่อไป ณ ห้อง 301 อาคารเอกาทศรถ คณะโลจิสติกส์และดิจิทัลซัพพลายเชน มหาวิทยาลัยนเรศวร

       ดร.เจษฎา โพธิ์จันทร์ ตัวแทนเครือข่าย ASEAN Logistics Academic Network เปิดเผยว่าการพัฒนาด้านโลจิสติกส์และโซ่อุปทานถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์การพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย โดยเกิดขึ้นภายใต้สถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุนที่สำคัญหลายประการ ซึ่งมีปัจจัยมาจากทั้งภายในและภายนอกประเทศ อาทิ การแข่งขันทางการค้าที่สูงขึ้น แนวโน้มการค้าโลก การเคลื่อนไหวเชิงยุทธศาสตร์ของประเทศต่างๆ ในภูมิภาค สถานการณ์ราคาน้ำมันโลก และการขยายตัวของโซ่อุปทานระหว่างประเทศที่กว้างไกลขึ้น และที่สำคัญ คือ การรวมกลุ่มกันของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community: AEC) ซึ่งจะมีผลต่อระบบโลจิสติกส์และโซ่อุปทานต่างๆ ที่จะเปลี่ยนแปลงไปทั้งในระดับประเทศและระดับภูมิภาค

       ด้วยเหตุนี้ ในปี พ.ศ.2561 จึงได้เกิดการรวมกลุ่มของนักวิชาการและนักวิจัยอย่างไม่เป็นทางการ ซึ่งมาจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ในเขตภาคเหนือ ภายใต้ชื่อ “กลุ่มเครือข่ายวิชาการโลจิสติกส์ภาคเหนือ (Northern Logistics Academic Network)” หรือ NL เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนงานวิจัยและงานบริการวิชาการด้านโลจิสติกส์ร่วมกัน ตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา เครือข่ายวิชาการนี้สามารถผลิตผลงานวิจัยและบริการวิชาการร่วมกันได้ไม่น้อยกว่า 30 เรื่อง ซึ่งมีผลงานที่โดดเด่น อาทิเช่น 1) การศึกษาแผนยุทธศาสตร์รองรับโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง ลาว-จีน (ช่วงบ่อเต็น-เวียงจันทน์) 2) การยกระดับระเบียงเศรษฐกิจหลวงพระบาง อินโดจีน เมาะลำไย (LIMEC) ให้สอดคล้องกับกรอบความร่วมมืออนุภูมิภาคทางเศรษฐกิจอิรวดี เจ้าพระยา แม่โขง (ACMECS) 3) การศึกษาระบบโลจิสติกส์รองรับการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบที่เชื่อมโยงประเทศไทยกับกลุ่มประเทศภาคี ภายใต้ยุทธศาสตร์ “เส้นทางสายไหมในศตวรรษที่ 21” และ 4) การพัฒนาศูนย์กระจายสินค้าประมงเชื่อมโยงภาคเหนือตอนล่างกับประเทศเพื่อนบ้าน เป็นต้น

       ด้าน ดร.บุญทรัพย์ พานิชการ อาจารย์ประจำคณะโลจิสติกส์และดิจิทัลซัพพลายเชน มหาวิทยาลัยนเรศวร เปิดเผยผลงานวิจัย “การศึกษาเพื่อจัดทำแผนยุทธศาสตร์รองรับโครงการก่อสร้างรถไฟ ลาว-จีน (ช่วงบ่อเต็น-เวียงจันทน์)” ซึ่งเป็นผลงานที่ศึกษาร่วมกับมหาวิทยาลัยเครือข่าย ASEAN Logistics Academic Network (ALA) ซึ่งการศึกษาวิจัยครั้งนี้ สืบเนื่องจากรัฐบาลจีนมีแนวคิดจัดทำโคร่งข่ายทางรางเพื่อให้เกิดเส้นทางโลจิสติกส์ในภูมิภาค คือขยายเส้นทางรถไฟบริเวณชายแดน จีน-ลาว ที่บ่อเต็น มายังนครหลวงเวียงจันทน์ ทำให้ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจและระบบโลจิสติกส์ เนื่องจากประเทศไทยขนส่งเชื่อมต่อไปยังภูมิภาคอาศัยถนนเป็นหลัก จึงส่งผลกระทบอย่างยิ่งต่อชายแดนทางภาคเหนือหรือชายแดนที่ไม่ติดกับภาคตะวันออกเฉียงเหนือ(ภาคอีสาน)ของประเทศไทย เพราะภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีสถานีรถไฟของนครหลวงเวียงจันทร์ที่ติดกับจังหวัดหนองคาย อีกทั้งได้รับการร้องขอจากสถานเอกอัครราชทูตไทยประจำนครหลวงเวียงจันทน์ให้ศึกษาวิจัยร่วมกับการรถไฟแห่งประเทศไทยที่อยากให้เห็นผลกระทบของโครงการนี้ต่อผู้ประกอบการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ประกอบการโลจิสติกส์ในประเทศไทย คือการเปลี่ยนแปลงระบบโลจิสติกส์ในประเทศ ซึ่งผลจากการศึกษาวิจัยจึงได้แผนยุทธศาสตร์รองรับผลกระทบดังกล่าว 5 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ ยุทธศาสตร์ที่ 1 ยกระดับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและรูปแบบกิจกรรมโลจิสติกส์ ยุทธศาสตร์ที่ 2 การพัฒนาและเชื่อมโยงเศรษฐกิจการค้าชายแดนสร้างความเข้มแข็งทางด้านเศรษฐกิจรวมทั้งพัฒนาศักยภาพของมนุษย์ ยุทธศาสตร์ที่ 3 ส่งเสริมและเพิ่มศักยภาพการท่องเที่ยวเชิงอัตลักษณ์วัฒนธรรมของพื้นที่รวมทั้งยกระดับธุรกิจบริการให้มีคุณภาพอย่างต่อเนื่อง ยุทธศาสตร์ที่ 4 การเสริมสร้างศักยภาพความมั่นคงเพื่อป้องกันและเตรียมความพร้อมในการรับมือจากภัยคุกคามในรูปแบบต่างๆ ยุทธศาสตร์ที่ 5 พัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่และบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างเหมาะสมและยั่งยืน

       “ปัจจุบันผลการวิจัยครั้งนี้ได้รับการต่อยอด โดยสถานเอกอัครราชทูตไทยประจำนครหลวงเวียงจันทน์ และการรถไฟแห่งประเทศไทย ได้นำไปกำหนดเป็นยุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อนต่อไป” ดร.บุญทรัพย์ พานิชการ  กล่าวทิ้งท้าย

       จากการร่วมมือกับมหาวิทยาลัยในเครือข่าย ASEAN Logistics Academic Network (ALA) ในครั้งนี้ ก่อให้เกิด “เครือข่ายวิชาการเพื่อการพัฒนาโลจิสติกส์อาเซียน” ตอกย้ำวิสัยทัศน์ “มหาวิทยาลัยเพื่อสังคมของผู้ประกอบการ” ของมหาวิทยาลัยนเรศวร สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม คณะโลจิสติกส์และดิจิทัลซัพพลายเชน มหาวิทยาลัยนเรศวร โทร 055 968 747

 


 

 

 

 

Loading

แชร์รายการนี้
fb-share-icon