ตอกย้ำวิสัยทัศน์ “มหาวิทยาลัยเพื่อสังคมของผู้ประกอบการด้วยนวัตกรรม“โฟมล้างมือจากสารสกัดเปลือกแมคคาเดเมีย”

       เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2565 มหาวิทยาลัยนเรศวร จัดแถลงข่าวเปิดตัวผลงานวิจัย “ผลิตภัณฑ์โฟมล้างมือจากสารสกัดเปลือกแมคคาเดเมีย” โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ภญ.ณัฐกานต์วดี คำภิระแปง อาจารย์ประจำภาควิชาเภสัชเคมีและเภสัชเวท คณะเภสัชศาสตร์ และคณะวิจัย ณ ศูนย์ข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

       “ผลิตภัณฑ์โฟมล้างมือจากสารสกัดเปลือกแมคคาเดเมีย” มีประสิทธิภาพในการป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส และจุลชีพอื่นๆ นอกจากนั้นยังมีประสิทธิภาพในการถนอมผิวพรรณจากฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระของสารสกัดจากเปลือกแมคคาเดเมีย พร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยี สู่ชุมชนและเกษตรกร สร้างรายได้และมูลค่าเพิ่มจากเปลือกแมคคาเดเมียเหลือทิ้ง ยังส่งเสริมการเพิ่มมูลค่ากลับคืนสู่วิสาหกิจและชุมชน นวัตกรรมดังกล่าวได้รับทุนอุดหนุนการทำกิจกรรมส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัย “โครงการการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อชุมชนสังคม (Research and Innovation Utilization for Community) จาก สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ประจำปีงบประมาณ 2563

       ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ภญ.ณัฐกานต์วดี คำภิระแปง เปิดเผยว่า ตนเองและคณะวิจัยได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ โฟมล้างมือที่มีสารสำคัญจากสารสกัดจากเปลือกของแมคคาเดเมียเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับเปลือกแมคคาเดเมีย อันเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับส่วนเหลือทิ้งทางการเกษตร และนำไปถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตผลิตภัณฑ์โฟมล้างมือสู่ชุมชนต่างๆ เพื่อให้เกษตรกรสามารถผลิตเพื่อใช้ในครัวเรือน หรือรวมกลุ่มกันจัดตั้งวิสาหกิจชุมชนต่อยอดการผลิตและการจำหน่าย เพื่อตอบสนองนโยบาย BCG Model ของรัฐบาล ซึ่งเป็นกลไกที่มีศักยภาพสูงในการยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในประเทศอย่างทั่วถึง สามารถกระจายโอกาสและลดความเหลื่อมล้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ

       ผลิตภัณฑ์โฟมล้างมือจากสารสกัดเปลือกแมคคาเดเมียที่พัฒนาขึ้น สามารถป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส และจุลชีพอื่น ๆ ลดการแพร่ระบาดของเชื้อโคโรน่าไวรัส (COVID-19) ทั้งมีประสิทธิภาพในการถนอมผิวพรรณจากฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระของสารสกัดจากเปลือกแมคคาเดเมียอีกด้วย

       Macadamia integrifolia เป็นพืชในวงศ์ Proteaceae ประเทศไทยรู้จักในชื่อ “แมคคาเดเมีย” มีถิ่นกำเนิดอยู่ทวีปออสเตรเลีย แมคคาเดเมียเป็นพืชที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจเนื่องจากมีราคาสูง แต่อย่างไรก็ตามส่วนของเปลือกเป็นอีกส่วนหนึ่งที่เหลือทิ้งจากการผลิตแมคคาเดเมีย ซึ่งเป็นส่วนที่น่าสนใจในการนำมาเพิ่มมูลค่าเนื่องจากมีการศึกษาที่ชี้ให้เห็นว่าเปลือกของแมคคาเดเมีย มีองค์ประกอบทางเคมีเป็นสารทุติยภูมิหลากหลายชนิดเช่น สารประกอบฟีนอลิก, ซาโปนิน, สเตอรอล, ฟลาโวนอยด์และ แทนนิน ซึ่งมีฤทธิ์ทางชีวภาพที่หลากหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งฤทธิ์ต้านการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรีย และฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระของสารทุติยภูมิ

       ผลิตภัณฑ์โฟมล้างมือจากสารสกัดเปลือกแมคคาเดเมีย พร้อมถ่ายทอดองค์ความรู้สู่ชุมชน ตอกย้ำวิสัยทัศน์ของมหาวิทยาลัยนเรศวร “มหาวิทยาลัยเพื่อสังคมของผู้ประกอบการ” สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ผศ.ดร.ภญ.ณัฐกานต์วดี คำภิระแปง คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร โทร. 0 5596 1862 E-mail : nattakanwadeek@nu.ac.th

Loading

แชร์รายการนี้
fb-share-icon