นักวิจัย มน. พัฒนาเครื่องมือต้นทุนต่ำ ประเมินการอุดตันโพรงจมูก ช่วยใช้ยาอย่างสมเหตุสมผล

หลังจากในช่วงที่ผ่านมา ทีมข่าวได้นำเสนอผลงานการพัฒนาเครื่องมือฝึกสมรรถภาพการหายใจสำหรับผู้ป่วยหลังผ่าตัดหัวใจและทรวงอก โดย ดร.ภก ประยุทธ ภูวรัตนาวิวิธ ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายบัณฑิตศึกษาและหลักสูตรพิเศษ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ไปแล้วนั้น

ในครั้งนี้ มีผลงานจากอาจารย์ท่านเดียวกัน ได้พัฒนาต่อยอดเครื่องมือดังกล่าวมาเป็น “เครื่องมือต้นทุนต่ำ สำหรับประเมินการอุดตันของโพรงจมูก” และน่าจะเป็นเครื่องมือที่จะช่วยทำให้เกิดความมั่นใจในการเลือกใช้ยา หรือใช้ในการสื่อสารกับผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพ เกิดประโยชน์กับสังคมในวงกว้าง ทำให้เกิดการใช้ยาอย่างสมเหตุสมผล และรัฐก็จะใช้ยาอย่างมีประสิทธิภาพ ในด้านเศรษฐกิจ ไม่จำเป็นที่จะต้องใช้ยาแพงเกินไป หรือใช้ยาโดยที่ไม่จำเป็น มาติดตามรายละเอียดกันเลย

ข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับ “โพรงจมูกอุดตัน” คืออะไร

“โพรงจมูกอุดตัน ไม่ใช่โรค เป็นอาการแสดงของโรคต่าง ๆ ยกตัวอย่างผู้ป่วยที่มีภาวะโรคโพรงจมูกอักเสบ ภูมิแพ้ เขาก็จะมีน้ำมูกหรือสารคัดหลั่งที่อยู่ในโพรงจมูกเป็นจำนวนมาก อาการที่แสดงออกมาก็คือจมูกอุดตัน หรือผู้ป่วยที่มีภาวะไข้หวัด หรือโพรงจมูกไซนัสอักเสบ อาการแสดงก็คือโพรงจมูกอุดตัน หรือการไม่ได้กลิ่น หรือการหายใจยากลำบากมากขึ้น”

กลุ่มคนที่น่าเป็นห่วงอยู่ในกลุ่มใดบ้าง

“จริง ๆ เราห่วงทุกกลุ่ม ทั้งในกลุ่มของเด็กไปจนถึงผู้สูงอายุเลย แต่ถ้าถามว่าให้เลือกห่วงใครมากที่สุด ผมก็จะต้องห่วง ผู้ที่จำเป็นจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงการรักษาให้เหมาะสมในทุกช่วงวัย เพราะว่าการรักษาโพรงจมูกอุดตันมีการรักษาหลายแบบ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการปรับพฤติกรรม การใช้ยา หรือว่าการผ่าตัด

ทีนี้มีอยู่ประเด็นหนึ่งของการใช้ยา ว่าเมื่อไหร่ที่เราจะเปลี่ยนจากยากินที่เป็นยาต้านฮีสตามีนหรือที่เราเรียกว่ายาแก้แพ้ มาเป็นยา Intranasal Steroids (ยาสเตียรอยด์พ่นจมูก) ตรงนี้ยังมีช่องว่างอยู่ โดยแนวทางการรักษาในอดีตจนถึงปัจจุบัน ทบทวนอยู่ในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา ยังไม่มีอะไรชัดเจน บอกเพียงแค่ว่า ผู้ป่วยรู้สึกมีอาการที่เกิดขึ้นรบกวนคุณภาพชีวิต สามารถที่จะเปลี่ยนจากยาเม็ดแอนตี้ฮีสตามีนมาเป็นยาสเตียรอยด์แบบพ่นจมูกได้

ดังนั้น คำพูดที่ว่ารบกวนคุณภาพชีวิตค่อนข้างมีความเป็นนามธรรมมากเกินไป ทำให้เกิดการตีความทั้งของผู้ป่วยเอง ทั้งของแพทย์ แล้วอย่างที่ทราบระบบสาธารณสุขของประเทศไทย ร้านยาสามารถที่จะเข้าถึงยาต่าง ๆ ได้เป็นจำนวนมาก ซึ่งสเตียรอยด์พ่นจมูกก็เป็นหนึ่งในยาที่ผู้ป่วยสามารถไปซื้อหาได้เองที่ร้านยาโดยที่ไม่จำเป็นจะต้องมียาสั่งแพทย์ได้ จึงอยากจะมีอุปกรณ์อะไรสักอย่างหนึ่งมาเพื่อทำให้การประเมินในช่องว่างตรงนี้มีความเป็นรูปธรรมมากขึ้น

ที่มาของการพัฒนาเครื่องมือ เป็นอย่างไรบ้าง

“ในการพัฒนาเครื่องมือนี้ต้องเรียกว่า ไม่ได้เป็นการพัฒนาจริง ๆ อย่างเต็มรูปแบบ เพียงแต่มองว่าเครื่องมือที่มีอยู่เราจะปล่อยให้ตายไป หรือว่าจะปล่อยให้มีโอกาสใหม่ ๆ ที่จะพัฒนาต่อไปได้หรือไม่ เราก็กลับมามองเครื่องมือฝึกสมรรถภาพการหายใจที่มีอยู่ ว่าสามารถใช้วัดปริมาตรและความดันจากการหายใจทางปากได้ และแน่นอนทางจมูกก็ต้องใช้ได้เหมือนกัน ดังนั้น ก็คือไม่ได้พัฒนาอะไรใหม่แต่เพียงแค่ปรับปรุงจากเดิมที่ให้ผู้ป่วยหายใจทางปากเปลี่ยนมาหายใจทางจมูกเท่านั้นเอง เพราะการหายใจทางจมูกก็จะทำให้สามารถเห็นผู้ป่วยแต่ละรายนั้นมีความสามารถในการหายใจได้ปริมาตรเท่าใดทางจมูก และมีแรงดันที่เกิดขึ้นเป็นอย่างไร ซึ่งตัวปริมาตรและแรงดันตัวนี้ เป็นตัวที่บอกระดับความรุนแรงของโพรงจมูกที่เกิดขึ้นได้

ดังนั้น เมื่อเภสัชกรหรือแพทย์ใช้พิจารณาร่วมกับอาการแสดงของผู้ป่วย หรือกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย ก็น่าจะช่วยทำให้เกิดความมั่นใจในการเลือกใช้ยาหรือว่าใช้ในการที่จะสื่อสารกับผู้ป่วยได้อย่าง
มีประสิทธิภาพหรือว่าเข้าใจกันมากขึ้น สุดท้ายแล้วก็จะเกิดประโยชน์กับสังคมในวงกว้าง คือ จะทำให้เกิดการใช้ยาอย่างสมเหตุสมผล และรัฐก็จะใช้ยาพวกนี้อย่างมีประสิทธิภาพในด้านเศรษฐกิจ ไม่จำเป็นที่จะต้องใช้ยาแพงเกินไปหรือว่าใช้ยาโดยที่ไม่จำเป็น”

เครื่องมือที่พัฒนาขึ้น มีความแม่นยำมากน้อยเพียงใด

“ในเรื่องของความแม่นยำ แน่นอนว่าเราจะต้องมีการทดสอบเราก็ใช้การทดสอบคล้าย ๆ กับการทดสอบเครื่องมือสมรรถภาพการหายใจโดยการต่อท่อเข้ากับดิจิตอลเกทมาโนมิเตอร์ ที่มีมาตรฐานได้รับการ
คาริเบทความถูกต้องมาแล้ว และได้ทำการทดสอบการหายใจทางจมูกเข้าออกเป็นจำนวนครั้งที่ที่เราคำนวณแล้วว่ามันจะทำให้เกิดความน่าเชื่อถือในการศึกษามากที่สุด เราก็พบว่าในทุก ๆ ครั้งที่หายใจ หากไม่มีรูรั่วของอุปกรณ์ หรืออุปกรณ์เสียหาย อยู่ในสภาพสมบูรณ์ ความดันหรือว่าปริมาตรที่วัดได้จากตรงนี้มีค่าที่ถูกต้องตรงกับดิจิตอลเกทมาโนมิเตอร์ทุกครั้งโดยไม่มีความแตกต่างกันเลย”

ปกติแล้วในทางการแพทย์ แต่เดิมมีอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องในการทดสอบการหายใจหรือไม่ อย่างไร

“ในอุปกรณ์ที่มีอยู่ในทางการแพทย์มีอยู่เดิม แต่ว่าเป็นอุปกรณ์ที่อาจจะต้องใช้เทคโนโลยีที่สูงมากขึ้น หรือว่าอุปกรณ์บางอย่างอาจจะไม่เหมาะสมกับผู้ป่วยบางโรค ยกตัวอย่างเช่น อุปกรณ์ไรโนมาโนมิเตอร์อุปกรณ์นี้ก็สามารถใช้วัดฟังก์ชั่นการหายใจได้ สามารถแสดงเป็นกราฟ เป็นรูปร่างของการหายใจได้แต่ว่าเครื่องมือค่อนข้างมีราคาสูงหลายแสนบาท แม้กระทั่งโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยของเราก็ยังไม่มีเครื่องมือที่ว่านี้เลย ดังนั้น แน่นอนว่าในชุมชน ในร้านยา หรือว่าผู้ป่วยโดยทั่วไปที่มีปัญหาก็คงเข้าถึงได้ยาก

ส่วนการตรวจร่างกาย ถามว่ามีไหม มีเหมือนกัน เขาจะใช้เหมือนลักษณะของไม้กดคอที่มีลักษณะที่เป็นเหล็กอังบริเวณจมูก แล้วเขาก็จะดูว่าจมูกทั้งสองข้างเขาจะมาร์คจุดแล้วจะดูว่ามีไอน้ำออกมาหรือไม่ ถ้ามีไอน้ำออกมาแปลว่าจมูกข้างนั้นสามารถที่จะหายใจได้ แต่ถ้าไม่มีไอน้ำออกมาแสดงว่ามีอาการแสดงให้เห็นถึงว่ามีความอุดตันของโพรงจมูกเกิดขึ้น แล้วก็ใช้การซักประวัติ ซักถามอาการ แต่อย่างที่ผมบอก การซักประวัติหรือการถามอาการเป็นอะไรที่เป็นนามธรรม และเป็นความรู้สึกเสียเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้น เราจึงอยากได้อะไรที่ที่จับต้องได้ และใช้ได้อย่างเป็นวิทยาศาสตร์ทางการแพทย์มากที่สุด

เราพยายามให้มีการใช้ยาให้สมเหตุผลมากที่สุด เราหวังใจไปที่ผู้ป่วยและวิชาชีพให้เกิดการพัฒนา ผู้ป่วยปลอดภัย หายใจได้ วิชาชีพก้าวหน้าต่อไปได้ สุดท้ายสังคมประเทศชาติก็จะมีความเจริญก้าวหน้าต่อไปเราก็หวังใจไว้เท่านี้”

เครื่องมือที่พัฒนาขึ้นนี้ ได้นำมาทดสอบในผู้ป่วยจริง บ้างหรือไม่ อย่างไร

“ในตอนนี้ เรายังไม่ได้มีการทดสอบในผู้ป่วย แต่ว่ามีการนำไปใช้ในงานวิจัย ล่าสุดในงานวิจัยเป็นการวิจัยพัฒนาวิธีการพ่นยา การพ่นยาทางจมูกรูปแบบใหม่ เพื่อทำให้ยาเข้าไปถึงในตำแหน่งลึกของโพรงจมูกได้มากขึ้น ต้องเล่าว่าเป็นงานวิจัยที่ที่เป็นความรู้สึกส่วนตัวเพราะคุณพ่อของผมท่านป่วยเป็นโรคริดสีดวงจมูก รักษาอย่างไรก็ยังไม่หาย สุดท้ายมาเจอว่าพ่อไม่มีแรงในการที่จะสูดลมหายใจเข้าทางจมูกได้มากพอจนไปถึงตำแหน่งที่เป็นรอยโรค พอดีว่ารอยโรคของพ่ออยู่ลึกมาก ผมก็ไปปรึกษากับหมอ หูคอจมูก ที่เป็นผู้รักษาคุณพ่อ ว่าเราจะทำยังไงกันดีในเมื่อไม่มีวิธีอื่น เราก็คงจะต้องทำกันเอง เราก็มาคิดเป็นวิธี

ส่วนเครื่องมือนี้เป็นตัวที่เข้าไปช่วยการวัดว่าวิธีใหม่ของเรามีประสิทธิภาพเป็นอย่างไร เป็นเครื่องมือที่ช่วยในการที่ทำให้การศึกษานี้ออกมาชัดเจนเป็นรูปธรรมมากขึ้น และการศึกษานี้ก็ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารทางการแพทย์แล้ว และก็ในโอกาสหน้าก็คงจะต้องอยากจะประชาสัมพันธ์สู่ประชาชนในวงกว้าง หรือว่าทำจดหมายเพื่อประชาสัมพันธ์วิธีนี้ไปสู่โรงพยาบาลต่าง ๆ หรือว่าหน่วยงานทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้องให้รับทราบ อาจจะนำไปทดลองใช้ ตอนนี้คุณพ่อผมก็รับกลิ่นได้แล้ว”

อุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องในเครื่องมือที่พัฒนาขึ้น มีอะไรบ้าง

“อุปกรณ์ง่าย ๆ ซื้อจากร้านขายของ 20 บาท หลังมหาวิทยาลัย ทุกส่วนซื้อมาจากที่นั่น ยกเว้นหลอดกาแฟไปขอพี่ที่ด้านล่างมา ก็เป็นอุปกรณ์ง่าย ๆ เป็นอุปกรณ์พลาสติกทรงกระบอก 2 กระบอกด้วยกัน อย่างที่บอกว่าเป็นท่อตัว U เพียงแต่ว่าเรานำมาทำให้เป็นท่อเดียว เพื่อความสะดวกในการใช้ เป็นการนำมาใช้ในเชิงของการวัดการอุดตันของโพรงจมูกเราก็แค่เปลี่ยนหัว ให้เป็นหัวที่สำหรับล้างจมูกตรงนี้ เราก็นำมาต่อกับทางจมูกก็สามารถใช้วัดได้เลยในหลักการเดียวกัน ไม่มีอะไรยุ่งยากซับซ้อน”

Loading

แชร์รายการนี้
fb-share-icon