ผลงานชนะเลิศ “AROMA AROKAYA” (อโรม่า อโรคยา) นวัตกรรมการสุมยารูปแบบใหม่ 

     นางสาวนัฐริกา จันทร์ดำ, นางสาวเจนจิรา ทองชมภูนางสาวนาตยา ยอดคำ และนางสาว อัจฉราภรณ์ วงค์ญาติ นิสิตระดับปริญญาตรี ชั้นปีที่ 4 ภาควิชาการแพทย์แผนไทยประยุกต์  คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร โดยมี ดร.อนุสรา สีหนาท และอาจารย์นพวรรณ วัชรพุทธ อาจารย์ที่ปรึกษา ภาควิชาการแพทย์แผนไทยประยุกต์ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร  ได้ให้ข้อมูลเบื้องต้นว่า ปัจจุบันมลภาวะทางอากาศมีเพิ่มมากขึ้นวิถีชีวิตของผู้คนต้องเผชิญกับฝุ่น PM 2.5  ควันอยู่ตลอดเวลา อาจทำให้บางคนหายใจไม่สะดวก มีอาการคัดจมูก ไอ จาม และมีอาการภูมิแพ้ การนำองค์ความรู้ทางด้านการแพทย์แผนไทยเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลสุขภาพของประชาชนเป็นอีกหนึ่งศาสตร์ที่จะทำให้ประชาชนมีสุขภาวะที่ดี        

    การสุมยา เป็นอีกวิธีหนึ่งที่มีความน่าสนใจ โดยการสุมยา คือ การนำสมุนไพรที่มีน้ำมันหมอระเหยมารวมกัน แล้วใช้ความร้อนจากน้ำร้อนเป็นตัวกระตุ้นให้น้ำมันหอมระเหยที่อยู่ในตัวยาระเหยออกมาเพื่อลดอาการหวัดคัดจมูก ภูมิแพ้อากาศ  

    การสุมยาทั่วไปทำได้โดยนำน้ำร้อนใส่ในภาชนะที่มีขนาดพอดีกับใบหน้า จากนั้นนำสมุนไพรที่หั่นแล้ว ใส่ลงแช่ในน้ำร้อน เมื่อกลิ่นสมุนไพรเริ่มออก นำผ้าคลุมศีรษะและสูดดมไอน้ำที่ลอยขึ้นมา ซึ่งวิธีนี้ถือเป็นวิธีที่ง่าย แต่ยังมีข้อจำกัดเกี่ยวกับการควบคุมอุณหภูมิของน้ำ อีกทั้งยังมีความยุ่งยากในการเตรียมสมุนไพร  

    ผู้วิจัยจึงสนใจที่จะปรับปรุงการสุมยาให้เป็นชุดสุมยาโดยรูปลักษณ์ของผลิตภัณฑ์ที่มีความทันสมัยแต่แฝงด้วยเอกลักษณ์ของความเป็นไทย พกพาสะดวก ทำความสะอาดได้ง่าย ลดขนาดพื้นที่ในการใช้งาน  และง่ายต่อการเก็บรักษา สามารถชาร์ตไฟได้ อุปกรณ์ใส่สมุนไพรด้านในสามารถควบคุมอุณหภูมิให้เหมาะสมกับการใช้งานบริเวณใบหน้า และศีรษะ มีระบบตัดไฟอัตโนมัติเมื่ออุณหภูมิสูงเกินไป สามารถทำการสุมยาได้ทุกที่ทุกเวลา มีระบบแรงดันไอน้ำ เพื่อนำน้ำมันหอมระเหยจากสมุนไพรเข้าสู่ร่างกายได้ ซึ่งเหมาะกับการใช้ชีวิตในสังคมปัจจุบัน  

    นอกจากนี้ ยังมีการจัดทำผลิตภัณฑ์สุมยาสมุนไพร รวบรวมเครื่องยาที่มีสรรพคุณในการช่วยเรื่องระบบทางเดินหายใจส่วนต้น ได้แก่ ดอกปีบ หอมแดง ขิง ผิวมะกรูด กานพลูและยูคาลิปตัส จัดรวมไว้ในรูปแบบของน้ำมันหอมระเหยภายในบรรจุภัณฑ์และทันสมัย โดยการพัฒนาชุดสุมยาและผลิตภัณฑ์สุมยาสมุนไพรนี้สามารถเป็นทางเลือกให้แก่องค์กร และผู้สนใจในการนำไปใช้ดูแลสุขภาพของตนเองเบื้องต้น อีกทั้งยังเป็นการสืบสานภูมิปัญญาการแพทย์พื้นบ้านให้คงอยู่  

    ผลงานดังกล่าว ได้รับรางวัลชนะเลิศ จากโครงการประกวดโครงงานนวัตกรรมนิสิต ระดับปริญญาตรี ประจำปี 2563 พลังไอเดียทะยานสู่การสร้างสรรค์นวัตกรรม ครั้งที่ 20 จัดโดยสถานบ่มเพาะวิสาหกิจ 
กองการวิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยนเรศวร 

 

Loading

แชร์รายการนี้
fb-share-icon