เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2563 ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.กาญจนา เงารังษี อธิการบดี พร้อมด้วยคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยนเรศวร ลงนามความร่วมมือทางวิชาการ ร่วมกับ สถาบันวิทยาลัยชุมชนจังหวัดพิจิตร จัดตั้งสถานีวิจัยนวัตกรรมเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว โดยได้รับเกียรติจากนายสิริรัฐ ชุมอุปการ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร เป็นประธานพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ พร้อมด้วยพ่อค้า ประชาชนในจังหวัดพิจิตรร่วมเป็นสักขีพยาน ณ ห้องปฏิบัติการจังหวัด (POC) ชั้น 4 ศาลากลางจังหวัดพิจิตร
ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.กาญจนา เงารังษี อธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวว่าในปัจจุบัน เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy) หรือ BCG Economy คือ โมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นแนวคิดการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมไปยกระดับความสามารถในการแข่งขันอย่างยั่งยืน ดังนั้นมหาวิทยาลัยนเรศวรในฐานะมหาวิทยาลัยแห่งนวัตกรรม จึงจัดตั้ง “สถานีวิจัยนวัตกรรมเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว” บนพื้นที่ 80 ไร่ ของวิทยาลัยชุมชนจังหวัดพิจิตรเพื่อแก้ปัญหาและความต้องการของประชาชนภายในพื้นที่จังหวัดพิจิตร อาทิเช่น ปัญหาทางการเกษตร ปัญหาการมีงานทำ ปัญหาความยากจน ปัญหาด้านสุขอนามัย การพัฒนาทักษะอาชีพและ ความรู้ทางด้านการเกษตรแบบยั่งยืน รวมไปถึง การพัฒนาหลักสูตรอบรม การวิจัย และการบริการวิชาการในสาขาวิชาต่าง ๆ ให้แก่ประชาชนในชุมชนของจังหวัดพิจิตร
เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว หรือ BCG Economy คือการสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจหมุนเวียน คือ สามารถออกแบบผลิตภัณฑ์และกระบวนการผลิตเพื่อให้เกิดของเสียน้อยที่สุด ส่งเสริมการใช้ซ้ำ และให้ความสำคัญกับการจัดการของเสียจากการผลิตและบริโภค ด้วยการนำวัตถุดิบที่ผ่านการผลิตและบริโภคแล้วเข้าสู่กระบวนการแปรสภาพเพื่อกลับมาใช้ใหม่ ซึ่งต่างจากระบบเศรษฐกิจแบบดั้งเดิม ที่เน้นการใช้ทรัพยากร การผลิต และการสร้างของเสีย
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พีระศักดิ์ ฉายประสาท คณบดีคณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม กล่าวเพิ่มเติมว่า การลงนามความร่วมมือทางวิชาการในครั้งนี้ จะเป็นร่วมมืออันดียิ่งระหว่างมหาวิทยาลัยนเรศวรและสถาบันวิทยาลัยชุมชนจังหวัดพิจิตร เพื่อจะช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนจังหวัดพิจิตร และยังเป็นโอกาสอันดีสำหรับเกษตรกรและชุมชนจังหวัดพิจิตรที่จะได้เรียนรู้เรื่อง เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว ซึ่งจะนำมาสู่การพัฒนาตลอดจนสนับสนุนให้เกิดผู้ประกอบการที่ผลิตสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่มสูงหรือนวัตกรรมแก่ชาวพิจิตรอย่างยั่งยืน และยังตอบสนองนโยบายของประเทศในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เติบโตแบบก้าวกระโดด กระจายโอกาส กระจายรายได้ และนำความมั่งคั่งไปสู่ชุมชนในท้องถิ่นอย่างทั่วถึง