จากข้อกังวลช่วงที่มีการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล และโรคไข้เลือดออก อาจทำให้สับสนเรื่องไข้ การแยกโรคนั้น นายแพทย์สุรัตน์ วรรณเลิศสกุล รองผู้อำนวยการฝ่ายบริการ และหัวหน้าสาขาวิชาโรคติดเชื้อ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร ให้ข้อมูลว่า “ส่วนหนึ่งของอาการ ในทั้ง 3 โรค ไม่ว่าจะเป็นโควิด – 19, โรคไข้หวัดใหญ่ และโรคไข้เลือดออก ทั้ง 3 โรค มาในลักษณะที่ใกล้เคียงกัน โดยเฉพาะไข้หวัดใหญ่กับโควิด – 19 อาการเรียกได้ว่า เหมือนกันเลยก็ว่าได้ คนไข้ส่วนใหญ่ก็จะมาด้วยเรื่องของไข้ อาจจะมีทั้งไข้สูง ไข้ต่ำ ๆ ปวดเมื่อยตามตัว มีเรื่องของอาการทางระบบหายใจส่วนบน ไม่ว่าจะเป็นมีน้ำมูก เจ็บคอ คัดจมูก ซึ่งโควิด – 19 กับ ไข้หวัดใหญ่ มีพฤติกรรมคล้ายกัน อาจจะแยกค่อนข้างลำบากถ้าดูโดยอาการอย่างเดียว
ส่วนเรื่องของไข้เลือดออก อาจจะมีลักษณะของกลุ่มอาการแตกต่างออกไปเล็กน้อย แต่บางทีก็มาคล้ายคลึงกันมาก ไข้เลือดออกส่วนใหญ่คนไข้จะมาด้วยเรื่องของไข้สูงเป็นหลัก อาการตามระบบหายใจส่วนบนจะไม่ค่อยมี จะมาด้วยไข้สูง จะทานอาหารได้น้อยลง มีอ่อนเพลียบ้าง มีปวดเมื่อยตามตัว และก็มีเรื่องของกลุ่มอาการปวด ที่เรียกว่ามี 4 ปวด มีปวดหัว ปวดกระบอกตา ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ และก็ปวดกระดูก ซึ่งก็จะเป็นลักษณะเด่นของไข้เลือดออก อาจจะแตกต่างเล็กน้อยกับโรคโควิด – 19 กับโรคไข้หวัดใหญ่
แต่ทั้ง 3 โรค ในช่วงนี้ซึ่งเป็นหน้าระบาด เวลาที่คนไข้มาตรวจที่โรงพยาบาลอาจจะทำให้แยกโรคได้ค่อนข้างลำบาก ถ้าใช้เรื่องของอาการแต่เพียงอย่างเดียว ตอนนี้สิ่งที่เราทำได้มากขึ้นก็คือในเรื่องของการตรวจวินิจฉัย โดยเฉพาะโรคโควิด – 19 เป็นโรคที่อุบัติใหม่ ความโชคดีของประเทศไทยก็คือว่าเรามีเครื่องมือตรวจที่ดีพอในการตรวจจับเชื้อทั้ง 3 ชนิดที่กล่าวข้างต้น หลาย ๆ โรงพยาบาล หลาย ๆ สถานที่ สามารถที่จะตรวจโควิด – 19 ได้ในโรงพยาบาลนั้นเลย
ผมเชื่อว่าหลายโรงพยาบาล โดยเฉพาะโรงพยาบาลที่มีขนาดใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยต่าง ๆ รวมทั้งใน กทม. และในภูมิภาค สามารถที่จะตรวจโควิด – 19 ได้ด้วยตัวของโรงพยาบาลเอง อย่างเช่นที่ โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวรเองก็เช่นเดียวกัน เราก็สามารถที่จะตรวจหาสารพันธุกรรมของโรคโควิด – 19 ได้ เพราะฉะนั้น ถ้าเบื้องต้นเราไม่สามารถแยกได้ด้วยอาการ หรือประวัติ เพราะว่าบางทีประวัติความเสี่ยงอาจจะไม่ชัดเจนในคนไข้หลาย ๆ คน หรือมีประวัติเสี่ยงแต่อาจจะไม่ได้ป่วยเป็นโควิด – 19 ก็ได้ เพราะฉะนั้นเราจึงมีความจำเป็นที่จะต้องตรวจวินิจฉัยแยกโรค เราก็ต้องอาศัยเรื่องของการตรวจทางห้องปฎิบัติการ ก็จะทำให้ช่วยแยกโรคได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น เดี๋ยวนี้เครื่องมือตรวจเราดีขึ้นมาก” นายแพทย์สุรัตน์ วรรณเลิศสกุล รองผู้อำนวยการฝ่ายบริการ และหัวหน้าสาขาวิชาโรคติดเชื้อ
ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร ให้ข้อมูล