ผศ.ดร.ภญ.วธู พรหมพิทยารัตน์ อาจารย์ประจำกลุ่มสาขาวิชาการแพทย์แผนไทยประยุกต์ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร เล่าให้ฟังต่อเนื่องเป็นตอนที่ 2 เกี่ยวกับกระบวนการศึกษาวิจัย ลูกอมสมุนไพรเพื่อลดการสูบบุหรี่ ว่า กลุ่มของผู้สูบบุหรี่สามารถแยกประเภทได้ตั้งแต่กลุ่มของวัยรุ่น กลุ่มของวัยทำงาน เราพยามยามทำให้ลูกอมสมุนไพรเป็นทางเลือกที่ทุกคนมองหา และก็อยากใช้เหมือน ๆ กัน และก็เป็นทางเลือกแล้วแต่บุคคล เหมือนคนที่ชอบยาแต่ละรูปแบบ หรือว่าอาหารแต่ละรูปแบบที่ไม่เหมือนกัน เช่น วิตามินซี บางคนก็ชอบดื่มน้ำเป็นขวด บางคนก็ชอบเป็นเม็ด ขึ้นอยู่กับจิตใจเป็นอันดับแรกด้วย ซึ่งลูกอมสมุนไพรลดสูบบุหรี่ เป็นหนึ่งเป้าหมายในการพัฒนาเพื่อความสะดวกสบายในการใช้ เพื่อความชัดเจนในเรื่องของปริมาณสารและการเข้าถึง
สำหรับกระบวนการศึกษา วิจัย ลูกอมสมุนไพรลดสูบบุหรี่ เริ่มจากการศึกษาพฤติกรรมคนสูบตั้งแต่แรกว่าอยากลดเลิกบุหรี่หรือไม่ ซึ่งส่วนใหญ่ก็อยากเลิกมากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ เพราะว่าเขาจะมีปัญหาว่า มีครอบครัว มีลูก และเขาก็รู้ว่าเรื่องสูบบุหรี่มือสองจะเป็นอันตรายต่อบุคคลรอบข้าง
นอกจากนั้น ได้ศึกษาดูว่าคนสูบบุหรี่เขาอยากได้ทางเลือกที่สามารถทำให้เขาไม่อยากสูบบุหรี่ได้ ด้วยการหาอะไรมาแทนที่ หาอะไรที่สัมผัสทางลิ้นมากกว่า ก็เลยเลือกเป็นลูกอมขึ้นมา นำมาซึ่งความชอบของลูกอมที่มีรสชาติเปรี้ยว หอม เย็น เผ็ด
เนื่องจาก การเลิกบุหรี่ต้องใช้เวลานาน จึงได้ศึกษาประมวลข้อมูลดูว่า มีผลิตภัณฑ์ใดบ้างที่มี องค์ประกอบที่ไม่ทำให้เกิดอันตรายกับคนในระยะยาว เช่น ระดับน้ำตาล สารเคมีต่าง ๆ รวมถึงหาสมุนไพรที่จะช่วยทำสุขภาพของช่องปาก และฟันดีขึ้น
“จากการสังเกต และการศึกษาได้ให้แพทย์ตรวจช่องปากของผู้ที่ติดบุหรี่หรือสูบบุหรี่ เหงือกจะดำ ปากจะดำ ฟันก็จะเสียไปเรื่อย ๆ ทำให้ช่องปากเขาไม่ค่อยดี ทานข้าวไม่ค่อยอร่อย ไม่อยากทานอะไร แล้วก็ฟันเหงือกเขาก็ไม่ค่อยดี เราก็เลยหาสมุนไพรอะไรที่ช่วยทำให้สุขภาพของช่องปากและฟันดีขึ้น ซึ่งเราก็เลือกวิธีการสกัดที่ปลอดภัย ไม่ได้ใช้สารเคมีอันตรายใด ๆ”
ผศ.ดร.ภญ.วธู ให้ข้อมูลเพิ่มเติมอีกว่า ขณะนี้ลูกอมสมุนไพรลดการสูบบุหรี่ ได้ทำความร่วมมือกับ บริษัท เอเวอร์มอร์ จำกัด หรือว่าที่รู้จักกันในชื่อของลูกอมแตงโม ซึ่งของเขาเป็นไอเดียลักษณะลูกอมเหมือนกัน แล้วไม่มีน้ำตาลเหมือนกัน โดยทำวิจัยร่วมกันศึกษาดูการอักเสบของช่องปากว่า ลูกอม 1 ลูก หากอม 15 นาที มีผลต่อช่องปากหรือไม่ พบว่าไม่มีผลต่อช่องปาก นอกจากนั้น ใน 1 เดือน ให้อมลูกอมติดต่อกันไปตามระยะเวลาที่การศึกษากำหนด พบว่า ไม่ทำให้ช่องปากอักเสบ และไม่มีสิ่งที่ผิดปกติต่อร่างกาย รวมถึงได้ศึกษาความพึงพอใจ พบว่า กลุ่มเป้าหมายรู้สึกชอบลูกอมนี้ อร่อยดี เหมาะกับเขา เขาอยากกินต่อ ซึ่งตอนนั้นเราศึกษาแค่ 1 เดือน หลังจากนี้ก็จะทำแบบขยายกลุ่มการศึกษาขึ้น ซึ่งล่าสุดศึกษาในกลุ่มของคนทำงานที่มีการใช้แรงงาน กับคนที่ทำงานออฟฟิศ พบว่า กลุ่มเป้าหมายมีความพึงพอใจ ถูกใจ เป็นทางเลือกที่ช่วยให้เขาลดการสูบบุหรี่ได้
“พอเขาอยากสูบบุหรี่ เขาก็หยิบลูกอมเข้ามาแทน มันก็เลยทำให้เหมือนกับว่า พอเขาอมเสร็จแล้วเขาก็ไม่อยากบุหรี่อีก มันเหมือนมีอาการชาไปเลย เขาก็เลยไม่อยากสูบบุหรี่อีก ฉะนั้นการที่ทำให้เขาลดสูบบุหรี่จากที่เขาเอาลูกอมไปแทนที่ก็จะเป็นทางเลือกที่ช่วยให้เขาลดการสูบบุหรี่ลงได้” ผศ.ดร.ภญ.วธู พรหมพิทยารัตน์ อาจารย์ประจำกลุ่มสาขาวิชาการแพทย์แผนไทยประยุกต์ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร เล่าให้ฟัง