แพทย์ มน. เผย ไวรัสตับอักเสบซี รักษาหาย 90 % ส่วนไวรัสตับอักเสบบี มีวัคซีนที่ใช้ได้ผล 

     พญ.ศุภณา ชื่นสกุล  อาจารย์แพทย์ประจำสาขาวิชาระบบทางเดินอาหาร ภาควิชาอายุรศาสตร์  คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ให้ข้อมูลว่า ไวรัสตับอักเสบแบ่งเป็น 4 ชนิด ได้แก่ ไวรัสตับอักเสบ เอ, ไวรัสตับอักเสบ บี, ไวรัสตับอักเสบ ซี และไวรัสตับอักเสบ อี แต่มีอยู่ 2 ชนิด ที่มีโอกาสนำไปสู่โรคตับแข็งหรือมะเร็งตับได้ คือ ไวรัสตับอักเสบ บี และไวรัสตับอักเสบ ซี 

     ไวรัสตับอักเสบ บี ส่วนใหญ่จะติดต่อทางแม่สู่ลูกเป็นหลัก แต่ว่าทางอื่น ๆ ที่สามารถติดต่อได้อย่างเช่น การได้รับเลือด หรือว่าการใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน หรือผ่านการสัก หรือการเจาะตามร่างกายโดยใช้อุปกรณ์ที่ไม่สะอาด  

     สำหรับไวรัสตับอักเสบ ซี โอกาสติดต่อจากแม่สู่ลูกมีน้อย แต่ว่าส่วนใหญ่แล้วจะเป็นการติดต่อทางเพศสัมพันธ์ หรือว่าการใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน หรือว่าใช้การสักเจาะร่วมกันคล้าย ๆ กันกับไวรัสตับอักเสบ บี 

     กรณีการติดต่อจากแม่สู่ลูกเป็นได้หลายปัจจัย หลัก ๆ จะอยู่ที่ปริมาณของไวรัสของคุณแม่ตอนที่ตั้งครรภ์ หากมีปริมาณไวรัสในเลือดที่สูง ร่วมกับมีการสัมผัสเลือดมารดาไปสู่ลูกก็จะมีการได้รับเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี สู่ลูกได้ 

     ส่วนใหญ่ไวรัสเหล่านี้จะต้องอาศัยอยู่ในร่างของมนุษย์ ก็คือส่วนใหญ่จะไม่เหมือนหวัดที่ไม่สามารถติดผ่านการไอจามได้ อันนี้มันจะต้องมีวิธีใดก็ตามของการได้รับมา อาทิเช่น ผ่านทางสารคัดหลั่ง ผ่านทางเลือด หรือว่า ผ่านการใช้ของมีคมร่วมกันแล้วทำให้มีเลือดออก 

     พญ.ศุภณา ให้ข้อมูลเพิ่มเติมอีกว่า อาการหลัก ๆ หากได้รับเชื้อไวรัสมา ช่วงแรกสำหรับไวรัส ตับอักเสบส่วนใหญ่แล้ว มักจะทำให้เกิดภาวะสิ่งที่เรียกว่า มีไข้ มีตับอักเสบร่วมด้วย นั่นก็คืออาจจะมาด้วยการมีไข้ต่ำ ๆ ปวดเมื่อยตามตัว คล้ายกับการเป็นหวัด แต่ว่าจะไอไม่มากนัก แล้วมีเรื่องของตัวเหลือง ตาเหลือง ตามมาได้ หรือจะมีอาการจุกท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ร่วมด้วย อันนี้คือช่วงที่ติดมาในระยะเฉียบพลัน ถ้าเกิดว่าพ้นจากช่วงนั้นไปแล้ว คนไข้อาจจะไม่มีอาการใด ๆ เลย คนไข้สบายดีมาตลอด จนกระทั่งมาตรวจพบอีกครั้งนึง อาจจะพบจากการบริจาคเลือด แล้วไม่สามารถบริจาคเลือดได้ หรืออีกแบบนึงก็คือว่า มีภาวะพังผืดเกิดขึ้นในตับก็คือตับแข็ง หรือมาอีกครั้งก็มีมะเร็งตับได้ 

     ส่วนใหญ่แล้วไวรัสตับอักเสบ บี และ ซี คนไข้จะไม่ค่อยมีอาการมาในตอนแรก อาจจะไปเป็น ความบังเอิญที่ไปตรวจเช็คสุขภาพประจำปี เป็นต้น หรือถ้าในผู้ป่วยบางท่านก็คือถ้าแยกถึงขั้นมีอาการแล้ว ก็จะมาด้วยอาการตับแข็ง อย่างเช่น มีน้ำในท้อง ท้องโต อาเจียนเป็นเลือด ก็จะพบว่าเมื่อมาดูข้อมูลย้อนหลังพบว่ามีหลักฐานของไวรัสตับอักเสบ บี หรือ ซี อยู่

     การรักษาไวรัสตับอักเสบ บี และ ซี ในตัวที่รักษาง่ายก่อนคือไวรัสตับอักเสบซี คือ ไวรัสตับอักเสบซี ในยุคปัจจุบันมีโครงการของรัฐบาลออกมาเพื่อที่จะดูว่าใครที่จะได้รับการรักษาก่อนหรือหลัง ซึ่งอัตราการหายของไวรัสตับอักเสบซี อยู่ที่ 90 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไป ยาก็จะกินหรือฉีดในช่วงระยะเวลา 3 เดือน   

     ส่วนไวรัสตับอักเสบ บี จะยากกว่ามาก เพราะว่าตัวไวรัสตับอักเสบ บี เองเมื่อเข้ามาในร่างกายของมนุษย์แล้วจะมีปัญหาอยู่ว่า พอเข้าไปในร่างกายมันก็จะเอาตัวชิ้นส่วนของมันไปใส่ในเซลล์ของเรา แล้วก็ทำให้มันไม่สามารถรักษาหายไปจากตับได้ถึงแม้ว่าไม่มีปริมาณไวรัสในเลือดแล้ว และต้องเลือกระยะเวลาในการรักษา คือ ในช่วงที่เหมาะสมในการรักษาคือ ช่วงที่ตับมีการอักเสบมาช่วงหนึ่งแล้ว แล้วมีพังผืดบางส่วน  แล้วอาจจะมีค่าการทำงานของตับที่ผิดปกติ ร่วมกับจำนวนไวรัสสูงด้วยจึงเริ่มการรักษา  

     อย่างไรก็ตาม ถ้าเราเริ่มการรักษาด้วยเวลาที่ไม่เหมาะสม ตัวไวรัสตับอักเสบบีมันเก่งมาก คือ มันมักจะดื้อยาได้ง่าย แล้วอาจจะทำให้เราจำเป็นต้องเปลี่ยนยา ซึ่งยาตัวหลัง ๆ ที่เราใช้มักจะมีผลกับไต ไวรัสตับอักเสบ บี สามารถทำให้เกิดก้อนในตับคือมะเร็งได้ ดังนั้น สิ่งที่เราอยากจะติดตามเป็นประจำก็คือการทำ อัลตราซาวน์ เพื่อได้ดูว่าถ้าเกิดมะเร็งก้อนเล็กเกิดขึ้นเราสามารถรักษาให้หายได้ โดยที่ไม่จำเป็นจะต้องรักษาในวิธีที่ซับซ้อน 

     อย่างไรก็ตาม หากว่าผู้ที่มีปัญหาของโรคไวรัสตับอักเสบอยู่แล้ว และมีความกังวลว่าจะเป็นมะเร็งตามมาหรือไม่นั้น ต้องบอกว่าในเรื่องของการเกิดมะเร็งมีหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นตัวปัจจัยของตัวไวรัสเอง ตัวคนไข้เอง และเรื่องของสภาพแวดล้อมที่คนไข้พบเจอ ดังนั้น จึงบอกไม่ได้ว่าจะมีโอกาสเป็นมะเร็ง กี่เปอร์เซ็นต์ ซึ่งถ้ามาตรวจติดตามภายในโรงพยาบาล จะมีข้อดีว่า เราจะระมัดระวังอยู่เสมอว่าไม่ให้คนไข้ถูกปล่อยปละละเลยโดยที่ไม่ได้ตรวจติดตามหาก้อนมะเร็ง รวมถึงว่า เราก็จะต้องหาวิธีที่จะทำให้ตับอักเสบน้อยที่สุด เพื่อที่จะให้คนไข้เกิดมะเร็งน้อยที่สุด 

     การป้องกันโรคด้วยวัคซีน ในส่วนของไวรัสตับอักเสบ บี มีวัคซีนที่ใช้ได้ผล ตอนนี้ก็ถูกบรรจุอยู่ในโปรแกรมวัคซีนแห่งชาติ หมายความว่า เด็กที่เกิดหลังจากปี 2527 ได้รับการฉีดวัคซีนทุกคน ตอนนี้เคสใหม่ของไวรัสตับอักเสบ บี ในประเทศไทยไม่มากนัก แต่ว่าปัญหาของเราก็คือตอนนี้เคสส่วนใหญ่อยู่ที่อายุประมาณ 40  50 ปี  

     ส่วนไวรัสตับอักเสบ ซี ยังไม่มีวัคซีน แต่ถึงแม้ว่าจะไม่มีวัคซีน เราก็มียารักษามีอัตราการหายสูงอยู่แล้ว ดังนั้น ไวรัสตับอักเสบ ซี หมอไม่ค่อยกังวลเท่าไหร่ กังวลแค่ว่าจะไปรับเชื้อใหม่แค่นั้นเอง เพราะว่าไวรัสตับอักเสบ ซี เกิดจากพฤติกรรมการใช้ของมีคมร่วมกัน เช่น การใช้สารเสพติด การสัก ซึ่งคนไข้อาจจะมีโอกาสไปทำพฤติกรรมเดิม พญ.ศุภณา ชื่นสกุล กล่าวทิ้งท้าย 

Loading

แชร์รายการนี้
fb-share-icon