ตอนที่ 1 : คณะสาธาฯ มน. ศึกษาลูกอมสมุนไพรลดการสูบบุหรี่ ตอบโจทย์ความชอบของวัยรุ่น 

 

     จากผลการวิจัยโครงการพัฒนามาตรการเฝ้าระวังและจำกัดการเข้าถึงผลิตภัณฑ์ยาสูบของเยาวชน  ใน 4 ภูมิภาคของประเทศไทย โดย หน่วยปฏิบัติการวิจัยและวิชาการด้านการควบคุมยาสูบภาคเหนือ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร จังหวัดพิษณุโลก พบว่า มีกลุ่มตัวอย่างที่สูบบุหรี่ในปัจจุบัน  ร้อยละ 46.35 ที่มีความคิดที่จะเลิกบุหรี่แต่ยังไม่เคยลงมือปฏิบัติ และอีกร้อยละ 40.85 ที่พยายามเลิกบุหรี่แต่เลิกไม่สำเร็จ จึงเสนอให้ สปสช. และหน่วยงานกระทรวงสาธารณสุข เช่น โรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล เร่งพัฒนามาตรการเสริมสร้างแรงจูงใจการเลิกบุหรี่ให้สอดคล้องกับขั้นตอนการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของเยาวชน พร้อมกันนั้น ก็ต้องพัฒนานวัตกรรมหรือรูปแบบช่วยเลิกบุหรี่ที่สอดคล้องกับแบบแผนการดำเนินชีวิตของเยาวชน และเอื้อให้เยาวชนสามารถเข้าถึงนวัตกรรมและรูปแบบช่วยเลิกดังกล่าวได้อย่างง่ายดายหรือมีอุปสรรคให้น้อยที่สุดนั้น 

     ครั้งนี้ ทีมข่าวขอนำเสนอเป็นตอนที่ 1 จากผลการศึกษาลูกอมสมุนไพรลดการสูบบุหรี่ ผลงานจาก ผศ.ดร.ภญ.วธู พรหมพิทยารัตน์ อาจารย์ประจำกลุ่มสาขาวิชาการแพทย์แผนไทยประยุกต์ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ซึ่งอาจจะเป็นอีกหนึ่งนวัตกรรมหรือรูปแบบที่สามารถเป็นทางเลือกให้กับเยาวชน หรือผู้ที่ต้องการเลิกสูบบุหรี่ได้ มาติดตามตอนที่ 1 กันก่อนเลย 

 

     คำถาม ที่มาของการศึกษาลูกอมสมุนไพรลดการสูบบุหรี่ เป็นอย่างไร 

     การศึกษาลูกอมสมุนไพรลดการสูบบุหรี่ตั้งแต่แรกก็คือตอนที่มาทำงานที่นี่หลายปีแล้ว มากกว่า 6 ปีแล้วค่ะ คือไปคืนข้อมูลสุขภาพต่าง ๆ ก็มีประชาชนมาบอกว่าขอให้ช่วยเพิ่มทางเลือกในการลดบุหรี่ เพราะว่าเขาอยากลดบุหรี่พอดีมันเปรี้ยวลิ้น ตอนอยากบุหรี่ขึ้นมาเขาก็ไม่มีตัวเลือก ถ้าจะไปซื้อในท้องตลาด นิโคติน หมากฝรั่งหนึ่งแผงตอนนั้นก็ 200 กว่าบาท ตอนนี้ก็ยัง 200 กว่าบาทได้สิบเม็ด ซึ่งมันก็ไม่คุ้ม ในวันนึงห้าเม็ดก็หมดไปร้อยนึงแล้ว แพงกว่าบุหรี่อีก ซึ่งเขาไม่มีทางเลือก ทางเลือกยาลูกกลอนปัจจุบันมันขม ขนาดตัวเองไปชิมมามันขมมากค่ะ และอีกอย่างออกมาตอนนี้มีหลายแบรนด์  

     แต่ว่าปัญหามันคือลูกอมน้ำตาลซึ่งรู้อยู่แล้วลูกอมต่าง ๆ จะมีน้ำตาลอยู่ประมาณมากกว่าเก้าสิบเปอร์เซนต์อยู่แล้วค่ะ ก็เลยมีไอเดียว่าถ้าระยะยาวผู้ป่วยเบาหวานหรือว่าคนที่ไม่ต้องการให้มีระดับน้ำตาลสูง ก็เลยพัฒนาลูกอมสมุนไพรลดการสูบบุหรี่ เรารู้อยู่แล้วว่าหญ้าดอกขาวมีสารนิโคตินอ่อนและมีกลุ่มไนเตรทที่ทำให้ชาลิ้น ผลของมันรู้อยู่แล้วว่าหญ้าดอกขาวช่วยลดการสูบบุหรี่ แล้วที่เราจะพัฒนาเพิ่มคือเราจะเป็นลูกอมก่อนเพราะบางคนอาจจะไม่สะดวกเคี้ยวเพราะว่าปัญหาของผู้สูบบุหรี่นาน ๆ คือ เหงือกร่น มีช้ำ มีอักเสบ  บางทีเคี้ยวหมากฝรั่งจะมีปัญหา การเลือกลูกอมจะเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับเขาค่ะ  

 

     คำถาม จากที่ผลิตภัณฑ์ลดการสูบบุหรี่แบบเดิมข้างต้นราคาสูง แล้วเรื่องประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์เหล่านั้นสามารถช่วยให้คนเลิกบุหรี่ได้ หรือมีข้อมูลเชิงประจักษ์เพียงใด  

     ตอนนี้ก็มีงานวิจัยที่ตีพิมพ์ทั่วไป และงานวิจัยของนิสิต ทั้ง ป.ตรี ป.โท ต่าง ๆ ของที่ตัวเองดูอยู่ค่ะ มีการทดสอบโดยเอาลูกอมไปให้นิสิตศึกษา ตอนนั้นมีนิสิต ป.โท ศึกษาที่ราชภัฏกำแพงเพชรสามารถลด การสูบบุหรี่ได้แค่ 1 เดือน สามารถลดได้ 30  40 เปอร์เซ็นต์ สมมติ 10 มวนลดได้ 7 มวน งานวิจัยอื่น ๆ  ก็จะคล้าย ๆ กัน สามารถลดได้เบื้องต้นสำหรับคนที่สูบ แต่ถ้าคนเลือกจะใช้ลูกอมแทนบุหรี่จริง ๆ  จะเป็นแนวโน้มทำให้เกิดการเลิกได้”   

 

     คำถาม เห็นมีบางส่วนใช้ทางเลือกด้วยการจิบชาหญ้าดอกขาวนั้น ในทางด้านวิชาการกับที่ท่านอาจารย์เชี่ยวชาญได้ศึกษาประสิทธิผลในช่วงที่ผ่านมานั้น มีความแตกต่างกันอย่างไรบ้าง 

     หญ้าดอกขาวจริง ๆ แล้วมีพื้นฐานสมุนไพรเหมือนกัน แต่ชาเป็นรูปแบบชง และดื่มจิบตลอดเวลา แต่ปัญหาก็คือว่า ผู้ที่ทำงานคงไม่มีเวลา ส่วนใหญ่คนที่สูบบุหรี่อาจจะเป็นผู้ใช้แรงงาน อาจจะมีความลำบากในการพกซองชา ชงเป็นแก้วแล้วมานั่งจิบทีละนิด เรารู้อยู่แล้วว่าสารตัวนี้ไม่ค่อยคงตัวเท่าใดนัก ถ้ามานั่งชงหรือจะมานั่งใส่แก้วอาจจะลำบากในการทำงานลงภาคสนาม แต่ว่าสองตัวนี้บนพื้นฐานก็คือสมุนไพรหญ้าดอกขาวเหมือนกัน แต่ว่าการทำลูกอมเป็นทางเลือกหนึ่งในการพัฒนา คือพกติดตัวสะดวก ไปไหนก็ง่ายทำอะไรก็ง่ายมีประสิทธิผลได้เหมือนกัน ซึ่งการสกัดสารสำคัญในหญ้าดอกขาวที่เราสกัดออกมาเราจะทดสอบปริมาณสารที่มีองค์ประกอบสำคัญที่อธิบายไปเบื้องต้นก็คือ นิโคตินปริมาณต่ำและกลุ่มไนเตรทที่ทำให้ชาลิ้น ซึ่งจะเป็นกลไกทำให้ลดบุหรี่มากขึ้น สารสกัดทำให้เราทราบปริมาณสารที่แน่นอนมากกว่าชาชง เพราะชาชงในแต่ละครั้งเราไม่รู้แหล่งผลิตมาจากที่ไหนหรือได้อย่างไรมาบ้าง ชาชงไว้กี่วันไม่รู้แล้วมาดื่มสารสำคัญอาจจะหายไปแล้ว อย่างไรก็ตามขึ้นอยู่กับคนชอบด้วย รวถมึงถ้าสมมติมีทางเลือกที่ทำให้เขาง่ายขึ้นและพกพาได้สะดวกก็จะเป็นทางเลือกที่ดีมากขึ้นค่ะ” 

 

     คำถาม ที่ผ่านมาจากการศึกษาผลิตภัณฑ์ลดการสูบบุหรี่แต่ละชนิดเขาถึงขั้นมาวางเรียงกันเลยหรือไม่ แล้วมาดูว่าประสิทธิภาพชนิดใดมีประสิทธิภาพที่สุด  

     คือจริง ๆ การเลิกบุหรี่มันอยู่ที่ใจมากกว่า ถามว่ามีคนจะมานั่งเปรียบเทียบว่า เอาหนึ่งคนมาเลือก ชาชง หนึ่งคนมาเลือกลูกอม คิดว่าอาจจะไม่ใช่ เพราะว่าจริง ๆ แล้วการสูบบุหรี่มีอยู่สองแบบคือติดนิโคตินกับเกิดจากพฤติกรรมที่อยากสูบ ดูแล้วจากที่งานวิจัยหรืออาจารย์หลายท่านที่สำรวจมาพบว่า ส่วนใหญ่ที่สูบเกิดจากพฤติกรรมที่อยากสูบมากกว่าการติด ส่วนใหญ่การติดไม่กี่เปอร์เซ็นต์ คนที่ติดรู้ตัวว่าติดก็คือมีปัญหาเรื่องเหงือก เรื่องปอด เรียกว่าติดบุหรี่ไปแล้ว แต่ที่สูบกันทั่วไปอาจจะเป็นัยรุ่นซึ่งเราก็รู้กันอยู่แล้วว่า บุหรี่เป็นตัวนำสู่ยาเสพติดชนิดอื่น ๆ เป็นตัวเปิดทางอยู่แล้ว พอมาถึงจุดหนึ่งแล้วกระตุ้นอะไรไม่เพียงพอก็จะหันไป หายาบ้ายาอีกันต่อ นอกจากนี้ถ้าเป็นทางเลือกตั้งแต่แรก จริง ๆ แล้วเด็กวัยรุ่นไม่ดื่มชาชง ไม่ค่อยชอบดื่มชาชง แต่ว่าเขาจะเป็นลูกอมหรือทำอะไรพกง่ายเก๋ ๆ แต่เขาไม่อยากให้ใครรู้ว่าเขาสูบ เราก็พยายามดูพฤติกรรมของเด็กด้วยก็เลยเลือกผลิตภัณฑ์ตัวนี้ขึ้นมาค่ะ  

     สำหรับผู้อ่านทุกท่านยังคงร่วมติดตามผลงานต่อเนื่องของ ตอนที่ 2 : “กระบวนการศึกษา วิจัย ลูกอมสมุนไพรลดสูบบุหรี่”, ตอนที่ 3 การเลือกใช้หญ้าดอกขาว ในการศึกษาลูกอมสมุนไพรลดการสูบบุหรี่  และตอนที่ 4 วิธีการใช้ลูกอมสมุนไพรลดการสูบบุหรี่ ได้เร็ว ๆ นี้ 

 

 

Loading

แชร์รายการนี้
fb-share-icon