เตรียมพบกับข้อค้นพบใหม่ จากผลการศึกษาที่ยังไม่เคยมีใครตีพิมพ์มากว่า 10 ปี เกี่ยวกับเครื่องมือทางด้านทันตกรรมที่มีการเปลี่ยนแปลง และมีความทันสมัยขึ้นทุกวัน พร้อมกับการสร้างมาตรฐานใหม่กับการดูแลรักษาด้านทันตกรรมของนักวิจัยไทย โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ทันตแพทย์หญิง ดร.มยุรัชฎ์ พิพัฒภาสกร รองคณบดีฝ่ายวิจัยและวิเทศสัมพันธ์ คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ที่ได้ผ่านการพิจารณาข้อเสนอทุนวิจัยและนวัตกรรม โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด 19 โดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)จาก โครงการวิจัยเรื่อง “การศึกษาการฟุ้งกระจายของละอองฝอยขนาดเล็กจากเครื่องมือทันตกรรมและประสิทธิภาพในการลดการฟุ้งกระจายของละอองฝอยขนาดเล็กโดยเครื่องดูดละอองฝอยที่ใช้นอกช่องปากชนิดต่างๆ” มาติดตามรายละเอียดการถามตอบด้วยกันเลย
คำถาม : “เหตุผล ที่ตัดสินใจส่งหัวข้อการศึกษาดังกล่าว เพื่อเสนอทุนวิจัยและนวัตกรรม โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด – 19”
“จุดเริ่มต้นคือเป็นสิ่งที่อยากทำ แต่จะหาทุนจากที่ไหน เพราะว่าตอนนั้นระยะเวลาจำกัด ประกาศเปิดรับทุน 9 เมษายน 2563 ปิดรับสมัคร 14 เมษายน 2563 ตอนนั้นคิดชั่งใจว่า จะขอได้ไหม เขียนทันไหม ต้องขอบคุณคณบดีคณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ที่ผลักดันบอกว่า “ทำเลย เราทำสิ่งที่คิดว่ามีประโยชน์ เราได้ใช้จริง มันเป็นปัญหาที่เราประสบอยู่ทุกวันนี้ เราจะตัดสินใจซื้ออะไรหรือจะลงทุนทำอะไรเราทำไม่ได้” มีคนบอกว่าให้คณะซื้อ แต่พอไม่มีหลักฐานเชิงประจักษ์ ซื้อมาแล้วจะคุ้มไหม จุดนี้เลยทำให้เดินหน้า เราก็เดินหน้า ก็ขอขอบคุณคณบดีฯที่ทำให้กล้าที่จะไปคว้าทุนนี้มานะคะ
และเนื่องมาจากว่าช่วงโควิด – 19 ระบาด การทำฟันก็เป็นสิ่งหนึ่งที่เสี่ยงต่อการที่บุคลากรจะติดเชื้อ หรือว่าคนไข้เองได้รับเชื้อกลับไป รวมถึงการฟุ้งกระจายแพร่เชื้อในสถานพยาบาล ซึ่งการทำฟันอย่างที่เราเคยทำกันจะมีเครื่องกรอฟัน เครื่องขูดหินปูน จะมีการฟุ้งกระจายของละอองน้ำ รวมถึงละอองฝอยต่าง ๆ ขนาดเล็ก ขนาดใหญ่ของน้ำ ซึ่งอาจจะปนเปื้อนด้วยเลือด น้ำลายที่มีเชื้อโรค และด้วยโควิด – 19 มีการติดต่อกันทางเดินหายใจ ละอองฝอยต่าง ๆ ที่ฟุ้งกระจายเราสูดดมเข้าไปได้ง่าย เกิดการติดต่อของโรคได้ง่าย เพราะฉะนั้นแล้ว เวลาคนไข้มาทำฟัน เราก็จะต้องจำกัดละอองฝอยไม่ให้ฟุ้งไปข้างนอกห้องหรือว่าไม่ฟุ้งขึ้นมาหาทันตแพทย์และผู้ช่วยทันตแพทย์ให้มีเครื่องดูดที่มีประสิทธิภาพ ช่วยดูดละอองฝอยกลับเข้าไปให้ได้เยอะที่สุด เข้าไปในเครื่องให้ได้เยอะที่สุด
ดังนั้น การที่เราจะจัดการกับปัญหาเหล่านี้ได้ จะต้องมีเครื่องมือในการลดละอองฝอย เป็นเครื่องดูดแยกออกมา ซึ่งต้องลงทุนเพิ่ม แต่ยังไม่มีการศึกษาว่าเครื่องเหล่านั้นนั้นมีประสิทธิภาพเพียงพอมากน้อยเพียงใด และยังไม่มีงานวิจัยรองรับ นอกจากนั้น จะมีการศึกษาการทิศทางการฟุ้งกระจายของละอองฝอยที่เกิดขึ้น พุ่งแรง พุ่งน้อย กระจายไปไกล ทิศทางแบบไหนที่เราจะต้องควบคุม หรือว่าไปติดผนัง เพดาน
เพื่อนำมาซึ่งวิธีการดูแลรักษาความสะอาดที่เหมาะสม สร้างความตระหนัก และจัดการได้ดีขึ้น เป็นต้น ค่ะ”
คำถาม : “การทดลองใช้คนจริงร่วมทดลองหรือไม่”
“การทดลองจะมีการใช้สารเคมีกับละอองฝอยที่เราทดสอบเพื่อให้เห็นได้ชัดเจน จึงใช้ละอองฝอยที่ผสมสารเรืองแสง เพราะฉะนั้นผู้ทำการศึกษาทดลองก็ต้องใส่เครื่องมือป้องกัน ส่วนคนไข้เรามีไม่ได้อยู่แล้วที่จะมานอนทำการศึกษาทดลอง ซึ่งเรามีหุ่นจำลองที่ใช้ในการเรียนการสอนมาใช้ในการศึกษาวิจัยครั้งนี้ค่ะ”
คำถาม : “สถานที่ที่ใช้ในการศึกษาทดลองงานวิจัย”
“เราจะทำที่โรงพยาบาลทันตกรรม คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร โดยจะจัดห้องที่คล้ายคลึงกับการรักษา และก็มีห้องสำหรับการทดลองอีกห้องหนึ่ง เพราะว่า เวลาที่ทดลองจะทำที่ห้องมืดที่มีแสงยูวี หลอดที่เรืองแสงของสารได้ และควบคุมห้องตามสภาพแวดล้อมนี้จนกระทั่งเสร็จสิ้นการศึกษาทดลองค่ะ”
คำถาม : “การศึกษาทดลองนี้ใช้เวลานานเพียงใด”
ขอทุนวิจัยไว้ 2 ปี แต่คิดว่าจะเสร็จภายใน 1 ปี หลังจากนั้นก็จะมีการเขียนผลการศึกษาตีพิมพ์เผยแพร่ต่อไปค่ะ”
คำถาม : “สมมติฐานที่น่าจะเกิดขึ้นจากการศึกษาวิจัยครั้งนี้”
“เราจะได้องค์ความรู้ ที่ยังไม่เคยมีการตีพิมพ์มาก่อน เพราะว่ามีงานวิจัย 10 ปีที่แล้ว คล้ายคลึงแบบนี้แต่มีการจำกัดอยู่แค่เครื่องมือทันตกรรมบางอย่าง และตอนนี้ 10 ปีผ่านมา เครื่องมือทันตกรรมมีการเปลี่ยนแปลงไป ทันสมัยมากขึ้น รวมถึงจะได้มาตรการที่สร้างมาตรฐานในการรักษาของคนไข้ขึ้นมา เพื่อให้เชื่อมั่นว่าสิ่งที่ทำได้ผลจริงค่ะ”