ปลดล็อคประเทศ แต่ยังไม่ควรปลดล็อคหน้ากากและการรักษาระยะห่างทางสังคม
โดย ดร. มาณิกา เพชรรัตน์
อาจารย์ประจำกลุ่มสาขาการพยาบาลสุขภาพจิตและจิตเวช คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร
ของสิ่งหนึ่งที่กลายเป็นสิ่งสำคัญในยุคโรคไวรัสโควิด – 19 ระบาด คือ หน้ากากอนามัย สิ่งที่น่าสนใจคือประเทศแถบเอเชีย ประชาชนจะใช้หน้ากากอนามัยหรือหน้ากากอื่น ๆ เป็นจำนวนมาก ด้วยเหตุผลทางวัฒนธรรมหรือการรณรงค์ของรัฐบาล ในขณะที่ประชาชนในทวีปยุโรปและอเมริกาจะใส่หน้ากากกันน้อยกว่า โดยมักจะมีทัศนคติว่า “คนป่วยเท่านั้นที่ใส่หน้ากาก คนไม่ป่วยไม่ต้องใส่” เป็นต้น อันที่จริงในสหรัฐอเมริกา สาเหตุที่ช่วงแรกของการระบาด ทางการไม่ได้รณรงค์ให้ประชาชนใส่หน้ากาก เป็นเพราะกลัวว่าถ้าคนไปหาซื้อหน้ากากมาใช้กันหมด จะทำให้หน้ากากมีไม่เพียงพอสำหรับบุคลากรทางสาธารณสุข แต่ในเวลาต่อมา ดูเหมือนว่าประเทศที่ประชาชนใส่หน้ากากจะสามารถควบคุมการระบาดของโรคได้ดีกว่าประเทศที่ประชาชนไม่ค่อยใส่ (เหล่านี้ยังเป็นเพียงข้อสังเกต ปัจจุบันยังไม่มีการสรุปข้อมูลวิจัยอย่างเป็นทางการ เนื่องจากโรคไวรัสโควิด – 19 เป็นโรคใหม่ ยังต้องมีการศึกษากันต่อไป)
ดังนั้น ปัจจุบันศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคระบาด (Centers for Disease Control and Prevention) จึงได้ออกคำแนะนำว่าเวลาใครจะออกไปในที่สาธารณะ จะต้องมีการคลุมหน้าด้วยผ้า อาจจะใช้หน้ากากผ้าหรือใช้ผ้าเช็ดหน้า ผ้าพันคอหรือเสื้อยืดมาคลุมปิดปากและจมูกก็ได้ และถึงแม้ว่าหน้ากากอนามัยและหน้ากาก N95 จะมีคุณสมบัติในการกรองและป้องกันแพร่กระจายของละอองฝอยได้สูง แต่ก็ควรสงวนไว้ให้บุคลากรทางการแพทย์มีไว้ใช้ให้เพียงพอ (Dwyer & Aubrey, 2020) ซึ่งเราจะเห็นได้ว่าประเทศในแถบยุโรป เช่น ประเทศเยอรมันนี รัฐบาลก็เริ่มมีมาตรการบังคับให้ประชาชนทุกคนสวมใส่หน้ากากขณะออกจากบ้านเช่นเดียวกัน (เรื่องเล่าจากหย่งศรี, 2563)
องค์การอนามัยโลก (องค์การอนามัยโลกประเทศไทย, 2563) ได้ให้คำแนะนำประชาชนถึงวิธีการสวมหน้ากากที่ถูกวิธี ดังนี้ 1. ล้างมือด้วยสบู่และน้ำหรือเจลแอลกอฮอล์ให้สะอาดทุกครั้งก่อนสวมหน้ากาก 2. สวมหน้ากากให้ครอบปิดทั้งปากและจมูกและให้หน้ากากแนบสนิทใบหน้า โดยให้มีช่องว่างน้อยที่สุด 3. หลีกเลี่ยงการสัมผัสหน้ากากขณะสวมอยู่ 4. ถอดหน้ากากให้เหมาะสม โดยไม่สัมผัสด้านหน้าของหน้ากาก แต่ควรถอดจากด้านหลัง 5. หลังจากถอดหน้ากากหรือเมื่อสัมผัสหน้ากากที่ใช้แล้วโดยบังเอิญ ให้ทำความสะอาดมือด้วยเจลแอลกอฮอล์หรือใช้สบู่และน้ำหากมือมีคราบสกปรกที่เห็นได้ชัด 6. เปลี่ยนหน้ากากทันทีเมื่อเปียกชื้น และใช้หน้ากากอันใหม่ที่สะอาดและแห้งแทน และ 7. เปลี่ยนหน้ากากทุกวันและซักทำความสะอาดทุกครั้ง
ภาพ วิธีสวมใส่หน้ากากอนามัย จาก องค์การอนามัยโลกประเทศไทย (2563)
การป้องกันการติดโรคไวรัสโควิด – 19 นอกจากการสวมใส่หน้ากากให้ถูกวิธีเมื่อออกไปในที่สาธารณะแล้ว การรักษาระยะห่างทางสังคม หรือ social distancing ก็ยังเป็นสิ่งที่ควรปฏิบัติอย่างเคร่งครัด หากในอนาคตรัฐบาลจะมีนโยบายผ่อนปรน ปลดล็อคประเทศ และให้ประชาชนเริ่มออกจากบ้านได้ เหตุผลว่าทำไมเรายังควรต้องรักษาระยะห่างทางสังคมควบคู่ไปกับการใส่หน้ากากนั้น จะเห็นได้จากการศึกษาวิจัยของคณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาเครื่องกลและวิศวกรรมทางทะเล มหาวิทยาลัยฟลอริด้าแอตแลนติค (Florida Atlantic University) รัฐฟลอริด้า ประเทศสหรัฐอเมริกา (Today, 2020) และ ความร่วมมือของสมาคมแพร่ภาพกระจายเสียงแห่งประเทศญี่ปุ่น (NHK) กับคณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีแห่งโตเกียว (Kyoto Institute of Technology) (NHK World-Japan, 2020) ซึ่งทำการศึกษาวิจัยถึงระยะทางและระยะเวลาการเคลื่อนที่ของฝอยละอองน้ำลายในอากาศจากการไอจาม
โดยทั้งสองการวิจัยได้ทำการศึกษาในห้องปฏิบัติการสถานการณ์จำลอง (simulation laboratory) โดยกระตุ้นให้กลุ่มตัวอย่าง มีการไอจามออกมา และทำการส่องแสงเลเซอร์ไปที่ฝอยละอองน้ำลายนั้น พร้อมกับใช้กล้องวีดีโอความเร็วสูงที่สามารถจับภาพฝอยละอองน้ำลายขนาดเล็กจิ๋วที่เรียกว่าไมโครดร็อปเลต (micro droplet) ซึ่งมีขนาดประมาณ 0.1 ไมโครมิเตอร์ (1/10,000 มิลลิมิเตอร์) บันทึกภาพเหล่านั้นไว้
ผลการวิจัยพบว่า การไอหรือจามหนึ่งครั้งจะมีจำนวนฝอยละอองน้ำลายเกิดขึ้นประมาณ 100,000 ละออง โดยฝอยละอองน้ำลายขนาดใหญ่ (> 1 มิลลิมิเตอร์) จะตกลงที่พื้นอย่างรวดเร็วภายใน 1 นาที ส่วนฝอยละอองน้ำลายขนาดเล็กจิ๋ว สามารถเคลื่อนที่ไปในอากาศได้ไกลประมาณ 1 เมตร ภายในเวลาเพียง 2 วินาที บางส่วนสามารถลอยไปได้ไกลถึง 2 เมตร ในเวลาเพียง 12 วินาที และประมาณ 3 เมตร ในเวลา 41 วินาที และหากมีการไอหรือจามแรง ๆ ฝอยละอองน้ำลายขนาดเล็กจิ๋วนั้น สามารถเคลื่อนที่ไปได้ไกลถึงประมาณ 4 เมตรเลยทีเดียว รวมถึงสามารถล่องลอยอยู่ในอากาศได้นานกว่า 20 นาที (NHK World-Japan, 2020; Today, 2020)
การศึกษาทดลองภาพ ระยะทางและระยะเวลาการเคลื่อนที่ของฝอยละอองน้ำลาย
จากการไอจามในประเทศญี่ปุ่น (NHK World-Japan, 2020)
ไม่เพียงแต่การไอจามเท่านั้น แม้แต่การพูดคุยใกล้ๆกันอย่างออกรสออกชาติ ก็จะทำให้เกิดฝอยละอองน้ำลายขนาดเล็กจิ๋วเช่นเดียวกัน และถึงแม้จะใส่หน้ากากผ้าแล้วก็ตาม หากมีการไอจาม ฝอยละอองน้ำลายก็ยังสามารถลอดช่องระหว่างหน้ากากออกมาได้ ซึ่งวิธีที่จะช่วยให้ฝอยละอองน้ำลายลดลงโดยเร็ว ก็คือ การทำให้บริเวณนั้นมีอากาศถ่ายเทได้สะดวก เช่น การเปิดประตูหน้าต่าง การติดตั้งพัดลมดูดอากาศ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม นี่เป็นเพียงการทดลองในห้องปฏิบัติการซึ่งเป็นระบบปิดเท่านั้น จึงยังควรมีการศึกษาวิจัยเพิ่มเติมในสิ่งแวดล้อมจริงต่อไป แต่จากผลการทดลองดังกล่าวข้างต้น ก็เป็นสิ่งที่ยืนยันได้ถึงความจำเป็นในการที่ต้องรักษาระยะห่างระหว่างบุคคลไว้เพื่อลดความเสี่ยงต่อการแพร่กระจายเชื้อไวรัสที่อาจมากับฝอยละอองน้ำลายขนาดจิ๋วนี้ได้
อย่างที่ทราบกันดีว่าโรคไวรัสโควิด – 19 สามารถติดต่อกันได้ผ่านละอองที่ออกมากับลมหายใจ (respiratory droplet) ซึ่งมีขนาดประมาณ 5-10 ไมโครมิเตอร์ (WHO, 2020) หรือสัมผัสสารคัดหลั่ง แต่ก็ยังไม่มีผลการศึกษาที่ยืนยันว่าฝอยละอองน้ำลายขนาดเล็กจิ๋วปริมาณเท่าใดที่จะสามารถแพร่เชื้อโรคไวรัสโควิด – 19 ได้ แต่อย่างไรก็ตามไม่ว่าเชื้อไวรัสตัวนี้จะติดต่อกันทางใด เพื่อเป็นการป้องกันไว้ดีกว่าแก้ การรักษาระยะห่างระหว่างกันอย่างน้อย 2 เมตร จึงยังคงเป็นสิ่งที่ควรปฏิบัติอย่างเคร่งครัด ควบคู่ไปกับการล้างมือและสวมใส่หน้ากากอย่างถูกวิธี
สุดท้าย ดิฉันขอเรียนทุกท่านว่า การใส่หน้ากากเป็นเพียงมาตรการเสริมเท่านั้น ไม่ใช่ว่าพอใส่หน้ากากแล้วเราจะทำอะไรก็ได้ ไม่ต้องกลัวติดโรคไวรัสโควิด – 19 สิ่งที่สำคัญที่สุดในการป้องกันตัวคือ การรักษาระยะห่างทางสังคม ล้างมือด้วยสบู่บ่อย ๆ หลีกเลี่ยงการใช้มือสัมผัสใบหน้าโดยเฉพาะบริเวณตา จมูกและปาก ถ้าหากทุกท่านทำแบบนี้ได้ ประกอบกับการใช้หน้ากากอย่างถูกต้อง โอกาสที่จะติดโรคไวรัสโควิด – 19 ก็จะลดลงอย่างมาก และจะไม่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ดังที่หลาย ๆ ท่านกำลังกังวลกันอยู่โดยเฉพาะหากมีการผ่อนปรนนโยบายการอยู่กับบ้านในระยะเวลาอันใกล้นี้ และรอจนกว่าเราจะมีวัคซีนเพื่อป้องกันเชื้อโรคไวรัสโควิด – 19 นี้ออกมา ดิฉันหวังว่าทุกท่านจะปลอดภัยและรอดพ้นจากวิกฤติครั้งนี้ไปด้วยกันนะคะ
ที่มา:
Centers for Disease Control and Prevention. (April 24, 2020). Use of Cloth Face Coverings to Help Slow the Spread of COVID-19. Retrieved from https://www.cdc.gov/coronavirus/2019-ncov/prevent-getting-sick/diy-cloth-face-coverings.html
Dwyer, C & Aubrey, A. (April 3, 2020). CDC Now Recommends Americans Consider Wearing Cloth Face Coverings in Public. Retrieved from https://www.npr.org/sections/coronavirus-live-updates/2020/04/03/826219824/president-trump-says-cdc-now-recommends-americans-wear-cloth-masks-in-public
NHK World-Japan. (March 31, 2020). Micro Droplets Suspending in Air. Retrieved from https://vimeo.com/402577241ref=fbshare&1&fbclid=IwAR3uT1AMt_VuAZF7uR8awxqgGkzPngSeMC_lLcyRlk7rfDsCIGRrEwXryos
The Economist. (April 11th, 2020). Should the public wear masks to slow the spread of SARS-CoV-2?
Today. (April 21, 2020). Why 6 Feet May not be Enough to Protect Yourself from Coronavirus. Retrieved from https://www.today.com/video/why-6-feet-may-not-be-enough-to-protect-yourself-from-coronavirus-82329669857?fbclid=IwAR1JiLhikWUi7k_2kzvZ2EjkIZa9AP9av5OPiPv B3W3qjYQvBS-xrenbTCA
เรื่องเล่าจากหย่งศรี. (23 เมษายน พ.ศ. 2563). Facebook page เรื่องเล่าจากหย่งศรี. นำเข้าจาก https://www.facebook.com/StoriesByYongsri/
องค์การอนามัยโลกประเทศไทย. (6 เมษายน พ.ศ. 2563). คำแนะนำการใช้หน้ากากอนามัยในบริบทของโรคโควิด19. นำเข้าจาก https://www.who.int/docs/default-source/searo/thailand/who-2019-ncov-ipc-masks-2020-3-th-sbf801a58a61f24765bce8c07cdf04786e.pdf?sfvrsn=59f3e281_0
World Health Organization. (March 29th, 2020). Modes of Transmission of Virus Causing COVID-19: Implications for IPC Precaution. Retrieved from https://www.who.int/news-room/commentaries/detail/modes-of-transmission-of-virus-causing-covid-19-implications-for-ipc-precaution-recommendations