นักวิจัย มน. ห่วงเยาวชน 4 ภูมิภาคอัตราสูบบุหรี่สูง เพิ่มโอกาสเสี่ยงติดเชื้อโควิด-19 

     จากกรณีที่ นายแพทย์ขจรศักดิ์ แก้วจรัส รองอธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้มีการแจ้งเตือนมายังประเทศสมาชิกทั่วโลก หลังพบกลุ่มธุรกิจยาสูบบางกลุ่มอาศัยวิกฤตการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) จัดโปรโมชั่นส่งเสริมการขายบุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า ผ่านสื่อออนไลน์ รวมทั้งมีบริการจัดส่งฟรีให้กับผู้ที่กักตัวอยู่บ้านในช่วงเฝ้าระวังโรค กรมควบคุมโรค จึงขอแจ้งเตือนประชาชนอย่าหลงกลตกเป็นเหยื่อให้กับธุรกิจยาสูบเหล่านี้ เพราะการสูบบุหรี่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อปอด และระบบทางเดินหายใจ รวมทั้งการสูบบุหรี่หรือแม้แต่บุหรี่ไฟฟ้าในช่วงเวลาที่ยังมีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ยังเป็นการเพิ่มโอกาสเสี่ยงในการติดเชื้อไวรัสดังกล่าวขณะใช้มือคีบสูบ หรือพ่นควัน ละอองไอออกมา นอกจากนี้ ยังพบว่าผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่มีประวัติการสูบบุหรี่ หรือบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งสุขภาพปอดไม่แข็งแรงจะยิ่งทำให้อาการทรุดหนัก และเสียชีวิตได้ นั้น 

     ด้าน ผศ.ดร.จักรพันธ์ เพ็ชรภูมิ หัวหน้าหน่วยปฏิบัติการวิจัยและวิชาการด้านการควบคุมยาสูบภาคเหนือ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร และหัวหน้าโครงการพัฒนามาตรการเฝ้าระวังและจำกัดการเข้าถึงผลิตภัณฑ์ยาสูบของเยาวชน ใน 4 ภูมิภาคของประเทศไทย  ให้ข้อมูลว่า จากโครงการวิจัยฯ ดังกล่าว พบว่า ตัวแทนกลุ่มเป้าหมายในการวิจัยเยาวชนทั้ง 4 ภูมิภาค ที่ประกอบไปด้วยจังหวัดต่าง ๆ ได้แก่ จ.น่านจ.ลำพูนจ.ชัยนาทจ.ร้อยเอ็ดจ.อุบลราชธานีจ.อ่างทอง จ.ยะลา และ จ.สุราษฎร์ธานี มีอัตราการสูบบุหรี่ค่อนข้างสูง 

     ในขณะที่ส่วนใหญ่ยังมีความรู้เรื่องสารพิษในบุหรี่ระดับน้อย และมีโอกาสรับรู้โอกาสเสี่ยงของการเกิดโรคที่เกิดจากการสูบบุหรี่ระดับปานกลางถึงน้อย ดังนั้น จึงเสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สถาบันการศึกษาและหน่วยงานสาธารณสุข ควรเร่งพัฒนามาตรการหรือโปรแกรมเสริมสร้างความรู้และเสริมสร้างการรับรู้โอกาสเสี่ยงของการเกิดโรคที่เกิดจากการสูบบุหรี่ให้กับเยาวชนอย่างต่อเนื่อง 

     ผศ.ดร.จักรพันธ์ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมอีกว่า จากการรวบรวมงานวิจัยที่เกี่ยวข้องที่ได้มีการศึกษาปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมการสูบบุหรี่ของเยาวชน พบปัจจัยเชิงสาเหตุของการสูบบุหรี่ของเยาวชนครอบคลุมตามกรอบแนวคิดนิเวศวิทยาเชิงสังคม (Social ecological model) ที่ประกอบด้วย 

     ปัจจัยระดับบุคคล : หมายถึง ปัจจัยภายในของเยาวชนที่มีผลต่อการสูบบุหรี่ของเยาวชน เช่น การรับรู้ถึงค่านิยมในการสูบบุหรี่ของบรรดาผู้ที่ประสบความสำเร็จหรือมีชื่อเสียง เป็นความสัมพันธ์ที่มีความเสี่ยงสูงในการสูบบุหรี่ในปัจจุบัน ความพยายามจะสูบบุหรี่ และความอ่อนไหวที่จะสูบบุหรี่ 

     ดังนั้น จากงานวิจัย นักเรียนที่กำลังศึกษาอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 จะมีปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ เพศอายุระดับผลการเรียนความรู้เรื่องพิษภัยบุหรี่ทัศนคติต่อการสูบบุหรี่ทักษะชีวิต รวมถึงการจัดการกับความเครียด เป็นต้น 

     ปัจจัยระดับระหว่างบุคคล : หมายถึง ปฏิสัมพันธ์ระหว่างเยาวชนกับบุคคลใกล้ชิดที่มีอิทธิพลต่อการสูบบุหรี่ของเยาวชน ไม่ว่าจะเป็นบทบาทของผู้ปกครอง ครู และเพื่อน เช่น 

     – ผู้ปกครอง ครอบครัวและการเลี้ยงดู พบว่า พฤติกรรมเสี่ยงของวัยรุ่นจะมีอิทธิพลมาจากการปฏิบัติของพ่อแม่ การเลี้ยงดูของครอบครัวซึ่งการมีผู้ปกครองที่ไม่สูบบุหรี่ และไม่เคยถูกเพื่อนสนิทชักชวนให้สูบบุหรี่ ช่วยให้เด็กไม่คิดที่จะสูบบุหรี่เพิ่มขึ้น เป็นต้น 

     – เพื่อน พบว่า ความสัมพันธ์ที่แข็งแกร่งมากที่สุดต่อพฤติกรรมการสูบบุหรี่ ปัจจัยสำคัญให้เยาวชนเริ่มสูบบุหรี่ คือ เพื่อน และ เยาวชนมากกว่าร้อยละ 98 มีเพื่อนที่สูบบุหรี่ เป็นต้น 

     – การได้เห็นตัวแบบ หรือประสบการณ์ของผู้อื่น (vicarious experiences) 

     ปัจจัยระดับโรงเรียน : เช่น ปัญหาด้านการเรียน การสูบบุหรี่ของครู สภาพแวดล้อมของโรงเรียนที่เด็กสามารถเดินเข้าออกโรงเรียนได้ตลอดเวลาและมีบริเวณที่กว้างมากทำให้มีหลายจุดที่ห่างไกลจากสายตาครู เช่น ห้องน้ำข้างโรงเรียน บ่อเลี้ยงปลาหลังโรงเรียน และบริเวณรั้วโรงเรียน เป็นต้น 

     ปัจจัยระดับชุมชน : เช่น ด้านสภาพแวดล้อมในชุมชน ที่ค่านิยมของคนในชุมชนที่มองว่าการสูบบุหรี่เป็นเรื่องธรรมดา จึงพบเห็นผู้ที่สูบบุหรี่ได้ทั่วไปในชุมชน และการหาซื้อบุหรี่ได้ง่ายตามร้านขายของชำในชุมชน และนักเรียนส่วนใหญ่สามารถหาซื้อบุหรี่ได้จากร้านค้าทั่วไปในชุมชน รวมถึงพฤติกรรมการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ยาสูบให้กับเยาวชนของผู้ประกอบการร้านค้าปลีกในชุมชนไม่มีการตรวจสอบอายุของผู้ซื้อก่อนจำหน่ายบุหรี่ วางโชว์บุหรี่ ณ จุดจำหน่าย จำหน่ายบุหรี่โดยให้เยาวชนเข้าถึงได้ด้วยตัวเอง จำหน่ายบุหรี่แบบแยกมวน ไม่ติดป้าย “ร้านนี้ไม่จำหน่ายบุหรี่ให้เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี” มีการบริการที่จุดบุหรี่สูบให้เยาวชนโดยไม่คิดมูลค่า และมีการจัดสถานที่ไว้ให้เยาวชนสำหรับนั่งสูบบุหรี่ 

     ปัจจัยระดับนโยบาย : ซึ่งการดำเนินงานควบคุมยาสูบในระดับจังหวัด โดยที่ในประเทศไทยมีการดำเนินการเพื่อป้องกันการสูบบุหรี่ในเยาวชนในระดับต่าง ๆ แต่ยังขาดความเชื่อมโยงที่ชัดเจนในแต่ละระดับ 

     “การป้องกันการสูบบุหรี่ในเยาวชนจะสำเร็จได้ต้องดำเนินการให้ครอบคลุมทุกระดับตามกรอบแนวคิดนิเวศวิทยาเชิงสังคม และทำให้เกิดความเชื่อมโยงระหว่างระดับในทุกมิติด้วย” ผศ.ดร.จักรพันธ์ กล่าวทิ้งท้าย 

     ขอขอบคุณข้อมูลเพิ่มเติมจาก : กองงานคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ กรมควบคุมโรค เว็บไซต์ : https://ddc.moph.go.th/brc/news.php?news=12602&deptcode=brc&news_views=807 

 

Loading

แชร์รายการนี้
fb-share-icon