ประยุกต์ใช้แบบแผนความเชื่อด้านสุขภาพ พลิกวิกฤตเป็นโอกาส จาก โควิด-19 

     คำสำคัญ Health belief model, ตลาดสดผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จักรพันธ์ เพ็ชรภูมิพฤติกรรมสุขภาพแนวคิดทฤษฏี และการประยุกต์ใช้แบบจำลองทางสังคมจิตวิทยาแบบแผนความเชื่อด้านสุขภาพโควิด-19 

     ในช่วงที่ผ่านมา เห็นมีการส่งต่อภาพเกี่ยวกับตลาดสด ตลาดนัดแห่งหนึ่ง โดยผู้เขียนบทความได้ทราบข้อมูลมาจาก อาจารย์วิจิตร คริเสถียร อาจารย์ประจำหลักสูตรพม่าศึกษา ภาควิชาภาษาตะวันออก 
คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ว่าภาพที่ได้มีการเผยแพร่กันอยู่นั้น เป็นภาพตลาดสด ตลาดนัดที่เมืองกะลอ รัฐฉาน ประเทศเมียนมา ซึ่งผู้คนในโลกออนไลน์ก็มีการแสดงความคิดเห็นกันหลากหลายมุมมอง และนำมาสู่แนวคิดกับการบริหารจัดการตลาดสด ตลาดนัดของบ้านเราในช่วงของสถานการณ์โควิด-19 ปัจจุบันและอนาคต เช่น คนขาย (ผ่านเกณฑ์คัดกรองมีฐานข้อมูลติดตามได้ ควบคุมจำนวน และใส่อุปกรณ์ป้องกัน)คนซื้อ (แสกนอุณหภูมิ และใส่อุปกรณ์ป้องกัน)สิ่งแวดล้อม (จุดบริการแอลกอฮอล์กำหนดทางเดินแบบ one way, ควบคุมความหนาแน่นจัดทำป้ายหรือสัญลักษณ์สำหรับชี้สั่ง order, กำหนดโซนสินค้า และมีแผนผังบอกตำแหน่งร้านค้า) เป็นต้น 

     จากความเข้าใจของผู้เขียนบทความเอง ได้มีโอกาสอ่านหนังสือเล่มหนึ่ง ชื่อหนังสือ “พฤติกรรมสุขภาพ : แนวคิดทฤษฏี และการประยุกต์ใช้” เขียนโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จักรพันธ์ เพ็ชรภูมิ ปัจจุบันเป็นหัวหน้าหน่วยปฏิบัติการวิจัยและวิชาการเพื่อการควบคุมยาสูบภาคเหนือ และอาจารย์ประจำกลุ่มสาขาวิชาอนามัยชุมชน คณะสาธารณสุขศาสตร์  มหาวิทยาลัยนเรศวร 

     ในหนังสือเล่มนี้ได้กล่าวถึง แบบแผนความเชื่อด้านสุขภาพ (Health belief model) เป็นแบบจำลองทางสังคมจิตวิทยา (Social-psychological Approach) ที่ถือกำเนิดขึ้นเมื่อประมาณปี ค.ศ. 1950 และนับเป็นทฤษฏีหรือแบบจำลองแรก ๆ ที่ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อใช้เป็นกรอบแนวคิดสำหรับการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมทางด้านพฤติกรรมสุขภาพ และหลังจากนั้นก็มีพัฒนาการทางความคิดที่ต่อเนื่องยาวนานมากล่าวครึ่งศตวรรษ 

     หากกล่าวโดยสรุปจากกรอบแนวคิดเชิงทฤษฏี และองค์ประกอบเชิงทฤษฏีจะพอให้แนวคิดได้ว่า แบบแผนความเชื่อด้านสุขภาพเป็นแบบจำลองที่ให้ความสำคัญกับการรับรู้ของบุคคลร่วมกับการได้รับปัจจัยกระตุ้นการปฏิบัติ โดยมีสมมติฐานว่าทั้ง 2 ปัจจัยนี้ จะทำให้เกิดพฤติกรรมสุขภาพในการป้องกันและรักษาโรคได้ ดังนั้น การที่บุคคลจะแสดงพฤติกรรมสุขภาพที่เหมาะสมหรือละเว้นพฤติกรรมสุขภาพที่ไม่เหมาะสม ก็ต่อเมื่อมีสิ่งต่าง ๆ ดังนี้ 

     -บุคคลนั้นรับรู้ถึงภาวะคุกคามของการเกิดโรค ที่เกิดจากพฤติกรรมของตนเองในปัจจุบันมีความเสี่ยงทำให้เกิดโรคตามมา และโรคที่จะเกิดตามมานั้นมีผลกระทบที่รุนแรงทั้งต่อตนเองและบุคคลใกล้ชิด 

     -บุคคลนั้นรับรู้ถึงประโยชน์หรือผลดีของการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพของตนเองว่าจะช่วยลดโอกาสเสี่ยงในการเกิดโรคและลดผลกระทบที่จะเกิดตามมา 

     -บุคคลนั้นรับรู้ถึงอุปสรรคหรือต้นทุนค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ 

     -บุคคลนั้นเกิดความเชื่อมั่นว่าตนเองจะสามารถจัดการหรือลดอุปสรรคนั้น ๆ และสามารถแสดงพฤติกรรมใด ๆ ในบรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้ได้ 

     -บุคคลนั้นได้รับปัจจัยกระตุ้นการปฏิบัติที่เหมาะสม 

     จากแนวคิดข้างต้นที่ได้จากหนังสือเล่มนี้แล้ว ยังได้ให้ข้อมูลต่ออีกว่า สามารถนำไปเป็นแนวทางประยุกต์ใช้ในการจัดกิจกรรมในแต่ละองค์ประกอบ เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ และผู้เขียนบทความเองก็มองว่าน่าจะเป็นแนวทางที่น่าสนใจในการนำมาใช้กับสถานการณ์ของโควิด – 19 ที่อาจจะเริ่มต้นที่ตลาดสด ตลาดนัดก่อน ซึ่งบางทีอาจจะช่วยได้ไม่มากก็น้อย 

     อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ได้ให้ข้อมูลอีกว่า แบบแผนความเชื่อด้านสุขภาพก็มีข้อจำกัดในการนำไปใช้กับพฤติกรรมที่ไม่สามารถอธิบายหรือปรับเปลี่ยนได้ด้วยทัศนคติและความเชื่อ รวมทั้งพฤติกรรมที่เป็นผลมาจากอิทธิพลทางสังคมและสิ่งแวดล้อม ดังนั้น ในปัจจุบันจึงมีการนำแบบแผนความเชื่อด้านสุขภาพไปใช้ร่วมกับทฤษฎีหรือแบบจำลองด้านพฤติกรรมสุขภาพอื่น ๆ มากขึ้น ทั้งนี้ก็เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์ในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพได้อย่างกว้างขวงมากยิ่งขึ้น 

 

ข้อมูลอ้างอิง 

จักรพันธ์ เพ็ชรภูมิ. (2560). พฤติกรรมสุขภาพ : แนวคิด ทฤษฎี และการประยุกต์ใช้. พิษณุโลก: สำนักพิมพ์ มหาวิทยาลัยนเรศวร. 

ขอขอบคุณภาพจาก : FB : Jain Weraphongเครือข่ายนักประชาสัมพันธ์ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร 

Loading

แชร์รายการนี้
fb-share-icon