คำสำคัญ : ตลาดนัดชุมชน, ตลาดนัดชุมชน ทางเลือกทางรอดของระบบเศรษฐกิจชุมชนในยุคโควิด (อาจ) อยู่ยาว,
ผศ.ดร.จักรพันธ์ เพ็ชรภูมิ, พัฒนาสร้างสรรค์ตลาดนัดชุมชุน, โควิด-19
ตลาดนัดชุมชน
ทางเลือกทางรอดของระบบเศรษฐกิจชุมชน
ในยุคโควิด (อาจ) อยู่ยาว
โดย ผศ.ดร.จักรพันธ์ เพ็ชรภูมิ
อาจารย์คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร
แว่ว ๆ มาว่า ต้นเดือนพฤษภาคมนี้ ห้างสรรพสินค้ารายใหญ่จะเริ่มกลับมาเปิดให้บริการอีกครั้ง เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประกอบการทั้งรายใหญ่และรายย่อยที่ขาดรายได้ และช่วยเหลือลูกจ้างบางส่วนที่ไม่ได้รับเงินเยียวยาจากภาครัฐ ภายใต้มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 อย่างเข้มข้นเพื่อเพิ่มความมั่นใจให้กับผู้บริโภค
>>> แล้ว ตลาดนัด ที่เป็นสายเลือดหลักของระบบเศรษฐกิจในชุมชน ควรเตรียมความพร้อมอย่างไรดี ?
ตลาดนัดหรือตลาดชุมชน เริ่มเป็นที่รู้จักในวงกว้างมาตั้งแต่ปี 2540 เพราะเป็นทางเลือกหนึ่งในการจับจ่ายซื้อหาสินค้าผู้บริโภค และเป็นโอกาสในการสร้างเนื้อสร้างตัวของผู้คนในชุมชน ต่อมาตลาดนัดจึงได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นจนเป็นที่ ติดตลาด มาจนถึงปัจจุบัน
ตลาดนัดจัดเป็น ตลาดประเภทที่ 3 ตาม พ.ร.บ. การสาธารณสุข พ.ศ. 2535 หมายถึง สถานที่ที่จัดไว้ให้เป็นที่ชุมนุมเพื่อจำหน่ายและซื้อหาสินค้า แบบไม่มีโครงสร้างอาคาร และเปิดทำการแบบชั่วคราวหรือเฉพาะตามวันที่กําหนด ส่วนใหญ่เปิดทำการ 1-2 ครั้งต่อสัปดาห์ ตลาดนัดจึงเป็นสถานที่ที่ต้องได้รับการอนุญาต และดูแลโดยพนักงานท้องถิ่นโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นร่วมกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่รับผิดชอบ โดยกำหนดเกณฑ์สุขลักษณะพื้นฐานไว้ 5 ข้อ คือ
1) แผงขายสินค้าสูงจากพื้นไม่น้อยกว่า 60 ซม.
2) ทางเดินระหว่างแผงห่างกันไม่น้อยกว่า 2 ม.
3) มีน้ำประปาใช้อย่างเพียงพอ
4) มีส้วมที่ถูกลักษณะไว้บริการ
5) มีการกำจัดน้ำเสียและขยะที่ถูกสุขลักษณะ
ทั้งนี้ แม้ในสถานการณ์ปกติ การจะทำให้ตลาดนัดผ่านเกณฑ์ดังกล่าวได้นั้นก็ไม่ใช่เรื่องที่ง่ายนัก มิหนำซ้ำในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดเช่นนี้ การทำให้ผ่านเกณฑ์พื้นฐานก็ยังไม่เพียงพอที่จะช่วยปกป้องคุ้มครองให้ผู้ซื้อและผู้ขายสินค้าในตลาดนัดปลอดภัยได้
>>> แล้วเราจะร่วมกันสร้างสรรค์ตลาดนัดในชุมชนของเราให้ปลอดภัยได้อย่างไร ?
ส่วนหนึ่งของคำตอบต่อคำถามดังกล่าวที่รวบรวมได้จากความคิดเห็นของบรรดานักวิชาการ ผู้บริโภค และพ่อค้าแม่ขายตัวจริงจากตลาดนัด ที่ร่วมกันโพสต์ในเฟสบุ๊คของ oh Piyarat (https://www.facebook.com/piyarat.nimpitakpong) คำตอบที่ได้เกี่ยวข้องกับความร่วมมือของบุคคล 3 กลุ่ม คือ ผู้ซื้อ ผู้ขาย ผู้ดูแลตลาดนัดและเจ้าพนักงานท้องถิ่น ดังภาพ
ท่ามกลางวิกฤติของโรคระบาดที่อาจเกิดขึ้นต่อเนื่องยาวนาน และผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมที่เริ่มปรากฏให้เห็นเป็นรูปธรรมมากขึ้น เช่น คนตกงาน ภาวะซึมเศร้า ผลผลิตทางการเกษตรและสินค้าชุมชนบางส่วนล้นตลาด ในขณะที่ผู้คนทำงานอยู่บ้านกลับเข้าไม่ถึงผลผลิตชุมชนที่มีคุณภาพเหล่านั้น
ดังนั้น ทุกส่วนของชุมชน ทั้งผู้ซื้อ ผู้ขาย ผู้ดูแลตลาดและเจ้าพนักงานท้องถิ่น และภาครัฐ ต้องร่วมมือกันสร้างสรรค์และพัฒนาตลาดนัดในชุมชนให้กลับมาเป็นพื้นที่สาธารณะที่ปลอดภัย เพื่อให้สามารถฟื้นฟูระบบเศรษฐกิจระดับชุมชน ให้กลับฟื้นคืนมาหล่อเลี้ยงชีวิตของคนในชุมชน ให้มีรายได้หมุนเวียนในชุมชน และคืนสภาพความเป็นอยู่ ความสัมพันธ์ และวิถีชีวิตของคนในชุมชนกลับคืนมาเป็นเหมือนเดิมหรือดีขึ้นกว่าเดิม