อาจารย์ด้านชีวเคมี มน. ไม่แนะนำให้ซื้อชุดตรวจโควิด 19 มาใช้เอง อาจแปลผลผิด เชื้อกระจายเพิ่ม 

     ทีมข่าวสถานีวิทยุกระจายเสียงมหาวิทยาลัยนเรศวร มน. F.M. 107.25 MHz “วิทยุเพื่อการศึกษาสร้างปัญญาสู่มวลชน” ได้ขอความรู้จากผู้ช่วยศาสตราจารย์ ร้อยโทหญิง ดร.สายศิริ มีระเสน อาจารย์ประจำภาควิชาชีวเคมี คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ มหาวิทยาลัยนเรศวร เกี่ยวกับเรื่องของชุดตรวจต่าง ๆ ที่ใช้ในช่วงสถานการณ์โควิด 19 นั้น มีชุดตรวจอะไรบ้าง และตอนนี้ประชาชนมีความกังวลใจว่า บางคนไม่มีอาการ แต่สามารถแพร่เชื้อได้นั้น จากความกังวลใจดังกล่าว มีชุดตรวจประเภทใดสามารถช่วยตรวจคัดกรองได้บ้าง มีวิธีปฏิบัติ หรือกระบวนการคัดกรอง จะมีการเจาะเข้าสู่ร่างกายป้าย หรือไม่ อย่างไรระยะเวลาการรอผลนานเพียงใดความแม่นยำมีมากน้อยเพียงใด ไม่รอช้ามาติดตามกันเลย 

 
    คำถาม ให้อาจารย์เล่าถึงว่า ที่มาของการได้มาซึ่งชุดตรวจต่าง ๆ มีกระบวนการในการพัฒนาชุดตรวจอย่างไร 

    การผลิตชุดตรวจนั้นมีที่มาจากการตรวจวินิจฉัยโรค พัฒนาขึ้นเพื่อเป็นเครื่องมือช่วยเหลือแพทย์ในการตรวจวินิฉัยโรค มีวัตถุประสงค์ คือ 

    1) เพื่อคัดกรองผู้ที่ไม่ติดเชื้อ หรือผู้ที่ไม่เป็นโรคออกจากผู้ติดเชื้อ หรือผู้เป็นโรค  

    2) เพื่อคัดแยกโรค  

    3) เพื่อจำแนกชนิด หรือสายพันธุ์ของโรค ในผู้ติดเชื้อ พาหะ และผู้ป่วย 

    สำหรับขั้นตอนการพัฒนาชุดตรวจนั้น ขั้นตอนแรก คือ ต้องผ่านการพิจารณจากคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ ต้องมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโครงสร้าง รูปร่าง ลักษณะทางพันธุกรรม  กลไกของโรค หรือเชื้อชนิดนั้น ๆ ระบบภูมิคุ้มกันเมื่อเชื้อเข้าสู่ร่างกาย เพื่อเลือกเทคนิคและเทคโนโลยีที่มีความจำเพาะเหมาะสมมาใช้ในการตรวจหาในระดับห้องปฏิบัติการ  

    เมื่อได้เทคนิคที่มีความไวความแม่นยำแล้ว จึงพัฒนาเป็นชุดตรวจที่สามารถทำได้ในระดับภาคสนาม และทดสอบความไว ความแม่นยำ ไม่เกิดผลลบลวง และต้องได้รับการรับรองมาตรฐานจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และสำนักงานกรรมการอาหารและยา (อย.) ก่อนนำออกมาใช้ตรวจจริง ซึ่งแต่ละขั้นตอนต้องใช้เวลาและงบประมาณในการทำงานวิจัยที่สูงมาก 

 

    คำถาม : ให้อาจารย์เล่าถึงว่า ปัจจุบันมีชุดตรวจต่าง ๆ ที่ใช้ในการคัดกรองโควิด 19 ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ กี่ประเภท อะไรบ้างแต่ละประเภทนำไปใช้ในกรณีใดบ้าง 

    (ข้อมูล ณ วันที่ 13 เมษายน 2563) ในปัจจุบันมีชุดตรวจที่ใช้ในการคัดกรองเชื้อโควิด-19 ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศอยู่ 3 ชนิด ได้แก่  

    1) การตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยตรงด้วยวิธี RT-PCR  เป็นวิธีหลักของการตรวจหาเชื้อไวรัส โควิด-19 ที่ใช้อยู่ในประเทศไทย โดยการตรวจหาสารพันธุกรรมของไวรัส และเป็นการตรวจที่องค์การอนามัยโรคแนะนำ เพราะมีความไว และความจำเพาะสูง สามารถตรวจหาเชื้อได้ในปริมาณน้อย ๆ รู้ผลได้ภายในเวลา 3-5 ชั่วโมง ทำให้สามารถคัดแยกผู้ป่วยได้ตั้งต่ระยะแรกที่มีการติดเชื้อเพื่อให้การรักษาได้รวดเร็ว และยังใช้ในการติดตามผลการรักษาได้  

    2) การตรวจหาภูมิคุ้มกัน หรือ Rapid test เป็นการตรวจหาแอนติบอดีในเลือดของผู้ที่ติดเชื้อไวรัส โควิด-19 ใช้เวลาตรวจประมาณ 5-15 นาที จึงเป็นที่มาของชื่อ Rapid test แต่วิธีนี้จะสามารถตรวจพบได้เมื่อมีการติดเชื้อมาเป็นระยะเวลาประมาณ 5-10 วันขึ้นไป ซึ่งเป็นระยะฟักตัว ในกรณีเพิ่งได้รับเชื้อเข้าไปในร่างกายจะไม่สามารถตรวจหาได้ หากเป็นกลุ่มเสี่ยงมาตรวจด้วยวิธีนี้แล้วไม่พบ จึงควรไล่ไทม์ไลน์พร้อมนับวัน และทิ้งช่วงแล้วกลับมาตรวจซ้ำ 

    3) การตรวจหาแอนติเจน หรือ RT-LAMP เป็นการตรวจหาแอนติเจน หรือโปรตีนของเชื้อไวรัส
โควิด19 ที่เข้าสู่ร่างกาย สามารถนำไปใช้ในการตรวจคัดกรองหาผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสโควิท19 ได้อย่างรวดเร็วแต่ความแม่นยำไม่เท่ากับวิธีแรก 

    หมายเหตุ : แอนติเจน (antigen) เป็นโปรตีนแปลกปลอมที่เมื่อเข้าสู่ร่างกายจะกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายให้ตอบสนองต่อโปรตีนแปลปลอมนี้ โดยการสร้างแอนติบอดีเพื่อใช้ในการกำจัดแอนติเจนนั้น 

    ส่วนแอนติบอดี (antibody) คือ โปรตีนที่ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายสร้างขึ้นเพื่อกำจัด ทำลาย สิ่งแปลกปลอม (แอนติเจน) ที่เข้าสู่ร่างกาย 

 

    คำถาม เนื่องจากประชาชนมีความกังวลใจว่า บางคนไม่มีอาการแต่สามารถแพร่เชื้อได้นั้น จากความกังวลใจดังกล่าว มีชุดตรวจประเภทใดสามารถช่วยตรวจคัดกรองได้บ้างมีวิธีปฏิบัติ หรือกระบวนการคัดกรอง จะมีการเจาะเข้าสู่ร่างกายป้าย หรือไม่ อย่างไรระยะเวลาการรอผลนานเพียงใดความแม่นยำมีมากน้อยเพียงใด 

    เมื่อได้รับเชื้อไวรัสโควิด-19 เข้าสู่ร่างกาย จะยังไม่มีอาการแสดง เพราะเชื้อจะต้องใช้ระยะฟักตัวประมาณ 14 วันจึงจะเริ่มแสดงอาการ ซึ่งในผู้ป่วยบางคนก็ไม่แสดงอาการ ทำให้ขาดการป้องกันตัวเองและอาจแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่นได้ ชุดตรวจที่สามารถตรวจคัดกรองได้ก็คือการตรวจหาสารพันธุกรรมของเชื้อไวรัส
โควิด-19 โดยตรง 

    วิธีการเก็บสิ่งส่งตรวจ แพทย์จะเก็บเยื่อบุในคอโดยการป้ายคอ (throat swab) เนื้อเยื่อหลังโพรงจมูก (Nasopharyngeal swab) ซึ่งเป็นบริเวณทางเดินหายใจส่วนบนและส่วนล่าง โดยใช้ไม้พันสำลีที่ปราศจากเชื้อแหย่เข้าไปในโพรงจมูก หากพบว่าเชื้อลงปอดแล้ว จะส่องกล้องเพื่อดูดเสมหะในปอดออกมา ซึ่งในระหว่างการเก็บสิ่งส่งตรวจอาจทำให้เกิดการไอ จามซึ่งทำให้เชื้อกระจายไปทั่ว ฉะนั้น ผู้เก็บจะต้องสวมชุดป้องกัน PPE และสวมหน้ากาก N95 ทุกครั้ง 

    จากนั้นจะนำสิ่งส่งตรวจมาสกัดสารพันธุกรรมและตรวจหาสารพันธุกรรมด้วยเทคนิค RT-PCR ซึ่งใช้เวลาในการตรวจประมาณ 3-5 ชั่วโมง วิธีนี้สามารถแปลผลการตรวจได้อย่างแม่นยำ ทำให้แพทย์สามารถให้การรักษาได้ทันเวลา 

 

    คำถาม ปัจจุบันประเทศไทยจะมีการตรวจคัดกรองด้วยชุดตรวจใดชุดตรวจดังกล่าวสามารถหาซื้อมาใช้เองได้หรือไม่ อย่างไร 

    ปัจจุบันประเทศไทยใช้การตรวจหารสารพันธุกรรมของเชื้อไวรัสโควิด19 โดยตรงด้วยวิธี RT-PCR  ซึ่งเป็นวิธีตรวจมาตรฐานที่งค์การอนามัยโรคแนะนำ รวมทั้งชุดตรวจ Rapid test  โดยขั้นตอนการเก็บสิ่ง ส่งตรวจ การตรวจวิเคราะห์ และการแปลผลต้องทำโดยผู้เชี่ยวชาญ จึงไม่แนะนำให้ซื้อชุดตรวจมาใช้ตรวจด้วยตนเอง เพราะหากเก็บสิ่งส่งตรวจไม่ถูกวิธี หรือทำการตรวจโดยไม่สัมพันธ์กับอาการและระยะเวลาของโรค หรือแปลผลโดยขาดความชำนาญจะทำให้แปลผลผิด และอาจทำให้เกิดการแพร่กระจายของเชื้อเพิ่มมากขึ้น 

 

    คำถาม ทราบมาเบื้องต้นว่า ท่านอาจารย์กำลังศึกษาการพัฒนาชุดตรวจ รบกวนเล่าสู่กันฟังว่าการศึกษาดังกล่าวเป็นอย่างไรดำเนินงานถึงขั้นตอนใดข้อค้นพบที่น่าสนใจ 

    อาจารย์กำลังพัฒนาชุดตรวจโรคเบตาธาลัสซีเมียชนิดรุนแรงที่พบมากในประเทศไทย ซึ่งได้รับ
การสนับสนุนงบประมาณการทำวิจัยจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เพื่อนำไปใช้ตรวจคัดกรองหาคู่เสี่ยงที่มีลูกเป็นโรคเบตาธาลัสซีเมียชนิดรุนแรงในภาคสนาม และในระดับโรงพยาบาลปฐมภูมิ  

    ขณะนี้มีเทคนิคที่สามารถตรวจการกลายพันธุ์ของยีนเบตาธาลัสซีเมียที่พบมากในประเทศไทย และกำลังพัฒนาเป็นชุดตรวจที่สามารถตรวจได้โดยไม่ต้องใช้เครื่องมือที่ซับซ้อน มีราคาสูง มีความไวและแม่นยำสามารถตรวจได้ภายในเวลาเพียง 30 นาที 

 

    คำถาม ให้ท่านอาจารย์ กล่าวฝากถึงผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในช่วงสถานการณ์ระบาดของ โควิด 19 
เป็นการทิ้งท้าย 

    ขอให้กำลังใจแก่บุคลากรทางการแพทย์ทุก ๆ ท่านที่ทำงานหนักเพื่อพวกเรา ขอให้ทุกท่านระมัดระวังและป้องกันตัวเองโดยสวมหน้ากากอนามัยทุกครั้งที่ออกนอกบ้าน หากไปในพื้นที่ ๆ ที่มีคนมาก  เมื่อกลับเข้าบ้านอย่าลืมล้างมือฟอกสบู่ อาบน้ำสระผมทันที “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” แล้วพวกเราจะผ่านวิกฤตินี้ไปด้วยกันนะคะ 

Loading

แชร์รายการนี้
fb-share-icon