อาจารย์ มน. แนะพ่อแม่เล่าให้ลูกเข้าใจด้วยข้อความง่าย ๆ กรณีโควิด 19 ลดเด็กตื่นตระหนก 

อาจารย์ มน. แนะพ่อแม่เล่าให้ลูกเข้าใจด้วยข้อความง่าย ๆ กรณีโควิด 19 ลดเด็กตื่นตระหนก 

ความรู้สึกกดดันทางจิตใจในช่วงที่ต้องพักพิงอยู่เฉพาะภายในบ้าน (shelter-at-home) 

    ดร.มาณิกา เพชรรัตน์ อาจารย์ประจำกลุ่มสาขาการพยาบาลสุขภาพจิตและจิตเวช คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวว่า “แน่นอนว่า ตอนนี้ประชาชนไทยเกินครึ่งต้องแยกตัวและพักอยู่เฉพาะภายในที่พักอาศัยของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็น บ้าน คอนโด หรือหอพัก ฯลฯ ซึ่งถือว่าเป็นความร่วมมือร่วมใจที่ดีเพื่อช่วยกันหยุดยั้งการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ COVID – 19 แต่ในขณะเดียวกันการที่ต้องพักพิงอยู่เฉพาะภายในบ้านก็อาจส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจอยู่ไม่ใช่น้อย 

    จิตแพทย์ และนักจิตวิทยาของสหรัฐ กล่าวไว้ว่า หลังจากนี้เราจะเห็นจำนวนผู้ที่มีปัญหาทางสุขภาพจิตเพิ่มมากขึ้นอย่างน่าตกใจ ไม่ว่าจะเป็นความรู้สึกโดดเดี่ยว รู้สึกหวาดหวั่นไม่แน่ใจ กลัว ตื่นตระหนก วิตกจริต เครียด หรือซึมเศร้า เป็นต้น (Safai2020) โดยเฉพาะในช่วงที่ต้องแยกห่างจากสังคม ต้องกักตัวอยู่บ้านคนเดียว เพราะปกติแล้วมนุษย์เราเป็นสัตว์สังคมและมักจะอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม 

    ศาสตราจารย์อิริค ไคลนินเบิร์ค อาจารย์จากคณะสังคมวิทยา มหาวิทยาลัยนิวยอร์ค และนายแพทย์วิวิค เมอร์ธี่ ศัลยแพทย์ทั่วไป จากประเทศสหรัฐอเมริกากล่าวไว้ว่า ผู้ที่มีความรู้สึกโดดเดี่ยวอยู่เป็นระยะเวลานานจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่าง ๆ มากขึ้น เช่น โรคหัวใจ โรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล และโรคสมองเสื่อม เป็นต้น และจะเสียชีวิตก่อนวัยอันควร พอๆกับผู้ที่ติดเหล้าและบุหรี่ (Dubner, 2020) ซึ่งหากเราต้องแยกห่างจากสังคม พักอาศัยอยู่เพียงลำพัง และมีความรู้สึกโดดเดี่ยวเป็นเวลานาน ย่อมส่งผลกระทบต่อการมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างแน่นอน 

    นอกจากนี้ เราจะเห็นจำนวนผู้ป่วยโรคย้ำคิดย้ำทำ เพิ่มมากขึ้นเช่นกัน เพราะคนเราจะระแวดระวังกังวลกลัวเชื้อไวรัส และหมกมุ่นอยู่กับการล้างมือและทำความสะอาดสิ่งของเครื่องใช้ต่าง ๆ บ่อยขึ้นจนกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวันเป็นเท่าตัว (Safai2020) 

    ผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยาแนะนำวิธีการที่จะช่วยลดความเครียดดังกล่าว โดยเฉพาะผู้ที่ต้องแยกตัวอยู่คนเดียวและต้องทำงานอยู่ที่บ้าน (work from home) โดยให้บุคคลเหล่านั้นคงกิจวัตรประจำวันของตนเองไว้ เช่น ตื่นนอนตามเวลาปกติในวันทำงาน อาบน้ำแต่งตัวเสมือนหนึ่งว่าไปทำงาน จัดช่วงเวลาพักเบรค จัดสิ่งแวดล้อมให้เหมาะแก่การทำงาน จัดตารางการทำงานและตั้งเป้าหมายงานที่ต้องทำให้เสร็จในแต่ละวัน เคลื่อนไหวร่างกายและออกกำลังกายในบ้านเท่าที่จะทำได้ เช่น โยคะ เต้นเเอโรบิก ฯ อาจออกไปชมสวน ดูความชุ่มชื่นเขียวขจีของต้นไม้ ดอกไม้ที่เราปลูกไว้ เพราะมีงานวิจัยบอกว่าการได้สัมผัสใกล้ชิดกับธรรมชาติอย่างน้อยเป็นเวลา 120 นาทีต่อสัปดาห์ (เฉลี่ยวันละประมาณ 17 นาที)  จะช่วยลดความเครียดและวิตกกังวลและทำให้มีสุขภาพที่ดีได้ (White et al., 2019) 

    และที่สำคัญควรจำกัดเวลาการรับข้อมูลข่าวสารในแต่ละวัน เพราะในขณะนี้มีข้อมูลข่าวสารทั้งในสื่อโซเชียล ทีวี วิทยุและข่าวลือต่าง ๆ เกี่ยวกับโคโรน่าไวรัส 2019 อย่างมากมาย อาจยิ่งกระตุ้นให้เกิดความรู้สึกเครียดและกังวลอย่างท่วมท้นขึ้นมาได้ 

    พ่อแม่ที่มีลูกเล็กและต้องจำกัดบริเวณให้อยู่แต่ภายในบ้านหรือคอนโด แน่นอนว่าลูกจะรู้สึกอึดอัดและไม่เข้าใจกับสถานการณ์ดังกล่าว พ่อแม่ควรอธิบายให้ลูกเข้าใจว่ากำลังเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นด้วยข้อความง่ายๆ แต่ไม่ควรทำให้ลูกตื่นตระหนกมากจนเกินไป และย้ำเสมอว่าเดี๋ยวเหตุการณ์จะผ่านไปและจะเป็นไปในทางที่ดีขึ้น เพื่อให้ลูกรู้สึกว่ามีความหวังในชีวิต ควรหากิจกรรมบันเทิงทำร่วมกันอย่างที่เราเคยทำในอดีต  เช่น ทำอาหาร ดูหนัง วาดรูป ทำสวน เล่นขายของ ฯ 

    และที่สำคัญที่สุดต้องอย่าลืมดูแลกายและใจของตัวเอง แต่ถ้าหากใครมีความเครียด วิตกกังวลหรือปัญหาทางสุขภาพจิตรุนแรง ต้องรีบโทรปรึกษาหรือนัดหมายไปพบจิตแพทย์โดยเร็ว หรือโทรสายด่วนกรมสุขภาพจิต 1323 เพื่อขอคำแนะนำต่างๆ ที่เหมาะสมต่อไป 

     อย่าลืมว่าการระบาดของโคโรน่าไวรัส 2019 เป็นสถานการณ์ชั่วคราว เราเคยผ่านหตุการณ์ที่ร้ายแรงต่าง ๆ มาแล้วมากมาย และครั้งนี้เราจะร่วมมือร่วมใจกันเพื่อให้ผ่านเหตุการณ์นี้ไปด้วยกัน เหมือนเช่นที่เคยเป็นมาอีกครั้ง ขอเป็นกำลังใจให้ทุกท่านผ่านพ้นช่วงวิกฤตินี้ไปด้วยกันนะคะ” ดร.มาณิกา เพชรรัตน์ อาจารย์ประจำกลุ่มสาขาการพยาบาลสุขภาพจิตและจิตเวช คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยานเรศวร กล่าว 

อ้างอิง: 

Dubner, S. (February 262020). Is there Really a “Loneliness Epidemic”? Retrieved from https://freakonomics.com/podcast/loneliness/  

    Safai, Y. (March 242020). Anxiety and Depression Likely to Spike among Americans as Coronavirus Pandemic Spreads. Retrieved from https://abcnews.go.com/Health/ anxiety -depression-spike-americans-coronavirus-pandemic-spreads/story?id69749677&fbclid=IwAR0QvLFUtqakYxz4i__2VDlSHypxPGLMI0aovmRHynvhZ8JHtJJHa96ingY 

    White et al. (2019). Spending at Least 120 Minutes a Week in Nature is Associated with Good Health and Wellbeing. Scientific Reports, 9(7730). doi.org/10.1038/s41598-019-44097-3 1 

ขอขอบคุณภาพการ์ตูนประกอบบทความ : https://www.wegointer.com 

 

Loading

แชร์รายการนี้
fb-share-icon