รพ.ทันตกรรม มน. เน้นคัดกรองผู้รับบริการก่อนให้บริการทันตกรรม ลดเสี่ยงติด COVID-19 

     เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2563 เวลา 12.40 น. ผศ.ทพ.ดร.ธนพล ศรสุวรรณ รองผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาคุณภาพและนวัตกรรม โรงพยาบาลทันตกรรม คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ร่วมให้สัมภาษณ์ประเด็น “สถานการณ์ COVID – 19 กับการทำฟัน จะมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ อย่างไร” กับรายการเครือข่ายสายตรงวิทยุสถาบัน ช่วงสนทนาสถาบัน ซึ่งมีการออกอากาศผ่านสถานีวิทยุกระจายเสียงของแต่ละมหาวิทยาลัยครอบคลุมในทุกภูมิภาคของประเทศไทย โดยทีมข่าวของสถานีวิทยุกระจายเสียงมหาวิทยาลัยนเรศวร ได้สรุปข้อมูลการให้สัมภาษณ์มาฝากกัน 

 

คำถาม จากสถานการณ์ COVID -19 กับการทำฟันจะมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ อย่างไร  

     จริง ๆ แล้ว กระบวนการรักษาทางทันตกรรม ต้องยอมรับว่าการทำฟันมีความเสี่ยงต่อการแพร่กระจายเชื้อได้ เพราะว่าการรักษาหลัก ๆ จะต้องมีการใช้น้ำเข้ามาช่วย เช่น การกรอเตรียมฟัน การขูดหินปูน ที่ประชาชนส่วนใหญ่ก็จะมารับบริการก็จะเพิ่มโอกาสการแพร่กระจายเชื้อจากภายในช่องปากที่เกิดจากละอองฟอยไปในอากาศได้ เพราะฉะนั้นเวลาที่ผู้ป่วยมาต้องเน้นในเรื่องของการคัดกรองโรคและการลดเชื้อในช่องปากรวมถึงการกระจายละอองฝอยดังกล่าวให้ได้มาตรฐาน จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยในการติดเชื้อจากการทำฟันได้ 

 

คำถาม ขั้นตอนในการคัดกรองต้องผ่านกระบวนการมาตรการ อย่างไร 

     กระบวนการคัดกรองของโรงพยาบาลทันตกรรม คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิททยาลัยนเรศวร  จะมีการจำกัดการเข้าออกของผู้ที่มารับบริการ รวมทั้งเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาล คือ บุคลากรทุกคนต้องผ่านการคัดกรองทุกครั้งที่เข้ามาในโรงพยาบาลโดยที่จุดคัดกรองจะมีการวัดไข้ ร่วมกับการซักประวัติความเสี่ยงต่าง ๆ โดยหากว่าเราพบผู้ที่ต้องสงสัยหรือเข้าข่ายเฝ้าระวังก็จะดำเนินการตามกองควบคุมและป้องกัน การแพร่กระจายเชื้อ ของกระทรวงสาธารณสุขต่อไป 

 

คำถาม ทางโรงพยาบาลเองมีความจำเป็นที่จะต้องเลื่อนนัดผู้ที่มีอาการเจ็บป่วยไม่มากออกไปก่อน หมายถึงว่า ถ้าแค่มาขูดหินปูน ต้องเลื่อนไปก่อน เหล่านี้มีความจำเป็นหรือไม่ อย่างไร 

     เนื่องจากว่า จากสถานการณ์ในปัจจุบันเหมือนการกระจายการติดเชื้อ หรือรายงานการติดเชื้อก็มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น เพราะฉะนั้นการรักษาทางทันตกรรมที่ไม่เร่งด่วน เช่น ผู้ที่เข้ามารับการตรวจทุก  6 เดือน ถ้าเป็นไปได้โดยเฉพาะในประชาชนกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีอาการทางปอด หรือกลุ่มผู้ที่มีโรคหัวใจ มีเบาหวาน มีโรคประจำตัวอื่น ๆ ก็อาจจะเลื่อนไปก่อนได้ก็จะเป็นการดี 

     แต่อย่างไรก็ตาม หากประชาชนที่ต้องการเข้ารับบริการยังคงเข้ารับบริการได้ แต่ขอให้ผ่านจุดคัดกรองและให้ประวัติการเดินทาง ประวัติการสัมผัส ผู้ที่มีความเสี่ยงที่จะมีการติดเชื้อ 

 

คำถาม หากกรณีที่ผู้รับบริการตรวจคัดกรอง แล้วมีไข้ ทางโรงพยาบาลจะดำเนินการอย่างไร 

     ทางโรงพยาบาลจะมีการอ้างอิงตามประกาศของทันตแพทยสภา ข้อมูลวันที่ 6 มีนาคม 2563  ซึ่งเกณฑ์การคัดกรองที่เราใช้ก็คือ ดูจากประวัติการเดินทาง ประวัติการสัมผัส กลุ่มผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง รวมถึงการมีไข้ ถ้าเกิดว่า คนที่มารับบริการมีสภาวะทั้งสองอย่างร่วมกัน เราจะถือว่าเป็นกรณีที่อาจจะต้องมีการรายงานไปทางกรมควบคุมโรคแต่ถ้าเกิดว่าถ้ามีอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น ถ้ามีประวัติการเดินทางแต่ไม่มีไข้ จะแนะนำให้ผู้ที่มารับบริการกักตัวเองเป็นเวลา 14 วันก่อน จึงค่อยมารับบริการได้ตามปกติ แต่หากว่ามีไข้แต่เพียงอย่างเดียว จะดูที่กระบวนการที่จะเข้ามารับบริการหากยังไม่ได้มีความจำเป็นเร่งด่วน จะมีการแนะนำให้รอหายไข้ก่อนมารับบริการ 

 

คำถาม ถ้าเกิดสมมติว่า ผู้มารับบริการไม่มีไข้ แต่อาจจะไปต่างประเทศมา หรือไปประเทศกลุ่มเสี่ยงกลับมาแล้วเข้าใจว่าตัวเองไม่เป็นอะไร ตรงนี้จะมีการซักประวัติด้วยหรือไม่ 

     มีการซักประวัติ ตามแบบคัดกรองของกรมควบคุมโรค ถ้าเกิดคนไข้ผ่าน แล้วอยู่เลยช่วงเวลาที่กักตัวเองมาแล้ว 14 วัน ไม่มีไข้ก็รับบริการได้ตามปกติ 

 

คำถาม ถ้ากรณีที่อยู่ในระยะกักตัว 14 วัน แล้วเกิดอาการ เช่น ปวดฟันกระทันหัน ฟันแตก หรืออื่น ๆ แล้วต้องเข้ารับการรักษาทางทันตกรรมอย่างเร่งด่วน ได้มีการเตรียมแผนส่วนนี้ไว้หรือไม่ ว่าจะมีขั้นตอนในการรักษาคนกลุ่มเสี่ยงอย่างไร ทั้งนี้ เน้นเฉพาะผู้อยู่ในระยะกักตัว 14 วัน เท่านั้น 

     ถ้าทราบประวัติตัวเองชัดเจนแล้วว่า เดินทางในพื้นที่เสี่ยงมา กลับจากต่างประเทศ แล้วกำลังกักตัวเองอยู่ มีอาการปวดฟัน หรือมีอาการฉุกเฉินต่าง ๆ แนะนำว่าให้โทรมาที่โรงพยาบาลทันตกรรมล่วงหน้าก่อนได้ ซึ่งทางโรงพยาบาลมีมาตรการเตรียมรับกรณีเหล่านี้ไว้ เพราะว่าอาจจะมีการป้องกันตัวทันตแพทย์ด้วยในการทำฟันในสภาวะที่มิดชิดมากกว่าเดิม มีห้องเฉพาะผู้ป่วยที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อก็สามารถทำได้ แต่ต้องได้รับข้อมูลล่วงหน้า 

 

คำถาม ประชาชนจะต้องเตรียมตัวในกรณีที่จะต้องเข้าไปรับบริการ อย่างไร 

     นอกจากการรักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงแล้ว ก็ควรต้องรักษาสุขภาพภายในช่องปากให้ดีด้วย เพื่อให้สุขภาพช่องปากของเราเองแข็งแรงอยู่เสมอ และก็ลดความจำเป็น ช่วยยืดระยะเวลาการมาพบ ทันตแพทย์ได้ จนสภาวะการณ์ติดเชื้อในประเทศสามารถควบคุมได้ดีขึ้น นอกจากนี้ ในกลุ่มของผู้สูงอายุ  ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ เบาหวาน ผู้สูบบุหรี่ และผู้ที่มีสภาวะปอดอ่อนแอ เราถือว่าอาจจะเป็นกลุ่มเสี่ยง ดังนั้น การมาทำฟันถ้าเลี่ยงได้ก็ขอให้เลี่ยงไปก่อน เช่น การมาตรวจฟันรอบประจำ 6 เดือน ก็อาจจะเลื่อนการทำฟันไปได้ก่อน อาจจะเลื่อนเป็น 1 ปีก็ได้ และหากมีความจำเป็นที่จะต้องมารับการรักษา เช่น  ปวดฟัน มีหนอง ก็สามารถมาพบทันตแพทย์ได้ เพียงแต่ว่าให้โทรมาแจ้งก่อนพร้อมกับการให้ประวัติที่ชัดเจน 

     สำหรับผู้ที่ต้องการเข้ามารับบริการปกติ อยากจะให้ผ่านจุดคัดกรองและให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ในการให้ประวัติการเดินทางและการสัมผัสผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงให้ตรงกับความเป็นจริง 

 

คำถาม นอกจากประชาชนที่เข้าไปรับบริการแล้ว ปัจจุบันนี้บุคลากรทางการแพทย์ก็เป็นกลุ่มที่
น่าเป็นห่วง และมีโอกาสเสี่ยงมาก ๆ เพราะต้องใกล้ชิด ทันตแพทย์ก็เช่นกัน โรงพยาบาลทันตกรรม คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร มีมาตรการในการป้องกันไม่ให้ทันตแพทย์มีความเสี่ยง สุ่มเสี่ยง ต่อการติดเชื้อไวรัส COVID – 19 อย่างไรบ้าง 

     ทันตแพทย์ ถือว่าเป็นบุคลากรทางด้านการแพทย์ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงอันดับต้น ๆ เลย ที่มีความเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อโคโรน่าไวรัส 2019 ซึ่งสำหรับตัวทันตแพทย์เองก็มีการสวมเครื่องป้องกันอย่างมิดชิดตามที่ได้รับคำแนะนำจากทันตแพทยสภา เช่น การสวมหมวกคลุมผม แผงป้องกันใบหน้า หน้ากากอนามัย ถุงมือชนิดใช้แล้วทิ้ง และแว่นป้องกัน ร่วมกับการล้างมือด้วยสารที่ฤทธิ์ฆ่าเชื้อ กรณีที่ต้องมีการทำหัตถการที่เกิดละอองฝอยเราจะมีการทำงานร่วมกับเครื่องดูดน้ำลายภายในช่องปากความแรงสูงร่วมด้วยทุกกรณี 

     สำหรับกระบวนการบางอย่างที่ทันตแพทย์พิจารณาว่าสามารถแยกฟันด้วยแผ่นยางกันน้ำลายเพื่อให้สามารถทำงานได้เฉพาะที่ตัวฟันได้ โดยไม่มีการปนเปื้อนในสภาวะปลอดเชื้อ เราก็จะเลือกที่จะทำวิธีนั้น” 

 

คำถาม ขณะนี้มีแนวทาง หรือลำดับขั้น ในกรณีถ้าเกิดการระบาดไปมากกว่านี้จะต้องหยุดให้บริการไปเลย ตรงจุดนี้ได้วางแผนไว้อย่างไรบ้าง 

     เราจะมีกระบวนการที่ชัดเจนมากขึ้น โดยการรักษาที่ไม่มีอาการปวดหรือไม่ใช่การรักษาฉุกเฉินเราก็จะมีการเลื่อนไปก่อน เพราะว่ามีข้อจำกัดของชุดอุปกรณ์ควบคุมการติดเชื้อทั้งในส่วนของตัวบุคลากรผู้ให้บริการเองและก็สถานที่ต่าง ๆ ก็ค่อนข้างจำกัด เราก็จะต้องมีการเตรียมอุปกรณ์ต่าง ๆ ตรงส่วนนั้นให้กับผู้ที่มีอาการฉุกเฉินจริง ๆ” 

 

คำถาม โรงพยาบาลได้มีการเตรียมพร้อมทรัพยากรต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ถือว่าขณะนี้มีความพร้อมหรือไม่ หากเกิดการระบาดเฟส 3 จริง ๆ 

     ทางคณะได้มีการประสานไปทางกระทรวงสาธารณสุข ขอให้มีการจัดสรร คือจริง ๆ แล้ว  เราประสานไปทางองค์กรของทันตแพทย์ในทุกมหาวิทยาลัยในประเทศไทยว่าให้มีการประสานงานกับกระทรวงสาธารณสุข ว่าขอให้มีการจัดสรรหน้ากากอนามัย ถุงมือ ให้กับบุคลากรทางการแพทย์ และทันตแพทย์ ซึ่งก็ได้รับการจัดสรรมา เพราะฉะนั้นตอนนี้สต๊อกของโรงพยาบาลทันตกรรมที่มีเพียงพอที่จะสามารถรับสถานการณ์ได้ในปัจจุบัน ในเรื่องของน้ำยาฆ่าเชื้อก็มีการเตรียมสารบางอย่างได้ด้วยคณะเอง และมีการจัดซื้อเตรียมสต๊อกของสารตั้งต้นเพื่อผลิตสารฆ่าเชื้อต่าง ๆ ไว้พร้อมอยู่แล้ว ตอนนี้ก็มีพอเพียงที่จะใช้ต่อไป 

 

คำถาม จากสถานการณ์ โรค COVID – 19 มีการประเมินในระยะยาว อย่างไร 

     มีการติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิด ให้ทางเจ้าหน้าที่ผู้ประสานงานคอยคัดกรอง ซึ่งสิ่งที่สำคัญตอนนี้การคัดกรองเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ไม่อยากให้มีผู้รับบริการที่ผ่านจุดการคัดกรองโดยที่ไม่ได้รับการคัดกรอง และผู้ป่วยที่มาปะปนกับผู้รับบริการ 

 

คำถาม กล่าวฝากในฐานะทันตแพทย์ 

     ในฐานะทันตแพทย์ อยากจะเน้นในเรื่องของการดูแลสุขภาพภายในช่องปาก ส่วนในเรื่องข่าวสาร ต่าง ๆ อยากให้มีสติ พิจารณาจากหลาย ๆ แหล่ง ถ้าสงสัยก็อาจจะถามตามแหล่งข้อมูลต่าง ๆ มหาวิทยาลัยต่าง ๆ น่าจะมีศูนย์การให้ข้อมูลเหล่านี้อยู่ เพื่อให้ได้ข้อมูลจากแหล่งที่น่าเชื่อถือเป็นสิ่งสำคัญ ที่จะช่วยให้รับทราบข้อมูลอย่างถูกต้อง  

     สำหรับเรื่องของหน้ากากอนามัยที่ตอนนี้เป็นวิกฤตอยู่ ก็อยากจะให้ประชาชนใช้หน้ากากผ้าก็ได้ เพียงแต่ว่าจะต้องมีวินัยในตนเอง การล้างมือ สุขลักษณะการทำความสะอาดมือ ไม่จับใบหน้า และในฐานะของทันตแพทย์ก็ฝากอีกว่า การแปรงฟันสามารถทำได้ทุกคนง่าย ๆ ถ้าเราแปรงได้สะอาด เราไม่จำเป็นต้องมาพบทันตแพทย์บ่อย 

 

  

 

 

 

 

Loading

แชร์รายการนี้
fb-share-icon