อาจารย์พยาบาล ม.นเรศวร มองเห็นโอกาส เพื่อศึกษาความต้องการ การสนับสนุนแหล่งรองรับ ของการเคลื่อนย้ายแรงงาน และศึกษาเชิงระบบประเทศที่มีการกักกันเชื้ออย่างมีประสิทธิภาพ กรณี COVID-19
ทีมข่าวสถานีวิทยุกระจายเสียงมหาวิทยาลัยนเรศวร F.M.107.25 MHz ได้ร่วมเข้าพูดคุยเกี่ยวกับการร่วมถอดบทเรียน คณะพยาบาลศาสตร์ กับบทบาทด้านการเรียน การสอน จากการบรรยายของ Prof.Dr.Barbara Mawn ซึ่งได้รับเกียรติจาก ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สมศักดิ์ โทจำปา รองคณบดีฝ่ายวิจัย วิเทศสัมพันธ์และบัณฑิตศึกษา, ดร.ขวัญแก้ว วงษ์เจริญ อาจารย์ประจำกลุ่มวิชาการพยาบาลผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ, ดร.อลงกรณ์ อักษรศรี อาจารย์ประจำกลุ่มวิชาการพยาบาลเด็ก และ ดร.ปวงกมล กฤษณบุตร อาจารย์ประจำกลุ่มวิชาการพยาบาลผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ ที่ผ่านมา
ดร.ขวัญแก้ว วงษ์เจริญ ได้ร่วมให้แนวคิดส่วนหนึ่งเกี่ยวกับประเด็นสังคมด้านสุขภาพว่า “ตอนนี้ยังไม่มีใครเคยถามว่าความต้องการจริง ๆ ในการสำรวจภาพรวมของผู้ที่เข้าไปทำงานอย่างผิดกฎหมายที่ประเทศเกาหลี
ว่าความต้องการเขาพวกเขาคืออะไร นอกจากนั้น ยังไม่เคยมีใครไปทำการศึกษาว่าประเทศไทย มีแหล่งที่จะสนับสนุนรองรับ หรือมีความพร้อมมากน้อยเพียงใด มีสิ่งอำนวยความสะดวก จำนวนเตียง จำนวนเจ้าหน้าที่ มีอุปกรณ์ที่ป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อกระจายออกไปยังคนหมู่มากอย่างไร รวมถึงยังไม่มีการศึกษาในเชิงระบบว่า บางประเทศที่ทำการกักกันเชื่อได้อย่างมีประสิทธิภาพทำอย่างไร
ดร.ขวัญแก้ว ให้แนวคิดเพิ่มเติมอีกว่า หากได้มีการนำแนวคิดมาปรับ มาศึกษา อาจจะได้องค์ความรู้ใหม่ ๆ เพราะต้องยอมรับว่าทุกวันนี้มีการเดินทางข้ามประเทศง่ายมากขึ้น โอกาสการแพร่กระจายเชื้อก็ง่ายมากขึ้นด้วย COVID-19 คงไม่ใช่โรคสุดท้ายที่เราจะเจอ มีโรคอื่น ๆ ที่เราจะต้องพบเจออีก หากมีแนวทางซึ่งแนวทางนี้สร้างขึ้นมาจากผลการศึกษาที่น่าเชื่อถือได้นำมาปรับใช้ ในอนาคตเราอาจจะมีการเตรียมพร้อม รับมือกับโรคเหล่านี้ได้มากขึ้น” ดร.ขวัญแก้ว กล่าวให้แนวคิดเพิ่มเติม
“การวัดว่าใครได้รับผลกระทบมากกว่าใครค่อนข้างวัดยาก ในมุมมองของเราอาจจะมองว่าได้รับผลกระทบมากที่สุด เพราะว่าเราอยู่ในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูง จากการขอกลับเข้ามาสู่ประเทศบ้านเกิดเมืองนอน ส่วนคนที่อยู่ในประเทศอยู่แล้วก็รู้สึกว่าตอนนี้สถานการณ์กำลังดี อย่าเข้ามาเพิ่มความรุนแรงได้หรือไม่ ชีวิตประจำวันปกติมันจะเสียไป แต่ละคนมีระดับความรู้สึกได้รับผลกระทบต่างกันและวัดยาก แต่ในทัศนะของตัวอาจารย์เอง คิดว่าคงไม่มีวิธีหรือแนวทางใดที่จะทำให้คนทุกฝ่ายพึงพอใจร้อยเปอร์เซ็นต์ เพียงแต่ว่าเราต้องป้องกันคนหมู่มากอย่างไรไม่ให้ได้รับผลกระทบ เพราะฉนั้นอาจารย์จะให้น้ำหนักหรือการป้องกันไม่ให้คนหมู่มากหรือคนในประเทศไทยของเราได้รับผลกระทบน้อยที่สุด
อยากจะย้ำประชาชนว่าอย่าตื่นตระหนก คำว่า “ตื่นตระหนก” ส่วนมากจะเกิดมาจาก 1. ความไม่รู้ 2. ความไม่ไว้วางใจ อยากจะให้เชื่อมั่นการทำงานของบุคลากรทางด้านสาธารณสุข อยากให้ใจเย็น ๆ และฟังให้ดีให้เข้าใจ
ที่ผ่านมา ช่วงแรก ๆ ที่รัฐบาลรณรงค์ที่จะป้องกัน COVID-19 คือ กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ หลายคนอาจจะมองว่าเป็นเรื่องธรรมดาไป จริง ๆ แล้วเชื้อ COVID-19 มีการแพร่ทางน้ำลาย ก็เลยทำให้หน้ากากอนามัยขายดีมาก ราคาพุ่งขึ้นไปเยอะเลย ข้อเสียของการตื่นตระหนกว่าแพร่ทางน้ำลายแต่ไม่รู้เลยว่ามัยแพร่อย่างไร ทำให้ทุกคนไปกว้านซื้อหน้ากากอนามัย แล้วพอกลุ่มคนที่มีความจำเป็นต้องการใช้หน้ากากอนามัยขาดแคลนไม่มีใช้ ยกตัวอย่างเช่น กลุ่มคนที่มีความเสี่ยงต้องใช้คือ 1. กลุ่มคนที่มีความบกพร่องทางด้านภูมิคุ้มกัน ไม่มีหน้ากากอนามัยอาจจะทำให้ติดเชื้อได้ง่าย 2. กลุ่มคนที่กำลังมีอาการ เช่น ไอ จาม และ 3. กลุ่มคนที่สำคัญที่สุดคือบุคลากรทางด้านสุขภาพ
ดังนั้น ยังมีวิธีอื่น ๆ ที่จะช่วยลดการแพร่ระบาด COVID-19 ได้ถ้าเรารู้ว่า ถึงแม้จะแพร่ทางน้ำลายก็จริง แต่หากเราไอปิดปาก จามปิดปาก หรือใช้ผ้าเช็ดหน้า ก็สามารถป้องกันการแพร่กระจายได้ ไม่มีแอลกอฮอล์เจล
ก็สามารถล้างมือด้วยสบู่ได้ แต่ต้องล้างให้ถูกวิธี และล้างให้นานเพียงพอ อีกอย่างคือ กินร้อน ช้อนกลาง อาหารที่สุกใหม่ไม่มีเชื้อโรค และหากใช้ช้อนกลาง น้ำลายก็ไม่สามารถไปแพร่อยู่ในอาหารได้ ก็ไม่สามารถแพร่กระจายเชื้อให้กับผู้อื่น แล้วก็ไม่จำเป็นต้องใช้วัสดุอุปกรณ์ป้องกันการแพร่เชื้ออย่างสิ้นเปลืองและไร้เหตุผล
จริง ๆ แล้วมีผลงานวิจัย พบว่า คนเพียง 10% เท่านั้นที่ตรวจพบว่ามีเชื้อ COVID-19 แล้วมีอาการไข้ อาการสำคัญคือ อาการหอบเหนื่อย เพราะเชื้อลงไปที่ปอด เชื้อไม่ได้อยู่ที่ทางเดินหายใจส่วนต้น หากเราไปประเมินตัวเองแล้วมีอาการหอบเหนื่อย จึงค่อยไปโรงพยาบาล หากไม่มีไม่ต้องไปเพราะเราเข้าไปโรงพยาบาลอาจจะเสี่ยงรับเชื้อ หรืออาจจะไปเพิ่มภาระของบุคลากรทางสุขภาพในการคัดกรองผู้ป่วย” ดร.ขวัญแก้ว กล่าวฝาก