เมื่อวันที่ 16-17 มกราคม 2563 คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร จัดโครงการบริการวิชาการคณะแพทยศาสตร์ประจำปี 2563 เรื่อง Everyday Emergencies : เหตุฉุกเฉินในชีวิตประจำวัน ณ ห้องประชุม CC2-802 ชั้น 8 อาคารเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา 2 ซึ่งส่วนหนึ่งในโครงการฯ มีการจัด Workshop การปฐมพยาบาลเบื้องต้น ภายใต้การดูแลจาก นายแพทย์จิระพงศ์ รุจิราพรพงศ์ แพทย์หญิงปาลีรัฐ จริยากาญจนา พร้อมทีมเจ้าหน้าที่พยาบาล ของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิยาลัยนเรศวร เช่น สาธิตการห้ามเลือดและการดูแลบาดแผล การดูแลผู้ป่วยกระดูกหัก, กระดูกเคลื่อน ผู้ป่วยชักเกร็ง, เป็นลม เป็นต้น
“ก่อนที่เราจะช่วยคนอื่น เราจะต้องมีสติก่อน”
แพทย์หญิงปาลีรัฐ จริยากาญจนา แพทย์ประจำภาควิชาศัลยศาสตร์ หน่วยเวชศาสตร์ฉุกเฉิน คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร ให้ความรู้ว่า สิ่งที่ต้องคำนึงถึงเป็นอันดับแรกก่อนเข้าช่วยเหลือผู้อื่น คือ การมีสติ และได้ยกตัวอย่างเหตุการณ์เพื่อสร้างความเข้าใจในการปฐมพยาบาลเบื้องต้น ที่ถูกต้อง เช่น
– กรณีที่มีผู้บาดเจ็บถูกวัสดุอันตรายปักคาที่ร่างกาย ไม่ควรดึงออก อย่าทำให้วัสดุที่ปักเคลื่อนไหว และรีบมาโรงพยาบาล
– กรณีมีเลือดกำเดาไหล ไม่ควรเงยหน้า ควรก้มหน้า นั่งตัวตรง บีบจมูกค้างไว้ประมาณ 5 – 10 นาที ซึ่งในระหว่างบีบจมูกไว้ให้หายใจทางปากแทน และตรวจสอบดูว่าเลือดหยุดไหลหรือไม่ หากไม่ดีขึ้นควรมาพบแพทย์
– กรณีถูกน้ำร้อนลวก ไม่ควรใช้ยาสีฟันทาบริเวณถูกน้ำร้อนลวก ให้รีบล้างด้วยน้ำสะอาดธรรมดาแทน หลังจากนั้น ให้หาถุงพลาสติกที่สะอาดปิดบริเวณที่ถูกน้ำร้อนลวก และพบแพทย์
– กรณีสงสัยว่ากระดูกหัก ไม่ควรเคลื่อนย้ายผู้ป่วยโดยไม่จำเป็น อย่าดัด อย่าจัดท่า หากเป็นท่าใดให้อยู่ท่านั้น และรีบนำผู้ป่วยมาโรงพยาบาล
– กรณีพบผู้ป่วยเป็นโรคลมชัก ไม่ควรนำช้อนหรือวัสดุใดๆ ใส่ไปในปากผู้ป่วย เพราะอาจจะทำให้ไป อุดกั้นทางเดินหายใจผู้ป่วยได้ สิ่งที่ควรทำคือดูบริเวณโดยรอบผู้ป่วยไม่ให้ได้รับบาดเจ็บจากสิ่งที่อยู่รอบตัวผู้ป่วย ห้ามนวด หลังจากนั้นให้คลายเสื้อผ้าออก และจัดท่าผู้ป่วยด้วยการนอนตะแครง หากมีอาการรุนแรงควรรีบแจ้งบริการแพทย์ฉุกเฉิน 1669 ทันที เป็นต้น