ผู้ป่วยมะเร็งศีรษะและคอมีหวัง นิสิตสหเวชฯ ม.นเรศวร พบสารสกัดใบมะรุมต้านเซลล์มะเร็งได้ 

     นายดรัณภพ ดวงเดช และนายวีรลักษณ์ อุ่นน้อย นิสิตชั้นปีที่ 4 สาขาเทคนิคการแพทย์  คณะสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร เล่าให้ฟังว่า โรคมะเร็งเป็นปัญหาสาธารณสุขของประเทศไทย ประกอบกับปัจจุบันมีผู้ป่วยโรคมะเร็งมากขึ้น แต่การรักษาโรคมะเร็งในปัจจุบันยังส่งผลกระทบต่อร่างกายของผู้ป่วยเอง เช่น ทำให้ผมร่วง ปวดหัว วิงเวียนศรีษะ อาเจียน เป็นต้น ในกลุ่มจึงสนใจว่าหากใช้สารสกัดจากธรมมชาติจะสามารถลดผลกระทบจากการรักษาโรคมะเร็งดังกล่าวได้หรือไม่ จึงได้ศึกษาดูว่ามีสารสกัดจากพืชตัวใดบ้างที่สามารถฆ่าเซลล์มะเร็งได้ พบว่า มีหลากหลายงานวิจัยทั้งจากของประเทศไทยและต่างประเทศ เช่น หญ้าคา ดอกคาเมเลีย ที่เป็นดอกไม้จากต่างประเทศ สามารถทำลายเซลล์มะเร็งได้ แต่ทางกลุ่มมองว่าพืชเหล่านี้อยู่ไกลตัวเกินไป เลยมองว่าในประเทศไทยมีพฤติกรรมการกินอาหารหรือว่าการใช้พืชผักสมุนไพรใกล้ตัวในการรับประทานหรือมาทำเป็นยารักษาโรคอะไรได้บ้าง จึงศึกษาเพิ่มเติม พบว่า ใบมะรุม มีคุณสมบัติในการต้านมะเร็งทั้งมะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้และมะเร็งตับได้  

     นอกจากนี้ ในสังคมไทยยังมีทั้งการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การสูบบุหรี่ ซึ่งพฤติกรรมดังกล่าว ส่งผลทำให้ร่างกายมีโอกาสเป็นมะเร็งศรีษะและคอมากยิ่งขึ้น แต่ในงานวิจัยอื่น  ยังไม่มีการนำใบมะรุม มาทดสอบกับเซลล์มะเร็งศรีษะและคอ จึงสนใจที่จะนำสารสกัดจากใบมะรุมมาลองทดสอบในหลอดทดลอง กับเซลล์มะเร็งศรีษะและคอว่าจะสามารถฆ่าเซลล์มะเร็งได้หรือไม่ ซึ่งผลออกมาก็เป็นไปตามคาด ก็คือสารสกัดจากใบมะรุมสามารถฆ่าเซลล์มะเร็งได้ 

     อย่างไรก็ตาม จากผลที่ได้เป็นเพียงข้อมูลเบื้องต้นเพียงว่าสารสกัดจากใบมะรุมนี้สามารถ ฆ่าเซลล์มะเร็งได้ แต่ยังไม่ทราบว่าภายในสารสกัดนั้นมีสารตัวไหนบ้างหรือว่ามีอะไรอยู่ในนั้นบ้าง หากผู้ที่สนใจจะต่อยอด สามารถทำการตรวจวิเคราะห์ดูว่าภายในสารสกัดจากใบมะรุมมีตัวอะไรที่สามารถฆ่าเซลล์มะเร็งได้แล้วก็ศึกษาในเชิงลึกต่อไปอีกว่า สารตัวนั้นถ้ามีสารตัวเดี่ยว  จะสามารถฆ่าเซลมะเร็งได้หรือไม่ เพราะสมมติว่าฆ่าได้ อาจจะสังเคราะห์ออกมาเป็นยาหรือว่าเป็นสารที่ใช้รักษา หรือบรรเทาอาการของโรคมะเร็งในอนาคตต่อไป 

     สำหรับการศึกษาดังกล่าวเป็นผลงานชนะเลิศ ระดับคณะ สาขาเทคนิคการแพทย์  ประเภท Basic  science เรื่อง ผลของสารสกัดจากใบมะรุม ต่อการต้านเซลล์มะเร็งชนิด squamous cell carcinoma 15 ส่วนหนึ่งในรายวิชาวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาตรี (ภาคโปสเตอร์) ประจำปีการศึกษา 2562 โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.กาญจนา อู่สุวรรทิม เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา 

ขอขอบคุณภาพจาก เครือข่ายนักประชาสัมพันธ์ คณะสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร 

 

 

Loading

แชร์รายการนี้
fb-share-icon