ม.นเรศวร จับมือภาครัฐและเอกชน เปิดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านพลังงานทดแทนสู่ชุมชน

    เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2562 ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.กาญจนา เงารังษีอธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวร เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยมีนโยบายในการสนับสนุนงานด้านพลังงานทดแทน พร้อมขับเคลื่อน BCG Model ตามทิศทางของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ซึ่ง BCG Model ประกอบด้วย 3 เศรษฐกิจหลัก คือ B bioeconomy ระบบเศรษฐกิจชีวภาพ มุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรชีวภาพอย่างคุ้มค่า เชื่อมโยงกับ C circular economy ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน ที่คำนึงถึงการนำวัสดุต่างๆ กลับมาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด และทั้ง 2 เศรษฐกิจนี้ อยู่ภายใต้ G green economy ระบบเศรษฐกิจสีเขียว ซึ่งมุ่งแก้ไขปัญหามลพิษ เพื่อลดผลกระทบต่อโลกอย่างยั่งยืน BCG Model มุ่งพัฒนาตอบโจทย์ครอบคลุมทุกภาคส่วน ทั้งในภาคการเกษตรและอาหาร ด้านพลังงานและวัสดุ ด้านสุขภาพและการแพทย์ และด้านการท่องเที่ยว โดยมุ่งจะนำประเทศไปสู่การเป็นผู้นำการผลิตอาหารคุณภาพ 1 ใน 5 ของโลก ลดความเหลื่อมล้ำของสังคมและสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับทุกภูมิภาคของประเทศ

    โอกาสนี้ ทางมหาวิทยาลัยนเรศวร โดยวิทยาลัยพลังงานทดแทนและสมาร์ตกริดเทคโนโลยี ร่วมกับ องค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลก มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม และ สมาคมพลังงานทดแทนสู่ชุมชนแห่งประเทศไทย จัดให้มีการประชุมสัมมนาเชิงวิชาการรูปแบบพลังงานทดแทนสู่ชุมชนแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 12 ประจำปี 2562 ขึ้นในระหว่าง วันที่ 6 – 8 พฤศจิกายน พ.ศ.2562 ณ มหาวิทยาลัยนเรศวร เพื่อให้ผลงานวิจัยของอาจารย์และนิสิต ที่ศึกษาในด้านการพัฒนาและอนุรักษ์พลังงานทดแทนเพื่อชุมชน ได้มีโอกาสเผยแพร่ในวงกว้าง และขยายองค์ความรู้สู่การปฏิบัติให้กว้างขวางสู่ชุมชนต่อไป

    โดยมี นายสุรพร ดนัยตั้งตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพลังงาน เป็นประธานเปิด การประชุมสัมมนาเชิงวิชาการรูปแบบพลังงานทดแทนสู่ชุมชนแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 12  “นวัตกรรมบนวิถีพอเพียงเพื่อชุมชนแห่งอนาคต” พร้อมปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ “พลังงานทดแทนสู่ชุมชนแห่งประเทศไทย” โดยได้กล่าวว่า “พลังงานถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ และ ปัจจัยพื้นฐานในการต่อยอดไปสู่การพัฒนาในทุกๆ ด้าน โดยภาครัฐได้มีการกำหนดยุทธศาสตร์ เพื่อผลักดันให้หน่วยงานด้านพลังงานเข้าไปช่วย การขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของประเทศอย่าง มีประสิทธิภาพและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน  ในฐานะที่กระทรวงพลังงานเป็นหนึ่งในกระทรวงที่ดูแลด้านเศรษฐกิจของประเทศ การขับเคลื่อนนโยบายพลังงานในปัจจุบันจะต้องตอบโจทย์ใน 2 ด้าน คือ 1) ต้องลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม  2) ต้องเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยใช้กลไลด้านพลังงานไปขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก มุ่งเน้นการส่งเสริมนโยบายพลังงาน เพื่อเปิดโอกาสให้ทุกคนได้เข้าถึงพลังงานและใช้ในการเพิ่มรายได้ของประชาชน เป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ก่อเกิดการพัฒนาและส่งเสริมเศรษฐกิจ ทั้งในระดับมหาภาคและเศรษฐกิจฐานรากแบบบูรณาการนำไปสู่การพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน เช่น โครงการประชารัฐสร้างไทย เป็นยุทธศาสตร์หนึ่งในการพัฒนาเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ต้องการให้เกิดการกระจายการเติบโต ทางเศรษฐกิจไปยังผู้มีรายได้น้อยระดับฐานราก โดยเป็นการบูรณาการความร่วมมือระหว่าง ภาครัฐและเอกชนในการจัดทำแนวทางการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากของชุมชน  ซึ่งประกอบด้วยชุมชนเมืองและชุมชนชนบท เพื่อให้เกิดความชัดเจนการทำงานร่วมกันในการ กำหนดเป้าหมาย แผนงาน โครงการและงบประมาณเพื่อบรรลุเป้าหมายร่วมกัน เป็นต้น

    และขณะนี้ กระทรวงพลังงานได้ผลักดัน นโยบาย Energy For All พลังงานเพื่อทุกคน ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายประชารัฐสร้างไทย โดยมีหลักการที่จะกระจายการบริหารกิจการ พลังงานไปสู่มือของประชาชน ไปถึงชุมชนจากเดิมที่เน้นบริหารจัดการด้านพลังงานผ่านการ ลงทุนขนาดใหญ่ จึงเกิดเป็นโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน นโยบายพลังงานเพื่อเศรษฐกิจฐานราก ส่งเสริมให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการผลิตใช้ และจำหน่ายไฟฟ้าเพื่อใช้ประโยชน์ในพื้นที่ของตนเองอย่างยั่งยืน โดยให้ชุมชนมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้า สามารถใช้จุดแข็งด้านวัสดุทางการเกษตรที่มีอยู่ เช่น ฟางข้าว ซังข้าวโพด มาเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า ที่สำคัญเป็นการสร้างการ ยอมรับของชุมชนในการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าของประเทศ ซึ่งขณะนี้การดำเนินการจัดตั้งโรงไฟฟ้าชุมชนอยู่ระหว่างจัดทำรายละเอียดซึ่งจะแล้วเสร็จในเร็วๆ นี้

    ด้าน รศ.ดร.วัฒนพงศ์ รักษ์วิเชียร ผู้อำนวยการวิทยาลัยพลังงานทดแทนและสมาร์ตกริดเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยนเรศวร เปิดเผยว่า ในปัจจุบันทั่วโลกต้องเผชิญกับปัญหาด้านพลังงานที่รุนแรงกว่าในอดีตมาก อันเนื่องมาจากความต้องการใช้พลังงานและราคาพลังงานเชื้อเพลิงที่มีการปรับตัวอยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง ผลกระทบที่สำคัญจากปัญหาดังกล่าวคือความมั่นคงทางด้านการจัดหาพลังงาน ขณะเดียวกันการใช้พลังงานที่สูงขึ้นก็ก่อให้ เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม จนเกิดปรากฎการณ์เรือนกระจก (Green House Effects) ที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกอย่างรุนแรง ดังนั้นเพื่อแก้ไขปัญหาด้านพลังงานดังกล่าว จึงได้มีแนวคิดในการส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการใช้พลังงานหมุนเวียนกันมากขึ้น อาทิ พลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งเป็นแหล่งพลังงานหมุนเวียนที่มีการนำมาใช้เป็นระยะเวลายาวนาน ไม่ก่อให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม (Green & Clean Energy) อีกทั้งยังสามารถนำมาใช้ได้อย่างไม่มีวันหมดสิ้น ในการนี้ วิทยาลัยพลังงานทดแทนและสมาร์ตกริดเทคโนโลยี จึงร่วมกับ องค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลก มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม และ สมาคมพลังงานทดแทนสู่ชุมชนแห่งประเทศไทย จัดให้มีการประชุมสัมมนาเชิงวิชาการรูปแบบพลังงานทดแทนสู่ชุมชนแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 12 ประจำปี 2562 ขึ้น ซึ่งกิจกรรมภายในงานจัดให้มีเวทีแลกเปลี่ยนระหว่างนักวิชาการและภาคชุมชน การนำเสนอผลงานวิจัยแบบบรรยาย  โดยการประชุมวิชาการในครั้งนี้ มีการนำเสนอบทความทางด้านพลังงานทดแทนกว่า 72 บทความ ทั้งนี้มีผู้สนใจเข้าร่วมงานกว่า 1,000 คน ณ วิทยาลัยพลังงานทดแทนและสมาร์ตกริดเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยนเรศวร

 

 

 

 

Loading

แชร์รายการนี้
fb-share-icon