ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นพ.ยุทธพงษ์ พุทธรักษา ผู้ช่วยอธิการบดี เป็นประธานเปิดโครงการเส้นทางสู่นวัตวณิชย์ ประจำปี 2562 (Research to Market Northern : R2M 2019) จัดการแข่งขันโดยกองการวิจัยและนวัตกรรม สถานบ่มเพาะวิสาหกิจ มหาวิทยาลัยนเรศวร เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2562 มีทีมนิสิตเข้าร่วมแข่งขันนำเสนอผลงานจำนวนทั้งสิ้น 14 ทีม ผลการประกวดรางวัลชนะเลิศมีทั้งหมด 3 รางวัล ได้แก่
1. 3D Medical ผลงาน 3D Cancer Phantom คณะวิทยาศาสตร์
2. Pharma NU ผลงาน การพัฒนาผลิตภัณฑ์สารสกัดสำหรับใช้แก้ปวดในรูปแบบการบริหารยาใต้ลิ้น คณะเภสัชศาสตร์
3. ZERG ผลงาน ไรน้ำนางฟ้า ZERG คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์
ทั้งนี้ ทีม 3D CANCER PHANTOM หนึ่งในผลงานจากคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ซึ่งคว้ารางวัล “ชนะเลิศ” ได้รับเงินรางวัล 15,000 บาท และ รางวัลพิเศษ “The best presentation” เงินรางวัล 5,000 บาท ในการประกวดครั้งนี้ มีสมาชิกในทีมประกอบด้วย น.ส.อมรรัตน์ ไวสาริกิจ นิสิตระดับปริญญาเอก สาขาเคมี, น.ส.มนต์ธิดา ไชยพุฒ นิสิตระดับปริญญาโท สาขาเคมีอุตสาหกรรม, น.ส.จณิสตา ใจสุทธิ นิสิตระดับปริญญาโท สาขาเคมีอุตสาหกรรม, นาย วิชาญ หาญรบ นิสิตระดับปริญญาตรี สาขาเคมี คณะวิทยาศาสตร์, น.ส.ทิพวรรณ ปอปรีดา นิสิตสาขาฟิสิกส์การแพทย์ คณะสหเวชศาสตร์ โดยมี ผศ.ดร.ศรารัตน์ มหาศรานนท์ และผศ.ดร.นันทวัฒน์ อู่ดี เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา
3D Cancer Phantom เป็นหุ่นจำลองมาตรฐานสำหรับตรวจสอบความถูกต้องของปริมาณรังสี ในทางรังสีรักษา โดยหุ่นจำลองมีคุณสมบัติและลักษณะทางกายวิภาคศาสตร์คล้ายคลึงกับผู้ป่วยจริง โดยสามารถตรวจสอบปริมาณรังสีว่าเป็นไปตามแผนการรักษาที่กำหนดไว้หรือไม่ โดย 3D Cancer Phantom นั้น เป็นหุ่นจำลองส่วนของศีรษะและลำคอ สำหรับการพัฒนาหุ่นจำลองกะโหลกศีรษะเพื่อประเมินค่าการกระจายของปริมาณรังสีในสมองสำหรับการรักษามะเร็ง โดยส่วนด้านนอกของกะโหลกศีรษะผลิตมาจากพอลิมอร์อะคริโลไนไตรล์ –บิวทาไดอีน-สไตรีน (Acrylonitrile-Butadiene-Styrene ;ABS) ซึ่งมีความแข็งแรงทนทาน และยืดหยุ่น ในส่วนของเนื้อเยื่อภายในผลิตจากสูตรยางพาราที่พัฒนาขึ้นซึ่งมีคุณสมบัติทางด้านกายภาพฟิสิกส์ และมีความเหมือนของธาตุองค์ประกอบใกล้เคียงกับเนื้อเยื่อมนุษย์ โดยสร้างแบบหุ่นจำลองด้วยเครื่องพิมพ์สามมิติระบบฉีดเส้นพลาสติกซึ่งสามารถใส่หัววัดรังสีเพื่อวัดค่าปริมาณรังสีที่ผู้ป่วยได้รับ หุ่นจำลองดังกล่าวยังสามารถใช้สำหรับประเมินค่าปริมาณรังสีก่อนการรักษาจริงได้ ทั้งนี้เพื่อลดการสูญเสียที่อาจเกิดขึ้นได้จากการให้ปริมาณรังสีที่ผิดพลาด
ขอขอบคุณภาพ : กองการวิจัยและนวัตกรรม สถานบ่มเพาะวิสาหกิจ มหาวิทยาลัยนเรศวร