เภสัชฯ ม.นเรศวร เน้นหากมีไข้ ใช้ยาพาราเซตามอลเท่านั้น ลดความรุนแรงกรณีเป็นไข้เลือดออก 

    ภญ.โฉมคนางค์ ภูมิสายดร เภสัชกรประจำสถานปฏิบัติการเภสัชกรรมชุมชน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวให้ความรู้เบื้องต้นว่า โรคไข้เลือดออกเป็นโรคที่มักพบการระบาดในช่วงฤดูฝน และบริเวณที่มีน้ำท่วมขัง โดยโรคไข้เลือดออกมียุงลายเป็นพาหะนำโรค ซึ่งไข้เลือดออกมักมาด้วยอาการไข้สูงลอยตลอดทั้งวัน ปวดศีรษะ ปวดเมื่อตามเนื้อตัวมาก มีอาการหน้าแดง และอาจจะพบจุดเลือดออกตามเยื่อบุอ่อน เช่น ช่องปาก และตามร่างกายได้  

    ภญ.โฉมคนางค์ กล่าวให้ความรู้เพิ่มเติมอีกว่า ในกรณีที่มีไข้สูง ยาที่สามารถใช้ในการลดไข้ได้ คือ ยาพาราเซตามอล โดยให้รับประทานทุก ๆ 4  ชั่วโมง และไม่แนะนำให้ใช้ยากลุ่มแอสไพริน หรือ ไอบูโปรเฟนเพื่อลดไข้ เนื่องจากอาจทำให้เกิดภาวะเลือดออกรุนแรงขึ้น และหากพบว่าผู้ป่วยมีไข้ลดลงอย่างรวดเร็ว หรือมีอาการถ่ายดำ ไอปนเลือด หรือมีอาการที่รุนแรงขึ้นควรรีบพาไปแพทย์โดยด่วน สำหรับวิธีการป้องกันไข้เลือดออก สามารถทำได้โดยการระวังไม่ให้ถูกยุงกัด นอนกางมุ้ง และกำจัดแหล่งน้ำที่อาจเป็นที่อยู่ของลูกน้ำยุงลายได้ 

    นอกจากนี้ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้รายงานสถานการณ์โรคไข้เลือดออกในประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. – 3 ก.ย.2562 พบผู้ป่วย 81,500 คน เสียชีวิต 89 คน ผู้ป่วยส่วนใหญ่พบในกลุ่มเด็กและวัยผู้ใหญ่ตอนต้น พบมากสุด คือ กลุ่มอายุ 5-14 ปี รองลงมา 15-34 ปี และเด็กแรกเกิด-4 ปี ตามลำดับ 

    โดยจากรายงานพบว่า ผู้ป่วยเริ่มมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง หลังจากพบผู้ป่วยสูงสุดในช่วงเดือน ก.ค.2562 จำนวน 21,539 คน และในเดือน ส.ค.พบผู้ป่วยลดลงมาเป็น 12,979 คน แยกเป็นรายสัปดาห์จะพบว่าในช่วงนี้มีผู้ป่วยลดลงเหลือประมาณ 3,500 – 3,700 คนต่อสัปดาห์ จากที่เคยพบในช่วงฤดูการระบาดที่พบมากถึง 4,000 – 5,000 คนต่อสัปดาห์ 

    ขณะที่องค์การอนามัยโลก เปิดเผยข้อมูลสถานการณ์ไข้เลือดออกในภูมิภาคอาเซียน พบว่า ประเทศฟิลิปปินส์ พบผู้ป่วย 208,917 คน เสียชีวิต 882 คนเวียดนาม พบผู้ป่วย 124,751 คน เสียชีวิต  15 คน และมาเลเซีย พบผู้ป่วย 85,270 คน เสียชีวิต 121 คน 

 

 

อ้างอิงข้อมูลเพิ่มเติมจาก : สำนักข่าวไทยพีบีเอส
ขอขอบคุณภาพเพิ่มเติมจาก : เครือข่ายนักประชาสัมพันธ์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร 

Loading

แชร์รายการนี้
fb-share-icon