อาจารย์คณะสาธาฯ ม.นเรศวร ฝากประชาชนเตรียมพร้อมทุกสถานการณ์ ลดความเสียหายจากภัยธรรมชาติ 

 

    ภัยธรรมชาติก่อให้เกิดความเสียหายหลายๆ ด้านตามมา ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคมและสุขภาพ  ซึ่งการเกิดปัญหาน้ำท่วมนั้นมีความรุนแรงขึ้นทุกปี เนื่องจากภาวะโลกร้อนที่เกิดขึ้นในปัจจุบันโดยสภาพภูมิอากาศเกิดการเปลี่ยนแปลงแบบฉับพลันจากภาวะน้ำแล้งและเกิดน้ำท่วมตามมา 

    ดร.สรัญญา ถี่ป้อม  หัวหน้าสาขาวิชาอนามัยสิ่งแวดล้อมและอาชีวอนามัย คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ให้ความรู้ว่า ประชาชนนั้นควรมีความรู้ในเรื่องการปฏิบัติตน เริ่มต้นที่ต้องพึ่งตนเองเป็นอันดับแรก ก่อนจะรอความช่วยเหลือจากภาคส่วนต่างๆ ทั้งในภาวะปกติเพื่อเตรียมตัวรับมือกับสถานการณ์น้ำท่วมและในภาวะที่เกิดน้ำท่วม ดังต่อไปนี้ 

    การเตรียมตัวก่อนน้ำท่วม ควรมีการเตรียมการณ์ไว้ล่วงหน้า โดยเฉพาะผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่ บ้านเรือนโดนน้ำท่วมประจำทุกปี หรืออยู่ในละแวกใกล้เคียงกับแม่น้ำ ลำคลอง และพื้นที่น้ำท่วม โดยเตรียมของใช้ที่จำเป็นสำหรับการดำรงชีพ เช่น น้ำดื่ม อาหารแห้งและอาหารกระป๋อง ยา วิทยุพกพา ไฟฉาย แบตเตอรี่สำรอง สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน เป็นต้น เคลื่อนย้ายคน สัตว์เลี้ยง พาหนะ ให้พ้นระดับน้ำที่เคยท่วมมาก่อน และเรียนรู้ข้อมูลพื้นฐานที่จำเป็นและสร้างทักษะความชำนาญแก่ครอบครัว เช่น หมายเลขโทรศัพท์สำหรับเหตุการณ์ฉุกเฉิน เส้นทางการเดินทาง การอพยพที่ปลอดภัย จุดนัดหมาย หากเกิดการพลัดหลง ระบบเตือนภัยของรัฐ หรือติดตั้งอุปกรณ์ สำหรับป้องกันน้ำท่วมและน้ำไหลเข้าบ้านทางประตูห้องน้ำ ท่อ ช่องว่างของกำแพง และรอบรั้วต่างๆ 

    การเตรียมตัวระหว่างเกิดน้ำท่วม บริเวณพื้นที่น้ำท่วม ควรปิดแก๊ส และตัดสะพานไฟ อุดปิดช่องต่างๆ ที่น้ำสามารถไหลเข้ามาได้ เคลื่อนย้ายสิ่งของที่มีค่าไปไว้ในที่สูง ซักซ้อมความเข้าใจเรื่องการอพยพกับสมาชิกในครอบครัวอีกครั้ง หากอยู่ในบ้านจงอยู่ในส่วนของอาคารที่แข็งแรงและอยู่ในที่สูงพ้นระดับน้ำที่เคยท่วมมาก่อนหากอพยพออกนอกบ้าน จงล็อคประตูบ้านและอพยพโดยหลีกเลี่ยงการขับรถหรือการอพยพผ่านเส้นทางน้ำไหล ระมัดระวังจากสัตว์มีพิษ เช่น งู ตะขาบ แมงป่อง ที่มักหนีขึ้นมาอาศัยอยู่ตามบ้านเรือนและสถานที่เปียกชื้น อีกทั้งควรดูแลบุตรหลานอย่างใกล้ชิด อย่าปล่อยให้ออกไปเล่นน้ำ เพราะในช่วงน้ำท่วม กระแสน้ำจะเชี่ยวกรากมากกว่าปกติ อาจโดนกระแสน้ำพัดจมน้ำและเสียชีวิตได้ หรือหากมีการเตือนน้ำท่วมฉับพลันซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้โดยไม่มีการเตือนล่วงหน้า ให้ดำเนินการตามแผนที่ได้วางไว้ ซึ่งหากอยู่ใกล้ภูเขา ให้อพยพขึ้นไปยังที่สูงหรือสถานที่ที่ปลอดภัย เช่น สถานที่หลบภัยของหน่วยงาน ซึ่งสามารถรู้ได้จากการรับฟังวิทยุท้องถิ่น โทรทัศน์ หรือวิทยุพกพาที่ได้จัดเตรียมไว้ หลีกเลี่ยงการขับรถ เล่นน้ำ หรืออพยพผ่านเส้นทางน้ำหลาก ตลอดจนติดตามสถานการณ์น้ำท่วมอย่างใกล้ชิด ส่วนบ้านเรือนที่ไม่ได้ตั้งอยู่ในพื้นที่น้ำท่วมถึง ควรติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพราะภัยน้ำท่วมอาจเกิดขึ้นบริเวณบ้านของคุณได้และปฏิบัติตามคำแนะนำข้างต้น 

    การเตรียมตัวหลังน้ำท่วม หลังจากน้ำท่วมควรดูแลตนเองทั้งทางร่างกายและจิตใจของตนเองและคนในครอบครัว เนื่องจากความเจ็บป่วยทางจิตใจ ทั้งความเครียดและความวิตกกังวล อาจใช้เวลาในการรักษานานกว่าทางกาย ซึ่งโดยส่วนใหญ่เป็นเรื่องสุขอนามัย อีกทั้งการเก็บ กวาด กำจัดทำลาย และตรวจสอบความเสียหายของบ้านเรือนที่อยู่อาศัยทั้งในบ้านและรอบบ้าน 

Loading

แชร์รายการนี้
fb-share-icon