ม.นเรศวร เปิดโลจิสติกส์การบินหลักสูตรแรกในประเทศไทย สร้างนักบินปริญญาโท 

    เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2562 ศาสตราจารย์พิเศษดร.กาญจนา เงารังษี อธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวร เป็นประธานกล่าวต้อนรับ ผู้บริหารจาก Pan Am International Flight Academy จากประเทศสหรัฐอเมริกา และสถาบัน Dream Wings Education ประเทศไทยในพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจและบันทึกข้อตกลงระหว่างวิทยาลัยโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน มหาวิทยาลัยนเรศวร กับ Pan Am International Flight Academy (สถาบันการบินนานาชาติแพนแอม) และสถาบัน Dream Wings Education (บริษัทดรีมวิงส์ เอ็ดดูเคชั่น) พร้อมแถลงข่าวเปิดตัวหลักสูตรวิทยาศาตรมหาบัณฑิต สาขาโลจิสติกส์และโซ่อุปทานร่วมกับ หลักสูตรการพัฒนานักบินพาณิชย์ที่เพิ่มโอกาสอันท้าทายสำหรับนิสิตที่สนใจจะมีใบอนุญาตนักบินพาณิชย์ (CPL) ซึ่งเป็นหนึ่งในกลไกของการพัฒนานโยบาย ไอ (3Is) คือ การพัฒนาความเป็นนานาชาติ (internationalization) การสร้างนวัตกรรม (Innovation) และการบูรณาการ (Integration) ในความเป็นจริง แล้วนั้น ธุรกิจการบินในภูมิภาคนี้มีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการที่เพิ่มขึ้นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชน ซึ่งต้องมีการแข่งขันทั้งในด้านราคา การบริการความสะดวกและความปลอดภัยในการเดินทาง ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยนักบินที่ได้รับการฝึกบินอย่างมืออาชีพแล้วเท่านั้น 

    Mr. Mark Johnson Executive Vice President & Chief Operating Officer, Pan Am International Flight Academy (รองประธานบริหารและประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ สถาบันการบินนานาชาติแพนแอม) กล่าวถึง Pan Am International Flight Academy ว่าเป็น สถาบันการบินระหว่างประเทศ ที่มีต้นกำเนิดมาจาก Pan American World Airways และมีประสบการณ์กว่า 85 ปี สำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่ไมอามี่ รัฐฟลอริดา เป็นผู้ให้การสนับสนุนการฝึกอบรมชั้นนำสำหรับสายการบินและผู้เชี่ยวชาญด้านการบิน เจ้าหน้าที่การสอนได้รับการรับรองการฝึกอบรมที่มีคุณภาพสูงสุด รวมถึงมีสิ่งอำนวยความสะดวกประเภทเครื่องบินและบริการต่าง ๆ เป็นสิ่งที่ทำให้นักเรียนได้เปรียบในการแข่งขันเมื่อเข้าสู่ตลาดแรงงาน และรู้ว่าแต่ละสายการบินต้องการอะไร เป็นผลให้นักเรียนของ Pan Am เป็นนักบินของสายการบินชั้นนำทั่วโลก

    ด้าน กัปตัน วิชายุทธ์ เกตุปัญญา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Dream Wings Education ได้กล่าวถึงความตั้งใจของสถาบันแห่งนี้ว่า มุ่งจะสร้างบุคคลผู้ที่พร้อมด้วยความรู้ มีทักษะและบุคลิกที่เหมาะสมในการก้าวเข้าไปสู่อาชีพนักบินพาณิชย์ได้อย่างแท้จริง Dream Wings Education จึงไม่ได้เป็นเพียงสถาบันที่ติวแบบเร่งรัด เพื่อให้สอบผ่านเข้าเป็นนักบินพาณิชย์ได้เท่านั้น แต่เป็นโรงเรียนที่จะช่วยในการเตรียมความพร้อมทั้งด้านความรู้ เสริมสร้างบุคลิกภาพและทัศนคติให้บุคคลผู้นั้นมีความเหมาะสมต่อการประกอบอาชีพนี้มากที่สุด สามารถจะเป็นนักบินที่ดีได้ในระยะยาว ด้วยหลักสูตรที่ผู้เรียนจะได้รับความรู้และคําแนะนําอย่างใกล้ชิด เป็นกันเอง จากทีมงานนักบินมืออาชีพและคณาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิ ได้รับความรู้จากนักบินพาณิชย์ตัวจริงแล้ว และความแตกต่างโดดเด่นที่ทำให้ Dream Wings Education เป็นสถาบันเตรียมความพร้อมที่ดีที่สุด นั่นก็คือกระบวนการเรียนการสอนที่ทีมนักบินได้มีการออกแบบและมีการทดสอบคุณลักษณะที่จำเป็นต่อการประกอบอาชีพนักบินพาณิชย์ตั้งแต่วันที่เริ่มสมัครเข้าเรียน จนจบหลักสูตร

    ดร.บุญทรัพย์ พานิชการ ผู้อำนวยการวิทยาลัยโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน มหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวถึงการดำเนินการหลักสูตร วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน ร่วมกับหลักสูตรการพัฒนานักบินพาณิชย์ โดยมีเป้าหมายในการผลิตบัณฑิตให้มีคุณวุฒิวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน พร้อมใบอนุญาตนักบินพาณิชย์ ตามมาตราฐานสำนักงานบริหารการบินแห่งชาติ ซึ่งระบบโลจิสติกส์เป็นหนึ่งในแผนกลยุทธ์การแข่งขันของประเทศไทย และ โลจิสติกส์ยังเป็นหนึ่งในกลยุทธ์สำคัญในทุกแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทย ดังนั้นวิทยาลัยโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน มหาวิทยาลัยนเรศวรจึงมุ่งมั่นที่จะสร้างความรู้ทั้งในด้านการวิจัย บริการวิชาการและการศึกษาเพื่อตอบสนองการเติบโตที่ยั่งยืนของประเทศไทย  

    สำหรับความต้องการนักบิน CAE คาดการณ์ว่า อีก 10 ปีข้างหน้า อุตสาหกรรมการบินจะมีความต้องการนักบินรุ่นใหม่ ประมาณ 255,000 คน รวมนักบินที่ประจำอยู่ทั้งหมด 440,000 คน ภายในปี พ.ศ. 2570 โดย 60% สำหรับการเติบโตของสายการบินและ 40% เพื่อชดเชยการเกษียณและการลาออกของนักบิน นอกจากนี้ บุคลากร 180,000 คนแรกจะต้องได้รับการเลื่อนตำแหน่งให้เป็นกัปตัน ทดแทนกัปตันที่เกษียณอายุ ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก จะมีความต้องการของนักบินที่สูง เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของสายการบินพานิชย์ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ด้านภูมิภาคอเมริกาจะมีการเกษียณอายุของนักบินมากที่สุด สายการบินและสถาบันการฝึกอบรมของจะต้องผลิตนักบินใหม่ เฉลี่ย 70 คนต่อวันทั่วโลก เพื่อให้ตรงกับอัตราการส่งมอบเครื่องบินที่สูงเป็นประวัติการณ์และบัญชีสำหรับการลดลงของนักบิน ดังนั้น การเปิดหลักสูตร วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน ร่วมกับหลักสูตรการพัฒนานักบินพาณิชย์ ซึ่งเป็นหลักสูตรในระดับปริญญาโท หลักสูตรแรกของประเทศไทย จึงนับได้ว่าเป็นหลักสูตรที่ตอบสนองต่อความต้องการของตลาดแรงงานของโลกเป็นอย่างมาก โดยจะมีระยะเวลาในการเรียน ปี ทั้งนี้จะศึกษาที่วิทยาลัยโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน มหาวิทยาลัยนเรศวร ในปีที่ 1-2 และไปศึกษาต่อที่รัฐฟลอริดา ประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นเวลา ปี ผู้สนใจสามารถศึกษารายละเอียดและติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ www.slsc.nu.sc.th หมายเลขโทรศัพท์ 0 5596 4388 e-mail : sls@.nu.ac.th  

NEWS 0465 

Loading

แชร์รายการนี้
fb-share-icon