อาจารย์คณะพยาบาลศาสตร์ ม.นเรศวร แนะแนวทางการดูแลผู้ป่วยติดเตียง ในภาวะวิกฤติน้ำท่วม 

    คงเป็นที่ทราบกันดีว่า ในช่วงนี้สถานการณ์อุทกภัยร้ายแรงในหลายพื้นที่ของประเทศไทย รวมทั้งพื้นที่จังหวัดพิษณุโลก อันเป็นผลที่เกิดขึ้นจากพายุโพดุลที่ทำให้หลายพื้นที่มีฝนตกหนัก น้ำป่าไหลหลาก และน้ำท่วมตามมา ส่งผลกระทบต่อความเสียหายของบ้านเรือน การคมนาคม การดำรงชีวิต และพื้นที่ทางการเกษตร แต่สิ่งที่น่ากังวลใจอีกอย่างหนึ่งสำหรับประชาชนในพื้นที่ดังกล่าว คือการดูแลผู้ป่วยติดเตียง 

    ดร.ศิริกนก กลั่นขจร อาจารย์ประจำคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร เล่าให้ฟังว่า 
ผู้ป่วยติดเตียง คือ กลุ่มผู้ป่วยที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ เช่น ผู้ป่วยอัมพาต ผู้ป่วยทางระบบสมอง และต้องนอนรักษาตัวอยู่บนเตียงตลอดทั้งวัน เสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ เช่น แผลกดทับ 
และการติดเชื้อ เป็นต้น ซึ่งกลุ่มผู้ป่วยเหล่านี้ต้องการการดูแลอย่างต่อเนื่อง ตอบสนองการทำกิจวัตรประจำวันและการช่วยเหลือในด้านต่างๆ  

    จากสถานการณ์ดังกล่าว แนวทางการดูแลผู้ป่วยติดเตียงในช่วงภาวะวิกฤติ “น้ำท่วม” เพื่อป้องกันปัญหาทางสุขภาพที่อาจจะตามมา มีดังนี้ 

1. การจัดเตรียมอุปกรณ์สำหรับการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยไปยังสถานที่ที่ปลอดภัยไว้ให้พร้อม โดยควรพิจารณาเคลื่อนย้ายผู้ป่วยติดเตียงก่อนสถานการณ์น้ำท่วมจะรุนแรงมากขึ้น หลีกเลี่ยงการเคลื่อนย้ายหากขาดอุปกรณ์การเคลื่อนย้าย เช่น เปล รถเข็น เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากการหิ้ว หรือแบกผู้ป่วย อีกทั้งต้องคำนึงถึงสภาวะสุขภาพของผู้ป่วย เช่น แผลกดทับ เป็นต้น

    2. การเตรียมการสิ่งที่จำเป็นสำหรับการดำรงชีวิตประจำวันขั้นพื้นฐาน ได้แก่ 

        2.1 น้ำสะอาด และอาหารที่เหมาะสมกับผู้ป่วยติดเตียง ควรเป็นอาหารที่ย่อยง่าย รสไม่จัด และเพียงพอต่อความต้องการอย่างน้อย 2-3 วัน  

        2.2 ยารักษาโรค ควรเตรียมยาเฉพาะโรคสำหรับผู้ป่วยติดเตียง และยาสามัญประจำบ้าน เพื่อใช้ในสถานการณ์ฉุกเฉิน อีกทั้งควรคำนึงถึงการใช้ยาอย่างปลอดภัย ยาทุกชนิดควรมีฉลากชัดเจนว่ามีวิธีการให้ยาอย่างไร เพราะในสถานการณ์น้ำท่วมผู้ดูแลผู้ป่วยติดเตียงอาจจะไม่มีเวลาดูแลใกล้ชิด และอาจมีผู้ดูแลอื่นผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนการดูแลผู้ป่วยแทน 

        2.3 เสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม ควรมีการสำรองเสื้อผ้า ผ้าห่มที่จำเป็น โดยควรเป็นเสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่มที่แห้ง และสะอาด รวมทั้งการจัดเตรียมสิ่งของเครื่องใช้ที่จำเป็น เช่น แป้ง ครีมทาผิว ป้องกันการเกิดปัญหาการติดเชื้อจากการใช้เสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่มที่เปียกและไม่สะอาด และช่วยให้ผู้ป่วยเกิดความสุขสบาย ลดความตึงเครียด 

        2.4 การจัดเตรียมสถานที่ให้เหมาะสม และปลอดภัยจากสัตว์ที่อาจจะตามมากับภาวะน้ำท่วม เช่น งู ตะขาบ ยุง ควรเป็นสถานที่ที่ไม่มีน้ำขัง มีมุ้งกันยุง และปลอดภัยจากสัตว์ต่างๆ อีกทั้งควรคำนึงถึงการกำจัดขยะ และการดูแลการขับถ่ายของผู้ป่วยติดเตียง ควรมีถุงขยะพร้อมเชือกมัดถุงขยะในการจัดเก็บขยะ และของเสียจากการขับถ่ายอย่างเหมาะสม ป้องกันการติดเชื้อและการแพร่กระจายเชื้อ 

    3. การป้องกันความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ในสถานการณ์น้ำท่วม ผู้ดูแล และผู้ป่วยติดเตียงที่สามารถช่วยเหลือตนเองได้บ้าง ควรจัดเตรียมกระดิ่งหรือนกหวีด เครื่องมือสื่อสาร ไว้สำหรับการติดต่อ
หรือขอความช่วยเหลือเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน นอกจากนี้ ผู้ดูแลควรตรวจสอบสายไฟ ปลั๊กไฟ เครื่องใช้ไฟฟ้า 
ควรจะถอดปลั๊กไฟออก หรือปลดเบรกเกอร์ไฟลง เพื่อป้องกันการเกิดไฟฟ้ารั่วและไฟฟ้าช็อต และควรเตรียมไฟฉายใช้ในกรณีที่ไม่มีการจ่ายหรือตัดกระแสไฟฟ้า  

    4. การเฝ้าระวังและป้องกันปัญหาสุขภาพอันเป็นผลมาจากสถานการณ์น้ำท่วม โรคที่มักจะมาพร้อมกับน้ำท่วม คือ โรคท้องร่วง และน้ำกัดเท้า ผู้ดูแลควรระมัดระวังเรื่องน้ำสะอาด และอาหารที่อาจปนเปื้อนเชื้อโรค ไม่ควรรับประทานอาหารค้างคืน หรืออาหารที่มีลักษณะเน่าเสีย หรือมีสิ่งปนเปื้อน ผู้ดูแลควรจัดหาสิ่งป้องกันเพื่อป้องกันการติดเชื้อ และการแพร่กระจายเชื้อในการดูแลผู้ป่วยติดเตียง ควรล้างมือให้สะอาดก่อนและหลังการดูแลผู้ป่วย สวมถุงมือ และผ้าปิดปากเมื่อต้องสัมผัสสารคัดหลั่ง หรือของเสียจากร่างกายของผู้ป่วย ไม่ควรให้ผู้ดูแลและผู้ป่วยติดเตียงแช่มือเท้าในน้ำขัง หากสัมผัสน้ำขังควรรีบชำระล้างให้สะอาด ผึ่งให้แห้งโดยเร็วที่สุด หากจำเป็นต้องสัมผัสน้ำขังควรสวมถุงพลาสติก หรือรองเท้าบูท

    5. การดูแลทางด้านจิตใจของผู้ป่วยติดเตียง สิ่งที่สำคัญที่สุด คือการป้องกันความเครียด วิตกกังวล ควรเตรียมวิทยุ หรือโทรศัพท์มือถือ เพื่อเปิดรับข้อมูลข่าวสาร หรือความบันเทิง ให้ข้อมูลอธิบายการดูแลผู้ป่วยติดเตียงในสถานการณ์น้ำท่วมที่ชัดเจน เข้าใจง่าย เช่น เหตุผลของการต้องย้ายที่อยู่ในภาวะน้ำท่วม ให้กำลังใจ ดูแลอย่างใกล้ชิดเท่าที่จะสามารถทำได้ ควรเปิดโอกาสให้ผู้ป่วยได้แสดงความคิดเห็น หรือแนวทางการแก้ไขในสถานการณ์น้ำท่วม ให้คุณค่าและความสำคัญของผู้ป่วยติดเตียง และไม่ควรพูดหรือกระทำให้ผู้ป่วยติดเตียงรู้สึกว่าตนเองเป็นภาระของครอบครัว หรือผู้ดูแล 

    ดร.ศิริกนก กลั่นขจร อาจารย์ประจำคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวฝากทิ้งท้ายว่าจากแนวทางดังกล่าว การดูแลผู้ป่วยติดเตียงในสถานการณ์น้ำท่วมจะดำเนินไปได้ด้วยดี หากเรามีการเตรียมความพร้อมที่ดี รวมทั้งสติ และกำลังใจที่เข้มแข็ง ซึ่งภายหลังจากสถานการณ์น้ำท่วมได้ผ่านพ้นไปแล้ว 
การฟื้นฟูสภาพของผู้ดูแลและผู้ป่วยภายหลังน้ำท่วมจะเป็นเรื่องจำเป็นที่ตามมา 

    แหล่งข้อมูล 

    ประพันธ์ พงศ์คณิตานนท์ (2561). แนะครอบครัวที่มีผู้สูงอายุปฏิบัติตามคำเตือการอพยพ.  

    สืบค้นเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2562, จากเว็บไซต์www.thaihealth.or.th 

    พวงเพ็ญ เผือกสวัสดิ์, นิสาชล นาคกุล, และวิชญา โรจนรักษ์ (2559). สถานการณ์ ปัญหา และความต้องการ 

    การดูแลผู้ป่วยเรื้อรังกลุ่มติดบ้าน ติดเตียง ในชุมชนเขตเทศบาลนครสุราษฎร์ธานี. วารสารพยาบาลกระทรวงสาธารณสุข, 26(2), 54-64. 

    วีรณัฐ โรจนประภา (2560). เตรียมดูแลคนชราภาวะน้ำท่วม. สืบค้นเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2562,  

    จากเว็บไซต์www.thaihealth.or.th. 

 

 

    ภาพประกอบเพิ่มเติม แฟนเพจ สวท.พิษณุโลก https://web.facebook.com/prd4radio/

 

Loading

แชร์รายการนี้
fb-share-icon