วันอังคาร ที่ 11 มิถุนายน 2562 ผศ.ดร.พีรธร บุณยรัตพันธุ์ รองอธิการบดี ให้เกียรติร่วมเปิดโครงการเตรียมความพร้อมการใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัยสำหรับนิสิตพิการ ณ อาคารแสงเทียน สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยนเรศวร ภายในงานภาคเช้ามีการบรรยายหัวข้อ การเตรียมตัวและใช้ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัยของนิสิตพิการ การปฏิบัติตัวเพื่อนำไปสู่ความสำเร็จในอนาคต โดย นายเทอดเกียรติ ฉายจรุง นักวิชาการสาธารณสุข สถาบันสิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ, การออกแบบสภาพแวดล้อมเพื่อการเข้าถึงและใช้สอยที่เหมาะสมสำหรับทุกคน ที่ควรคำนึงในสถานศึกษา โดย นายวีรเลิศ อมิตรพ่าย Associate Director Consulting Business Living Care บริษัท SCG Cement-Building Materials.Co.Ltd. กิจกรรม Workshop การสำรวจพื้นที่ต่างๆ พื้นที่สาธารณะ บริการสาธารณะต่างๆ ทำกิจกรรมจำลองสภาพการณ์คนพิการแต่ละประเภท, ทดลองใช้พื้นที่และการบริการต่างๆภายในมหาวิทยาลัยนเรศวร จากนิสิตอาสาสมัคร และเจ้าหน้าที่ รปภ.ที่เกี่ยวข้อง เพื่อประเมินการเข้าถึง และพื้นที่ใช้สอยต่างๆเพื่อกิจกรรมในการเรียนการสอนที่เหมาะสม ก่อนระดมสมอง และเสนอข้อคิดเห็นหลัง workshop เกี่ยวกับอุปสรรค และแนวทางแก้ไขปัญหา
จากนั้นในภาคบ่ายเป็นการจัดเสวนาเกี่ยวกับ บทบาทของมหาวิทยาลัยต่อคนพิการ คนด้อยสมรรถภาพ ผู้สูงวัย และเด็กพิการ กับการพัฒนาสังคม โดยผศ.ดร.พีรธร บุณยรัตพันธุ์ รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยนเรศวร, คุณกฤษนะ ละไล ประธานมูลนิธิอารยสถาปัตย์เพื่อคนทั้งมวล, ผศ.ดร.อันธิกา สวัสดิ์ศรี ประธานสภาคณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง โดยมีนิสิตใหม่ที่เป็นนิสิตพิการ และนิสิตพิการที่เรียนอยู่เดิม เจ้าหน้าที่ๆเกี่ยวข้องเข้าร่วมโครงการฯ
ทั้งนี้มหาวิทยาลัยนเรศวรได้ตระหนักและเห็นความสำคัญของการศึกษาในระดับอุดมศึกษาพร้อมทั้งเปิดโอกาสให้ผู้ที่มีความบกพร่องประเภทต่างๆเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัย พัฒนาศักยภาพทางด้านวิชาการนิสิตพิการให้เท่าเทียมกับนิสิตปกติ และมอบหมายให้ศูนย์บริการนิสิตพิการ (Disability Support Services: DSS) กองกิจการนิสิต ดูแลและจัดบริการให้นิสิตผู้มีความบกพร่องในแต่ละประเภทตามความต้องการ โดยมหาวิทยาลัยนเรศวร จัดตั้งศูนย์บริการนิสิตพิการ ตั้งแต่ปีการศึกษา 2551 มีนิสิตพิการที่จบการศึกษาในมหาวิทยาลัยแล้วจำนวน 13 คน ซึ่งปัจจุบันในปีการศึกษา 2562 มีนิสิตพิการที่กำลังศึกษาในมหาวิทยาลัย จำนวน 11 คน ซึ่งมีความพิการด้านร่างกายและการเคลื่อนไหว 8 คนด้านการมองเห็น 3 คน ด้านการจัดสภาพแวดล้อมภายในมหาวิทยาลัยเพื่อคนพิการ นอกจากการจัดตั้งศูนย์บริการนิสิตพิการแล้ว มหาวิทยาลัยได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการที่ปรึกษา คณะกรรมการดำเนินงานมีการวางแผนเพื่อปรับปรุงสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการใช้ชีวิต หอพัก โรงอาหาร อาคารเรียน และจัดกิจกรรมเพื่อพัฒนาศักยภาพนิสิตพิการอย่างต่อเนื่องทุกปี และมีนิสิตที่ได้รับรางวัลในระดับประเทศหลายรางวัล อาทิ รางวัลเหรียญทองระดับประเทศการแข่งขันวาดภาพคาแรคเตอร์ งานแข่งขันฝีมือแรงงานคนพิการแห่งชาติครั้งที่ 9 รางวัลนักศึกษาพระราชทาน เยาวชนดีเด่น