เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2562 เวลา 17.00 น. นายแพทย์บดินทร์ บุตรธรรม รองคณบดีฝ่ายบริหารและพัฒนานวัตกรรม คณะแพทยศาสตร์ เป็นประธานเปิดงานวันไตโลก ประจำปี 2562 “ทุกคนทั่วไทย
ไตแข็งแรง” โดย นายแพทย์นพเก้า คงตาล อาจารย์แพทย์ภาควิชาอายุรศาสตร์ กล่าวรายงานวัตถุประสงค์การจัดงาน ณ ลานโปรโมชั่น ชั้น 1 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซาพิษณุโลก
ทั้งนี้ทางสมาคมโรคไตได้ขอความร่วมมือให้โรงพยาบาลทั่วประเทศร่วมจัดกิจกรรมวันไตโลก
ซึ่งตรงกับสัปดาห์ที่ 2 ของเดือนมีนาคมของทุกปี กำหนดเป็นวันไตโลก หรือ World kidney day เป็นกิจกรรมรณรงค์ให้เกิดการตระหนักถึงสุขภาพไตและในปี พ.ศ.2562 นี้ วันไตโลกตรงกับวันที่ 14 มีนาคม กิจกรรมวันไตโลกในปีนี้จึงเน้นการรณรงค์สุขภาพไตสำหรับทุกคน ภายใต้คำขวัญว่า“ทุกคนทั่วไทย ไตแข็งแรง” เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน เน้นการรณรงค์ให้ประชาชนมีความรู้ในการดูแลตนเอง และตระหนักถึงการเกิดโรคไต ซึ่งทางคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ตระหนักถึงความสำคัญของการชะลอไตและการส่งเสริมป้องกันเชิงรุกแบบสหสาขา เพื่อประชาชนได้เข้าถึงข้อมูลได้ง่ายและมีความตื่นตัวในการดูแลสุขภาพไต
ซึ่งภายในงานประกอบด้วยกิจกรรม นิทรรศการให้ความรู้เกี่ยวกับโรคไต การซักประวัติ วัดความดันโลหิต ตรวจปัสสาวะและเจาะเลือด เพื่อประเมินการทำงานของไต ตรวจและให้คำปรึกษาเกี่ยวกับโรคไตจากอาจารย์แพทย์ โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวรการให้ความรู้จากนักวิชาการโภชนาการแนะนำเรื่องการรับประทานอาหารรสเค็มและการอ่านฉลากอาหาร การแนะนำเรื่องการรับประทานยาและการใช้ยาอย่างถูกต้องโดยทีมเภสัชกร ตลอดจนจัดเสวนาให้ความรู้เกี่ยวกับโรคไตเป็นได้ทุกวัย
นายแพทย์นพเก้า คงตาล อาจารย์แพทย์ประจำภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ให้ข้อมูลว่า ผู้ป่วยโรคไตมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น รวมถึงคนที่มีภาวะโรคไตตั้งแต่ระยะเริ่มต้นจนถึงระยะท้ายๆ ตัวเลขก็เพิ่มขี้นเรื่อยๆ ทุกปี โดยในแต่ละกลุ่มอายุมีสาเหตุที่ทำให้เป็นโรคไตแตกต่างกัน เช่น กลุ่มของเด็ก อาจจะเกี่ยวกับโรคทางพันธุกรรมหรือโรคความผิดปกติของไตตั้งแต่เป็นกำเนิดหรือมีภาวะเกี่ยวกับโรคภูมิแพ้ตัวเอง หรือมีภาวะอุดกั้นทางเดินปัสสาวะตั้งแต่กำเนิด ซึ่งนำมาสู่การเป็นโรคไตได้ อย่างไรก็ตาม เด็กที่อายุน้อยก็มีโอกาสเป็นโรคไตได้ จากการที่มีภาวะไตวายแทรกซ้อนขึ้นมา ก็อาจจะเป็นแค่ไตวายอักเสบ แต่หากได้รับการรักษาที่ทันท่วงทีคนไข้ก็อาจกลับมามีภาวะไตเป็นผิดปกติได้ หรือภาวะนั้นอาจจะส่งผลให้เกิดภาวะไตวายเรื้อรัง เด็กคนนั้นก็ต้องได้รับการรักษาบำบัดทดแทนไตตั้งแต่เด็ก ส่วนกลุ่มของผู้ใหญ่ มีสาเหตุมาจากโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง และการได้รับยาหรือสารพิษบางอย่าง ซึ่งทำให้เกิดภาวะไตวายเรื้อรังเกิดขึ้นได้
นายแพทย์นพเก้า กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า สำหรับผู้ที่เป็นโรคเบาหวานมีโอกาสที่จะมีภาวะแทรกซ้อนที่ไตเกิดขึ้นได้สูง โดยมีอาการที่บ่งชี้เบื้องต้นได้จาก อาการปวด หน้าบวม แขนบวม ขาบวม หรือลักษณะปัสสาวะของผิดปกติ เช่น ปัสสาวะเป็นฟอง ปัสสาวะเป็นสีน้ำล้างเนื้อ หรือปริมาณปัสสาวะน้อยลงกว่าปกติ เป็นต้น ดังนั้น หากมีความเสี่ยงและอาการดังกล่าว สามารถเข้ารับการตรวจคัดกรองและซักประวัติเพิ่มเติมจากแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญ ซึ่งในปัจจุบันสามารถตรวจคัดกรองจากการตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ หรือตามที่แพทย์พิจารณา
สำหรับการป้องกันโรคไตที่ดีที่สุด จะต้องรู้ก่อนว่าสาเหตุที่เป็นมาจากอะไร เช่น สาเหตุไตวายจากเบาหวาน จะต้องควบคุมเบาหวานให้อยู่ในเกณฑ์ที่แพทย์กำหนด เพื่อไม่ให้เบาหวานมาทำลายไตมากขึ้น หรือถ้าสาเหตุมาจากความดันโลหิตสูง จะต้องควบคุมความดันโลหิตให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ หรือสาเหตุมาจากยาหรือสารบางอย่าง ก็ต้องหยุดยาหรือสารนั้นหรือรับประทานยาตามคำแนะนำของแพทย์เท่านั้น ปรึกษาแพทย์อย่างใกล้ชิดในการใช้ยาทุกตัว
ขอขอบคุณข้อมูลและภาพเพิ่มเติม : เครือข่ายนักประชาสัมพันธ์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร เว็บไซต์: วันไตโลก ประจำปี 2562 “ทุกคนทั่วไทย ไตแข็งแรง”