ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปิยะรัตน์ นิ่มพิทักษ์พงศ์ ผู้ดูแล “สวนผักบุ้งกี๋” ถนนสนามบิน ซอย 10 แยกโชคดี ต.ในเมือง อ.เมือง จ.พิษณุโลก และเป็นตัวแทนเครือข่ายสองแคว ออร์แกนิค มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ เล่าให้ฟังว่า “มหาวิทยาลัยนเรศวร โดย คณะสาธารณสุขศาสตร์ ช่วยในการเปิดพื้นที่ให้มาตั้งบูธจำหน่ายสินค้า ซึ่งผลผลิตก็มีตั้งแต่ผักสด ผลไม้ผักอินทรีย์ต่างๆ บางครั้งก็จะมีสินค้าที่มีการนำผลผลิตอินทรีย์มาแปรรูป เช่น แยม น้ำสลัด เป็นต้น”
“การรวมตัวของผู้ที่สนใจเกี่ยวกับผักอินทรีย์สำหรับ จ.พิษณุโลกนั้น มีการรวมตัวกันมาได้ประมาณ 1 ปี แล้วก็ทำสิ่งที่เรียกว่า มาตรฐานเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วมหรือ PGS พิษณุโลก ทำเป็นผักอินทรีย์
คือ การไม่ใช่สารเคมีหรือไม่ใช้ปุ๋ยเคมีใดๆ ในแปลงเลย และก็มีกระบวนการป้องกันการปนเปื้อนจากสิ่งแวดล้อม ประกอบกับในพื้นที่มีการใช้สารเคมีค่อนข้างมาก ดังนั้น จึงได้มีการรวมตัวกันเพื่อที่จะส่งเสริมให้เกิดเกษตรอินทรีย์มากขึ้นในพิษณุโลก เพื่อให้ผู้บริโภคมีทางเลือกที่จะรับประทานอาหาร ผักปลอดภัย ไร้สารเคมี 100% ซึ่งขณะนี้ได้ขยายสวนไปเรื่อยๆ จนถึงเมื่อเดือนมกราคม 2562 มีทั้งหมด 13 สวนกระจายอยู่ในจังหวัดพิษณุโลก มีทั้งในตัวเมือง อำเภอวัดโบสถ์ อำเภอวังทอง อำเภอเนินมะปราง ซึ่งแต่ละสวนจะมีจุดเด่นในการปลูกพืชต่างๆ ที่แตกต่างกันตามลักษณะของสวน โดยจะมีตั้งแต่สวนที่เป็นสวนผักหลังบ้านในเมือง มีทั้งสวนที่เป็นลักษณะชุมชน สวนที่เป็นเศรษฐกิจตามหลักศาสตร์พระราชา เกษตรทฤษฎีใหม่ แล้วก็มีสวนที่เป็นนาอินทรีย์ สวนมะม่วง ซึ่งเกือบทั้งหมดก็เปิดให้ผู้ที่สนใจสามารถเข้าชมได้” ผู้ช่วยศาสตราจารย์
ดร.ปิยะรัตน์ เล่าให้ฟัง
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปิยะรัตน์ ให้คำแนะนำเพิ่มเติมว่า สำหรับผู้ที่เลือกการรับประทานผักมักจะมีความเข้าใจว่าหากรับประทานผักแล้วสุขภาพดี แต่ต้องเข้าใจด้วยว่าเราอาจจะได้รับสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพเข้าไปโดยไม่รู้ตัว เพราะฉะนั้นการเลือกผักอินทรีย์ที่ดี ผักอินทรีย์ที่ไม่ได้มีสารพิษปนเปื้อน การล้างผักด้วยวิธีการล้างผักที่ดี จะช่วยลดการได้รับสารพิษได้ รวมถึงการเลือกผักอาจจะต้องทำความเข้าใจเพิ่มเติมอีกว่า มีผักอนามัย ผักปลอดภัย ผักไร้ดิน ผักอินทรีย์ ซึ่งเหล่านี้มีความแตกต่างกัน เช่น ผักอนามัย ไม่ได้แปลว่า ไม่ใช้สารแต่ว่ายังใช้สารเคมีอยู่ เพียงแต่ว่ามีการเก็บเกี่ยวตามมาตรฐาน ก็จะมีแต่ผักอินทรีย์เท่านั้นที่ไม่ได้ใช้สารเคมีทุกขั้นตอนในการผลิต
ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจสามารถมาเลือกซื้อ ผักปลอดสารพิษ มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ จากกลุ่มชาวบ้านที่รวมตัวกันนี้ได้ ในทุกวันศุกร์ ตั้งแต่เวลา 10.00 – 15.00 น. ณ บริเวณโถงชั้น 1 อาคารบริหาร คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร