CHAMPION STORY – การเดินทางของ NILA
คงมีหลายคนไม่น้อยที่ทำงานหรือสั่งงาน ผ่านกลุ่มใน Application แชทที่ฮิตยอดนิยม ก็คือ Line แต่ก็คงมีผู้ใช้งานอีกจำนวนไม่น้อยที่การคุยกันใน Line Group นั้น ไม่ได้มีเฉพาะเรื่องงาน ดังนั้นการเข้าไปหาข้อมูลที่คุยกันใน Line Group ที่สำคัญหรือเกี่ยวกับเรื่องงาน อาจจะต้องใช้เวลาพอสมควร จึงเป็นจุดกำเนิดของ NILA ที่เปรียบเสมือนเป็นเลขาอัจฉริยะ
NILA ถือกำเนิดที่จังหวัดพิษณุโลก จังหวัดเล็ก ๆ ห่างจากกรุงเทพมหานครประมาณ 400 กิโลเมตร โดย Charles Allen อาจารย์คณะบริหารธุรกิจเศรษฐศาสตร์และการสื่อสาร Dr. Antony Harfield อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ ผู้ซึ่งมีความกระตือรือร้นที่จะพัฒนาความรู้ในด้านเทคโนโลยีของเขาให้ทันสมัยอยู่เสมอ แม้ว่าพิษณุโลกจะยังไม่มี Tech Community ที่เติบโตมากนัก แต่เขาทั้งสองก็ยังหลงใหลในการประชาสัมพันธ์และเข้าร่วมกิจกรรมด้านเทคโนโลยี ซึ่งเขามักจะเดินทางไปยังกรุงเทพมหานคร เพื่อเข้าร่วมกิจกรรมประเภทนี้อยู่เสมอ จึงมีโอกาสที่จะได้พบเจอผู้คนใหม่ๆ เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เกิดเป็นทีม “And yet it compiles” ประกอบไปด้วย Charles Allen อาจารย์คณะบริหารธุรกิจเศรษฐศาสตร์และการสื่อสาร Dr. Antony Harfield อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ และสมจินตนา กอบุตร ศิษย์เก่าคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร และสมาชิกอีก 2 คน พวกเขาเหล่านี้ ได้พัฒนา NILA จนได้เป็นตัวแทนประเทศไทยไปคว้าแชมป์ ประเภท Business / Work ภายในการแข่งขัน LINE BOOT AWARDS 2018 ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น
ใคร ๆ ก็คุยใน Line Group
อาจารย์ Antony ได้เปิดเผยถึงไอเดียในการทำ NILA ว่า ในการทำงานของอาจารย์ รวมถึงทีมงานทุกคนในทีมที่ทำงานเกี่ยวกับการพัฒนาซอฟท์แวร์ ทุกคนใช้ LINE ในการติดต่อสื่อสารเกี่ยวกับเรื่องงานเป็นจำนวนมาก ในขณะเดียวกันก็จะใช้ระบบติดตามงานอย่างเช่น Jira ในการจัดการกระบวนการการทำงานแบบ Agile ในทีม บ่อยครั้งการคุยกันในกลุ่ม LINE ที่แม้จะระบุไว้ชัดเจนว่าเกี่ยวข้องกับงาน ยังมีหัวข้ออื่น ๆ ที่สมาชิกได้พูดคุยกันมากมาย ทำให้สาระสำคัญบางอย่างได้ตกหล่นหายไป โดยเฉพาะการตัดสินใจที่สำคัญหลายอย่างที่ได้ผ่านการหารือและตกลงกันไว้ในแชท แต่มักไม่ได้รับการจัดทำเป็นเอกสาร ไม่ได้ถูกบันทึกไว้ในระบบติดตามงาน ทำให้งานตกหล่นไปในบางครั้ง จึงเป็นที่มาของ NILA หรือ Naturally In LINE Agile – chatbot ที่ถูกออกแบบมาเพื่อให้ทีมสามารถพูดคุยและทำงานร่วมกันอย่างเป็นธรรมชาติผ่าน LINE ในขณะที่ยังคงรักษากระบวนการการจัดการแบบ Agile ไว้ด้วย โดย NILA จะฟังและวิเคราะห์บทสนทนาต่าง ๆ ที่ถูกพูดคุยกันผ่าน LINE แล้วใช้ AI ช่วยในการสร้าง แก้ไข มอบหมาย หรือติดตามความคืบหน้าของงานในระบบติดตามงานให้แบบอัตโนมัติ หรือจะพูดง่ายๆ NILA ก็คือเลขาประจำกลุ่มนั้นเอง
ตัวแทนประเทศไทย คว้าแชมป์ระดับสากล
พวกเขาเริ่มต้นด้วยกิจกรรม LINE HACK 2018 มีสิ่งที่ต้องทำมากมาย ไม่มีใครในทีมเคยสร้าง chatbot และไม่มีใครที่มีประสบการณ์การพัฒนากับแพลตฟอร์มของ LINE มาก่อน แต่พวกเขายังคงเชื่อมั่นในผลิตภัณฑ์ และความหลากหลายของทีมทำให้พวกเขามีความแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น พวกเขาทำงานร่วมกันอย่างมุ่งมั่นในการพัฒนาต้นแบบของตัวผลิตภัณฑ์ให้สามารถทำงานได้ และพร้อมสำหรับการนำเสนอ จนถึงการประกาศผลที่พวกเขาแทบไม่อาจเชื่อได้ NILA คว้าแชมป์ LINE HACK 2018 ประเทศไทย เมื่อเดือนกันยายน ที่ผ่านมา จึงเป็นตัวแทนประเทศไปร่วมแข่งขัน LINE BOOT AWARDS 2018 ในวันที่ 10 พฤศจิกายน 2561 ณ ประเทศญี่ปุ่น ที่มีผู้เข้าร่วมแข่งขันถึง 4,000 คน 1,125 ผลงาน แต่ NILA ก็คว้าชนะเลิศ ประเภท Business / Work มาครอง จากที่ทั้งสามคนได้เล่าเรื่องราวของการแข่งขัน เหตุผลหนึ่งที่ทำให้ทีมงานคว้าแชมป์มา คงจะเป็นเรื่องของการนำเสนอผลงาน ซึ่งต้องยกความดีให้กับ Charles ผู้ที่นำเสนองานบนเวทีในวันนั้น เพราะการนำเสนอผลงาน ตามกติกาทุกทีมจะมีเวลา 5 นาทีในการนำเสนอ ก่อนหมดเวลา 2 นาทีจะมีเสียงกระดิ่งเตือน และเมื่อเสียงกระดิ่งดังขึ้น อาจารย์ Charles ก็รู้ทันทีว่าหากจะนำเสนอทั้งหมดคงจะไม่ทันเวลาแน่ จึงถึงเวลาที่ต้องเลือกที่จะนำเสนอ อาจารย์ Charles ใช้เทคนิคการโชว์เนื้อหาทั้งหมด แต่ไม่ได้อธิบายทั้งหมด ข้ามไปอธิบายในส่วนที่สำคัญ เพื่อให้ทันกับเวลา และถ้าหากส่วนที่ข้ามไปกรรมการสนใจก็จะถามขึ้นภายหลัง แล้วค่อยอธิบาย ก็จะเหมือนกับได้เวลาในการนำเสนอเพิ่ม การนำเสนอครั้งนี้ อาจารย์ Charles จึงได้นำเสนอครบถ้วนตามที่ต้องการ และเมื่อนำเสนอเสร็จ ใน Slide สุดท้าย คนส่วนใหญ่จะใส่คำว่า Thank You แต่อาจารย์ Charles สรุปสาระสำคัญในการนำเสนอเป็นประเด็นไว้ พร้อม QR Code ขนาดใหญ่ เพื่อให้ผู้ที่สนใจสามารถแสกนเข้าไปดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้
สุดท้าย ทั้งอาจารย์ Antony และอาจารย์ Charles ได้กล่าวเชิญชวนให้อาจารย์และน้อง ๆ นิสิตมหาวิทยาลัยนเรศวรที่ได้อ่านบทความนี้ เข้าร่วมการแข่งขันที่เกี่ยวข้องกับศาสตร์ความรู้ที่ตนเองสนใจ โดยไม่ต้องกังวลว่าจะทำไม่ได้ หรือจะไม่ชนะการแข่งขัน เพราะสิ่งที่ได้กลับมาที่มีค่ายิ่งไปกว่าชัยชนะหรือรางวัล นั่นคือความรู้ใหม่ๆ ที่เราสามารถนำมาพัฒนาตนเอง หรือถ่ายทอดให้กับผู้อื่นที่สนใจในมหาวิทยาลัยได้
News: 0113
ธิติ สิงห์คง: เขียน