มหาวิทยาลัย อยู่ในช่วงวิกฤติ เป็นสิ่งที่เราได้ยิน ได้เห็น จากสื่อต่าง ๆ มากมายในทุกวันนี้ หลายบริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลก รับสมัครคนเข้าทำงานโดยไม่ได้ถามถึงปริญญา จำนวนการเกิดของประชากรน้อยลง ไม่เพียงเท่านั้น เด็กยุคใหม่ใน Generation Z มีแนวโน้มในการเข้าเรียนต่อระดับอุดมศึกษาที่ลดลง รวมถึงของเรื่องของ ปัญญาประดิษฐ์ หรือหลายคนรู้จักในนาม AI(Artificial Intelligence) ที่กังวล ว่าจะมาแทนที่มนุษย์ ตำแหน่งงานจะหายไปหลายตำแหน่ง โดยใช้ AI มาแทนที่
การปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ Challenges of University as a driving force for Thailand 4.0 ภายในการประชุมวิชาการระดับชาติ “นเรศวรวิจัย ครั้งที่ 14” ณ มหาวิทยาลัยนเรศวร จังหวัดพิษณุโลก โดย ดร.สัมพันธ์ ศิลปนาฎ รองประธานและผู้จัดการทั่วไป ฝ่ายปฏิบัติการฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟ บริษัท เวสเทิร์น ดิจิตอล (ประเทศไทย) จำกัด ได้กล่าวถึงประเด็นดังกล่าว ไว้อย่างน่าสนใจ
ถ้าจะเรียนเรื่อง AI ต้องไปเรียนในบริษัทที่มี AI ด้วย
เริ่มต้นของการปาฐกถาพิเศษ ดร.สัมพันธ์ ได้อธิบาย ขยายความถึงความเป็น 4.0 ว่าคือ 9 เทคโนโลยีใหม่ที่มีผลกระทบและสร้างความเปลี่ยนแปลงให้โลกใบนี้และบางเทคโนโลยีไม่ใช่เรื่องใหม่ หนึ่งในนั้น คือ เครื่องจักรอัตโนมัติ(Automation), หุ่นยนต์(Robot) ซึ่งในความเป็นจริงสิ่งเหล่านี้ ถูกนำมาใช้ในภาคอุตสาหกรรมประเทศไทยแล้วไม่ต่ำกว่า 30 ปี แต่ล่าสุด เทคโนโลยีใหม่ที่จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงโลกใบนี้ คือ ปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ในประเทศไทยสถาบันการเงินบางแห่ง เริ่มลดจำนวนพนักงานและหันมาใช้ AI ดังนั้นเกิดเป็นคำถามในภาคของการศึกษา การผลิตบัณฑิตในยุคของศตวรรษที่ 21 ควรจะมีคุณสมบัติอย่างไร กลับมาในส่วนของภาคอุตสาหกรรม ดร.สัมพันธ์ ได้กล่าวอีกว่า AI นั้นถูกลงทุนในภาคอุตสาหกรรมเยอะมาก แต่ถูกลงทุนในภาคการศึกษาน้อยมาก เพราะฉะนั้นการเรียนการสอนคงจะอยู่แค่ในห้องเรียนไม่ได้ ถ้าคุณจะเรียนเรื่อง AI ต้องไปเรียนรู้ร่วมกับบริษัทที่มี AI ด้วย ถ้ามหาวิทยาลัยจะลงทุน AI เอง ต้องใช้งบประมาณมหาศาล และที่สำคัญเทคโนโลยีเปลี่ยนทุกวัน ลงทุนวันนี้อีก 3 ปี อาจจะตกรุ่นแล้วก็ได้ แต่สำหรับภาคอุตสาหกรรมเอกชน นั้นมีการปรับเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลาอยู่แล้ว
แรงงานไทยกำลังจะ “เปลี่ยน” งาน
ดร. สัมพันธ์ ได้แสดงข้อมูล 72% ของแรงงานไทยกำลังจะเปลี่ยนงาน ซึ่ง ดร. สัมพันธ์ ได้เน้นย้ำถึงการใช้คำว่า เปลี่ยนงาน ไม่ใช่ตกงาน เพราะ วันข้างหน้าจะมีงานใหม่ที่เรายังไม่รู้จักเกิดขึ้นมา มีการศึกษาในประเทศอังกฤษว่า มีแรงงานในประเทศอังกฤษที่จะต้องปรับเปลี่ยนงาน 8 แสนคน แต่ในขณะเดียวกันประเทศอังกฤษจะมีคนประกอบอาชีพใหม่กว่า 5 ล้านคน เพราะฉะนั้น นี่คือความหวัง โอกาส และโจทย์ของมหาวิทยาลัย ที่จะผลิตบัณฑิตพันธุ์ใหม่ที่จะตอบความต้องการงานใหม่หรือธุรกิจใหม่ๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้น
มหาวิทยาลัยต้องเตรียมการ Re-Skilling
ทุกวันนี้มีข่าวมากมายว่ามหาวิทยาลัยไทยอาจจะต้องมีการปิดตัว แต่ในมุมมองของ ดร.สัมพันธ์ กลับมองว่า มหาวิทยาลัยไทย 200 แห่งอาจไม่พอ หากมีการบริหารจัดการที่ดี ทำหน้าที่ Re-Skilling เพราะในประเทศไทย คนที่อายุ 22 ปีขึ้นไป เรามีมากกว่า 30 ล้านคน นอกเหนือจากเด็กรุ่นใหม่ที่เกิดน้อยลงทุกวันเพียงอย่างเดียว เพราะมหาวิทยาลัยต้องไปทำการบ้านว่าจะทำอย่างไรที่จะติดต่อและสร้างความมั่นใจให้กับภาคอุตสาหกรรม ในการที่จะ Re-Skilling พนักงานของบริษัทต่าง ๆ ได้ตอบโจทย์ความต้องการของภาคอุตสาหกรรม
———————–
“ผมยังเชื่อว่ามหาวิทยาลัยมีประโยชน์ การที่เด็กเป็นหมื่นคนเข้ามาอยู่ในมหาวิทยาลัย โอกาสที่เด็กจะใช้ชีวิตท่ามกลางเพื่อนเป็นหมื่น มีช่วงเดียวในชีวิต และการที่คนเป็นหมื่นที่คิดไม่เหมือนกัน มีเป้าหมายไม่เหมือนกัน มาจากพื้นฐานที่ต่างกัน มันมีศักยภาพมากมายที่จะทำให้คนสมบูรณ์ยิ่งขึ้น เหมาะกับอนาคตมากขึ้น”
ดร.สัมพันธ์ ศิลปะนาฎ
รองประธานและผู้จัดการทั่วไป ฝ่ายปฏิบัติการฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟ
บริษัท เวสเทิร์น ดิจิตอล (ประเทศไทย)
(การปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ Challenges of University as a driving force for Thailand 4.0
ภายในการประชุมวิชาการระดับชาติ นเรศวรวิจัย ครั้งที่ 14 ณ มหาวิทยาลัยนเรศวร)
คลิป การปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ Challenges of University as a driving force for Thailand 4.0
ธิติ สิงห์คง : เขียน/เรียบเรียง
News: 0070