เทคนิคการทำ Portfolio

ในช่วงนี้ เชื่อว่าน้อง ๆ นักเรียนมัธยม หลายคน คงกำลังจะจัดทำ Portfolio ของตัวเองเพื่อที่จะเตรียมเข้าสมัครมหาวิทยาลัย ปีการศึกษา 2562 รอบที่ 1 (รับสมัครวันที่ 1 – 15 ธ.ค. 2561)  ซึ่งเป็นการยื่น Portfolio เราจึงมีคำแนะนำอีกหนึ่งเทคนิคหรือแนวทางในการทำ Portfolio จาก ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.กาญจนา เงารังษี อธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวร มาฝากกัน 

 

  1. Portfolioคือสิ่งที่แสดงตัวตนและทักษะของเรา การจัดทำ Portfolio หรือ แฟ้มสะสมผลงาน เพื่อ สมัครเข้ามาศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัย โดยทั่วไปก็จะประกอบไปด้วย ประวัติส่วนตัว ประวัติการศึกษา ประวัติกิจกรรมและผลงาน สิ่งเหล่านี้จะช่วยยืนยันถึงความสามารถพิเศษ ความสนใจของเรา ที่สอดคล้องกับสาขาวิชาที่ต้องการจะศึกษาต่อ แต่ในอีกมุมหนึ่ง Portfolio จะช่วยให้มหาวิทยาลัย นำข้อมูลเหล่านั้นมาพิจารณาถึงความต้องการของนักเรียน เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการปรับหลักสูตร รวมถึงการจัดทำรายวิชาที่สอดคล้องกับความต้องการ ดังนั้น นอกเหนือจากผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาในระดับมัธยม อยากในนักเรียนพูดถึงในอนาคตว่าจบไปแล้วอยากจะประกอบอาชีพอะไร ซึ่งอาจจะเขียนมาหลายอาชีพก็ได้ เพื่อที่มหาวิทยาลัยเองจะได้นำข้อมูลมาวิเคราะห์ว่าจะจัดหลักสูตรอย่างไร จะช่วยบ่มเพาะผู้เรียนอย่างไร และจะได้ช่วยแนะนำ ว่าถ้าอยากประกอบอาชีพนี้ ควรจะเรียนอะไรบ้าง 
  2. เข้าร่วมกิจกรรมถึงไม่ได้รับรางวัลก็ควรใส่มาด้วย… ถ้าไปร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสาขาที่จะเรียน ถึงแม้จะไม่ได้รับรางวัล ก็ใส่มาใน Portfolio ด้วย อาจจะเป็นรูปถ่าย หรือ เขียนเป็นข้อความมา โดยอาจจะระบุว่า การไปเข้าร่วม วัตถุประสงค์เพื่ออะไร ในด้านวิชาการอยากจะรู้เรื่องอะไรเกี่ยวกับกิจกรรมที่ไปเข้าร่วม และอยากจะฝึกฝนตนเองให้มีความเชี่ยวชาญด้านใดบ้าง เพราะนั้นแสดงถึงการขวนขวายที่จะฝึกฝนตัวเอง รู้จักการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น มีทักษะการอยู่ร่วมกับสังคม 

 

 

นอกจากการเขียนเนื้อหาแล้วในด้านของการออกแบบ ก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ดนัย เรียบสกุล รองคณบดีฝ่ายกิจการนิสิตและศิษย์เก่าสัมพันธ์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ได้ให้หนึ่งแนวทางในการออกแบบไว้ว่า การที่เราจะออกแบบอะไรสักอย่าง คนที่จะทำต้องมีความเข้าใจในสิ่งที่ทำ คือนำไปใช้ประโยชน์อะไร เพื่ออะไร และถ้าเป็น Portfolio สมัครเรียนต้องเข้าใจสาขาที่สมัครว่าอยากจะเห็นอะไร หรือจะพูดง่าย ๆ คือ การทำ Portfolio เนื้อหาต้องครบถ้วน ออกแบบต้องโดนใจ ซึ่งมีแนวทาง ดังนี้ 

  1. การออกแบบต้องเรียบง่าย… การในออกแบบ Portfolio เพื่อให้คณะกรรมการพิจารณานั้น เราต้องคำนึงอยู่เสมอว่า กรรมการนั้นไม่ได้อ่านหรือดูผลงานของเราเพียงคนเดียว เพราะฉะนั้นเวลาในการพิจารณาผลงานของเราจึงมีจำกัด จึงต้องทำให้ เปิดง่าย อ่านง่าย ให้คณะกรรมการได้เข้าใจในสิ่งที่เราต้องการจะสื่อสารให้เร็วที่สุด โดยเราอาจจะเลือกใช้เป็นแฟ้มสำเร็จรูป ซึ่งในปัจจุบันมีขายอยู่หลากหลายรูปแบบ ข้อดีของแฟ้มสำเร็จรูป คือ สามารถสลับสับเปลี่ยนเอกสารด้านในได้ง่ายหากต้องมีการเปลี่ยนแปลงกะทันหัน แต่ก็มีข้อจำกัด คือ อาจจะไม่ได้บ่งบอกถึงความเป็นเรามากตามที่ต้องการ อีกรูปแบบหนึ่ง คือ ออกแบบเป็นหนังสือขึ้นมา ซึ่งมีข้อดีว่าทุกอย่างจะเป็นไปในรูปแบบที่เราต้องการ แต่การออกแบบนั้น ผู้ที่ทำต้องมีความเข้าใจในการใช้โปรแกรมออกแบบ การจัดองค์ประกอบ และก็มีข้อจำกัดในการเปลี่ยนแปลงเอกสารภายในกะทันหัน 
  2. การเรียงเนื้อหาตามลำดับความสำคัญ... นอกจากการนำเสนอเนื้อหาที่ครบถ้วนแล้ว การเรียงลำดับเนื้อหาก็มีความสำคัญ เนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับสาขาและข้อมูลที่เราอยากให้คณะกรรมการเห็น ควรจัดเรียงไว้อันดับต้นๆ เพราะถ้าหากคณะกรรมการมีเวลาในการพิจารณาผลงานที่จำกัด จะได้ไม่พลาดในการที่จะได้รับรู้ถึงข้อมูลสำคัญที่เราจะนำเสนอ 
  3. บ่งบอกถึงความเป็นตัวเอง… การที่จะบ่งบอกถึงความเป็นตัวเองไม่ได้หมายความว่า การใส่รูปตัวเองขนาดใหญ่ที่หน้าปก แต่เป็นเรื่องของเนื้อหาและการออกแบบ ในส่วนของการออกแบบ ก็คือ การเลือกสีที่บ่งบอกถึงตัวเรา เพราะสีทุกสี ล้วนมีความหมาย มีอารมณ์ที่แตกต่างกันออกไป การกำหนด Theme ในการออกแบบ อาจจะมีหลากหลายรูปแบบ อาทิ Modern, Vintage เป็นต้น ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบไหน สิ่งสำคัญคือ ปกนอกและปกใน ควรเป็นไปในทิศทางเดียวกัน การเลือก Font ซึ่งแต่ละแบบก็จะมีเอกลักษณ์ที่แตกต่างกันออกไป จะเลือกแบบไหนก็ขึ้นอยู่กับความชื่นชอบของแต่ละบุคคล แต่ข้อที่ควรคำนึง คือ Font ที่มีหัวจะทำให้ง่ายต่อการอ่าน แต่ถ้าหากอยากใช้ Font ที่ไม่มีหัว ควรจะเลือกใช้กับ Head ที่มีขนาดใหญ่  

 

สุดท้าย โลกในยุคปัจจุบันเราทุกคนควรจะดูแล Personnel Branding ซึ่งก็คือ Social Media ของตัวเราเอง ไม่ว่าจะเป็น Facebook, Twitter และอีกหลากหลาย สิ่งเหล่านี้ถือว่าเป็น Personnel Branding ของเราที่ควรจะใส่ใจเป็นอย่างมาก ดังนั้นเราควรใช้สื่อเหล่านี้อย่างถูกต้องและสร้างสรรค์  

 

มหาวิทยาลัยนเรศวร เปิดเข้าศึกษาต่อระดับปริญญาตรี ประจำปีการศึกษา 2562 รอบที่ 1 (Portfolio/GPA)  

ตั้งแต่วันที่ 1 – 15 ธันวาคม 2561 

รายละเอียดเพิ่มเติม:  ระบบรับสมัครเข้าศึกษา มหาวิทยาลัยนเรศวร

————————————————————————————— 

 

ธิติ สิงห์คง : เขียน/เรียบเรียง

News: 0021 

Loading

แชร์รายการนี้
fb-share-icon