โภควิภาค (Fourfold division of money)
โภควิภาค เป็นหลักธรรมที่พระพุทธองค์ (พระพุทธเจ้า) ได้ทรงแสดงไว้ในพระไตรปิฎก1 ว่าด้วยพระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่มที่ 11 ในจำนวน 45 เล่ม2 เป็นคัมภีร์เล่มที่ 3 ของ ทีฆนิกายและของพระสุตตันตปิฎก คำว่าทีฆนิกาย แปลว่า หมวดที่มีขนาดยาว ส่วนปาฏิกวรรค แปลว่า หมวดว่าด้วยปาฏิกสูตร หรือเรื่องราวเกี่ยวกับนักบวชชื่อ ปาฏิกบุตร ในพระสูตรหรือพระสุตตันต เล่มที่ 11 นี้ ประกอบด้วย 11 สูตร โภควิภาคเป็นหลักธรรมที่ปรากฎในเรื่องที่ 8 ชื่อ สิงคาลกสูตร ซึ่งเป็นพระสูตรว่าด้วย สิงคาลกมาณพ เป็นพระสูตรที่พระพุทธองค์ ได้เสด็จมาเทศน์สั่งสอน สิงคาลกมาณพ ซึ่งพระธรรมที่ทรงสั่งสอน สิงคาลก ผู้เข้าใจผิดเกี่ยวกับการไหว้ทิศ 6 ให้เข้าใจถูกต้อง นับว่าพระธรรมเทศนานี้ เป็นข้อปฏิบัติของคฤหัสถ์ (ผู้ครองเรือน) ที่เรียกในภาษาบาลีว่า “คิหิวินัย” และกลายเป็นธรรมะสำหรับชาวพุทธทั่วไปยึดถือปฏิบัติกันสืบมาจนปัจจุบัน
โภควิภาค เป็นหลักธรรมที่ปรากฎในหลักธรรมข้อ 265 หน้า 211 ในคัมภีร์ พระไตรปิฏกภาษาไทย ฉบับ มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย พ.ศ. 2539 เป็นตอนหนึ่งที่พระพุทธองค์ทรงสั่งสอนสิงคาลมาณพ ถึงทิศเบื้องซ้าย3 คือการปฏิบัติต่อมิตรสหาย ขอคัดลอกข้อความที่แปลจากภาษาบาลีที่เกี่ยวข้องกับโภควิภาค ปรากฎอยู่ในพระสูตรดังกล่าวเบื้องต้นดังนี้
[265] พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดา ครั้นตรัสเวยยากรณ ภาษิตนี้แล้ว จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า
“บุคคลที่เป็นมิตรมีใจดี 4 จำพวกนี้ คือ (1) มิตรมีอุปการะ (2) มิตรร่วมสุขร่วมทุกข์ (3) มิตรแนะนำประโยชน์ (4) มิตรมีความรักใคร่
บัณฑิตรู้อย่างนี้แล้ว
พึงเข้าไปคบหาด้วยความจริงใจ
เหมือนมารดาคบหาบุตรผู้เกิดแต่อกฉะนั้น
บัณฑิตผู้สมบูรณ์ด้วยศีล
ย่อมสว่างโชติช่วงดังดวงไฟ
เมื่อบุคคลสะสมโภคทรัพย์อยู่ดังตัวผึ้งสร้างรัง
โภคทรัพย์ของเขาก็ย่อมเพิ่มพูนขึ้น
ดุจจอมปลวกที่ตัวปลวกก่อขึ้นฉะนั้น
คฤหัสถ์ในตระกูลผู้สามารถ
ครั้นรวบรวมโภคทรัพย์ได้อย่างนี้แล้ว
พึงแบ่งโภคทรัพย์ออกเป็น 4 ส่วน
คือส่วนหนึ่งที่ใช้สอย 2 ส่วนใช้ประกอบการงาน
ส่วนที่ 4 เก็บไว้ด้วยหมายใจว่าจะใช้ในยามมีอันตราย จึงผูกมิตรไว้ได้”
จากคาถาบทที่ว่าด้วยโภควิภาคในฉบับภาษาไทยนี้ ได้มีการแปลออกเป็นภาษาอังกฤษที่มี T. W. Rhys Davids เป็นบรรณาธิการพระไตรปิฎกฉบับแปลเป็นภาษาอังกฤษ ด้วยทุนสนับสนุนการแปลที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยูหัว ทรงมอบให้ดำเนินการแปล จัดพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ ค.ศ. 19214 โดย The Oxford University Press และในปี ค.ศ. 1995 โดย The Pali Text Society.ข้อความที่แปลคาถาบทดังกล่าวมีเป็นภาษาอังกฤษไว้ดังนี้
[188] The friend who is a helpmate, and the friend
Of bright days and of dark, and he who shows
What ‘t is your need, and he who throbs for you
With sympathy: these four the wise should know
As friends, and should devote himself to them
As mother to her own, her bosom’s child.
Whose is virtuous and intelligent,
Shines like a fire that blazes [on the hill]
To him amassing wealth, like roving bee
Its honey gathering [and hurting naught]
Riches mount up as ant heap growing high.
When the good layman wealth has so amassed
Able is he to benefit his clan.
In portions four let him divide that wealth.
So binds he to himself life’s friendly things.
One portion let him spend and taste the fruit.
His business to conduct let him take two.
And portion four let him reserve and hoard;
So there’ll be wherewithal in times of need.
จากการแปลจากพระพุทธคาถาที่เป็นภาษาไทย และภาษาอังกฤษ จะเห็นได้ว่า โภควิภาค หมายถึง การแบ่งทรัพย์ออกเป็น 4 ส่วน คำอภิบายในรายละเอียดที่ปรากฎในหนังสือ “พจนานุกรรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม” โดย พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) (Dictionary of Buddhism – P.A. Payutto) .พิมพ์ครั้งที่ 31 – เมษายน 2558 เนื่องในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมายุ 5 รอบ (สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี)
หน้า 127 ข้อ [163] ได้อธิบายความหมายของโภควิภาคไว้ดังนี้
“[163] โภควิภาค 4 (การแบ่งโภคะเป็น 4 ส่วน, หลักการแบ่งทรัพย์โดยจัดสรรเป็น 4 ส่วน – Bhogavibhāga: fourfold division of money)
1 เอเกน โภเค ภุญฺเชยฺย (1 ส่วน ใช้จ่ายเลี้ยงตน เลี้ยงคนที่ควรบำรุงและทำประโยชน์ – On one part he should live and do his duty towards others)
2-3 ทวีหํ กมฺมํ ปโยชเย (2 ส่วน ใช้ลงทุนประกอบการงาน – With two parts he should expand his business)
4 จตุตฺถญฺจ นิธาเปยฺย (อีก 1 ส่วน เก็บไว้ใช้ในคราวจำเป็น – And he should save the fourth for a rainy day)
D.III. 188 ที. ปา. 11/197/202.”
หลักธรรมโภควิภาค เมื่อนำมาประยุกต์ใช้กับการดำรงชีวิตของคฤหัสถ์ หรือฆราวาส ซึ่งเป็นผู้ครองเรือน อาจจะนำมาใช้ในการพัฒนาชีวิตใน 2 ด้าน คืิอ
1. ในการใช้ชีวิตด้วยหลักธรรมโภควิภาคของแต่ละคนในชีวิตประจำวันการแบ่งโภคะ หรือทรัพย์ ไม่ว่าจะเป็นสังหาริมทรัพย์ (เงินทอง) หรืออสังหาริมทรัพย์ (ที่ดิน/อาคาร ฯลฯ) ที่เป็นส่วนที่ 1 ถ้าเน้นถึงโภคะที่เป็นทรัพย์สินเงินทองจะเป็นส่วนที่เป็นค่าใช้จ่ายที่จ่ายไปแล้วเป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น เช่น ค่าใช้จ่ายสำหรับดูแลสมาชิกในครอบครัว การบริจาคเพื่อการกุศล เงินให้เปล่าที่เป็นภาษีสังคม ส่วนที่เป็นส่วนที่ 2 และ 3 เป็นค่าใช้จ่ายในการประกอบอาชีพการงาน ไม่ว่าจะเป็นการลงทุน การปฏิบัติภารกิจหน้าที่ที่มีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้น และการนำเสนอหรือประชาสัมพันธ์ผลงานที่มีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นค่าเดินทาง ค่าใช้จ่ายในการทำงานหรือการประกอบอาชีพ และค่าวัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ และในส่วนที่ 4 จะเป็นส่วนที่จะต้องแบ่งปันออกมาเพื่อเก็บไว้ส่วนออม สำหรับใช้จ่ายในคราวจำเป็น ที่อาจจะเป็นสภาพการณ์หรือสถานการณ์ที่ไม่คาดฝันว่าจะเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นความเจ็บป่วย ความพลั้งเผลอจากการปฏิบัติหน้าที่หรือประกอบอาชีพ เป็นต้น ในการจัดสรรโภคออกเป็น 4 ส่วน จะอยู่ในรูปของการทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย ด้วยการกำหนดว่า ส่วนใดจะใช้จ่ายเท่าใด ต้องมีความซื่อสัตย์และซื่อตรงว่าจะไม่โยกส่วนใดส่วนหนึ่งมาใช้สำหรับอีกส่วนหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งส่วนที่ 4 ซึ่งเป็นส่วนที่จะต้องออมไว้ในคราวจำเป็น สำหรับโภคะที่เป็นอสังหาริมทรัพย์ก็เช่นเดียวกัน จะต้องมีการแบ่งออกเป็น 4 ส่วนเช่นเดียวกันในวาระต่าง ๆ แต่จะต้องมี 2 ส่วนสำหรับการทำมาหากินและอยู่อาศัย และจะต้องมีส่วนหนึ่งที่เก็บไว้เพื่อใช้หรือซื้อขายในยามจำเป็น มีผู้คนมากมายที่ไม่ได้ใช้หลักธรรมโภควิภาคชีวิตจึงล้มเหลว และผิดพลาด จนกระทั่งไม่มีที่อยู่อาศัย ไม่มีที่จะทำกิน เป็นต้น
2. ในการใช้หลักโภควิภาคสำหรับการบริหารจัดการในองค์กร ซึ่งเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนที่เป็นการบริหารจัดการด้านการเงินขององค์กรหรือหน่วยงาน เช่น การจัดสรรงบประมาณ เป็นต้น การแบ่งงบประมาณออกเป็นสี่ส่วน อาจจะได้แก่ ส่วนที่ 1 ซึ่งในปัจจุบัน ระบบการจัดสรรงบประมาณ จะเป็นส่วนที่เรียกว่า งบบุคลากร ซึ่งได้แก่ เงินที่ใช้สำหรับเงินเดือน และค่าตอบแทนต่าง ๆ ตามสิทธิที่เหมาะสม ในส่วนที่ 2 และ 3 จะเป็นส่วนที่ใช้จ่ายในการบริหารจัดการทั้งส่วนที่เป็นการปฏิบัติภารกิจหรือพันธกิจ ที่เป็นงบพื้นฐาน (งบ Function) งบยุทธศาสสตร์ (การปฏิบัติงานสร้างงานตามนโยบายหรือข้อกำหนดของรัฐบาล) และงบบูรณาการ (การปฏิบัติและสร้างงานเพื่อผลประโยชน์และการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในสังคมให้ดีขึ้นกว่าเดิม) และส่วนที่ 4 ก็คือ หมวดเงินสะสม ซึ่งในการดำเนินการเพื่อปฏิบัติตามหลักธรรมโภควิภาคให้ประสบผลสำเร็จ องค์กรหรือหน่วยงานจะต้องวางแผน โดยยึดจำนวนโภคะ ที่เป็นรายรับที่เกิดขึ้นจริง และการกำหนดแผนปฏิบัติจะต้องใช้หลักการวิจัย (Research-based) เป็นฐานในการปฏิบัติ กล่าวคือ มีการเก็บรวบรวมข้อมูลวิเคราะห์ให้ได้ความเหมาะสมและเป็นไปได้ในการปฏิบัติ และได้ผลลัพธ์ที่สอดคล้องกับเป้าหมายที่วางไว้
ดังนั้น ในการกำหนดสัดส่วนของการแบ่งโภคะ ออกเป็น 4 ส่วน ก็ไม่จำเป็นว่า จะต้องแบ่งออกเป็น 4 ส่วน เท่า ๆ กัน โดยทั่วไปการพิจารณากำหนดอัตราส่วนที่จะใช้ในการแบ่งทรัพย์ จะขึ้นอยู่กับปัจจัยที่เชื่อมโยงกันใน 4 ด้านคือ
- สถานภาพของบุคคลหรือองค์กร ว่ามีความรับผิดชอบ และจำนวนผู้ที่จะต้องดูแลมากน้อยเพียงใด ต้นทุนคือ ทรัพย์สินเงินทองมีเท่าใด ศักยภาพในการแสวงหาเป็นอย่างไร ขึ้นอยู่กับความสามารถของแต่ละบุคคล และแต่ละองค์กร
- ภาระหน้าที่ความรับผิดชอบว่า บทบาทหน้าที่มีอย่างไรมากน้อยเพียงใด ถ้าเป็นผู้บริหารสูงสุดก็จะมีความรับผิดชอบมากที่สุด เป็นต้น ในประเด็นนี้จึงนับว่า เป็นตัวแปรผกผันที่มีผลต่อการกำหนดอัตราส่วนของการแบ่งส่วน
- สถานภาพทางการเงิน หรือสถานภาพของการประกอบอาชีพว่ามีความมั่นคง หรือมีจำนวนมากเพียงพอในการดำรงชีวิตและประกอบกิจการงานได้มากน้อยอย่างไร
- รูปแบบของการดำรงสถานะในสังคมของบุคคลหรือองค์กร ซึ่งหมายความว่า เป็นบุคคลหรือองค์กรสังกัดอะไรในสังคม สามารถมีทรัพย์เพียงพอในการกำหนดอัตราส่วน หรือจะต้องวางแผนในการจัดหาเพิ่มเพื่อชดเชยหรือเติมเต็ม ในส่วนใดของการแบ่ง ในการกำหนดอัตราว่าจะเป็น 25 : 25 : 25 : 25 หรือ 30 : 60 : 10 ฯลฯ เช่น ถ้าบุคคลเป็นผู้สูงวัย ส่วนที่ 4 อาจจะน้อยกว่าส่วนที่ 2 และ 3 และ 1 ถ้าบุคคลอยู่ในวัยทำงาน ส่วนที่แบ่งก็จะแตกต่างออกไป ตามความจำเป็นและภาระหน้าที่ เป็นต้น
จากข้ออธิบายเกี่ยวกับหลักธรรม โภควิภาค 4 ที่พระพุทธองค์ได้ทรงเทศนาสั่งสอน โดยเฉพาะคฤหัสถ์ หรือผู้ครองเรือน ให้มีหลักยึดในการปฏิบัติ เพื่อความสุขสงบของตนเองและผู้อื่น จะเห็นได้ว่า หากผู้ใดหรือหน่วยงานใดได้นำไปปฏิบัติ จะเป็นผลให้เกิดกุศลในชีวิต คือทำให้วางแผนชีวิตและวางแผนการขับเคลื่อนองค์กร ให้เป็นและเป็นไปในทิศทางที่ถูกต้อง ทำให้การปฏิบัติงานเป็นไปด้วยความโปร่งใส ชัดเจน และที่สำคัญที่สุดคือ เป็นบุคคลหรือหน่วยงานที่ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาท ครองสติได้ดี จะทำการสิ่งใดก็ประสบความสำเร็จ เนื่องจากมีการการวางแผนและการปฏิบัติที่เหมาะสมและถูกต้อง
ศาสตราจารย์พิเศษ ดร. กาญจนา เงารังษี
มิถุนายน 2561