ม.นเรศวร ชูแนวคิดองค์การอนามัยโลก ยกระดับดูแลผู้สูงอายุเหนือล่าง

มหาวิทยาลัยนเรศวร ดำเนินการโดย คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร จัดงานมหกรรมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้โครงการพัฒนาบริการสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุ ตามแนวคิดอย่างมีศักยภาพ : การสูงวัยอย่างมีศักยภาพ จากแนวคิดสู่การปฏิบัติในชุมชน (Active aging from concept to practice in community) ระหว่างวันที่ 9 – 11 กรกฏาคม 2561 ณ โรงแรมอมรินทร์ลากูน จังหวัดพิษณุโลก ซึ่งมีกลุ่มเป้าหมายทั้งที่เป็นบุคลากรที่ดูแลงานผู้สูงอายุในระบบบริการสุขภาพระดับอำเภอ ประกอบด้วย แพทย์ พยาบาล ทันตแพทย์ เภสัชกร นักวิชาการสาธารณสุข นักกายภาพบำบัด นักการแทพย์แผนไทยประยุกต์ และผู้ปฏิบัติงานวิชาชีพด้านสุขภาพอื่นในพื้นที่, ผู้ปฏิบัติงานในองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ที่ดูแลงานผู้สูงอายุในระดับอำเภอ, นักวิชาการที่มีความสนใจเกี่ยวกับการดูแลผู้สูงอายุ ประกอบด้วย อาจารย์ นิสิตนักศึกษา, กลุ่มประชาชนที่มีส่วนในการจัดโครงการหรือกิจกรรมเกี่ยวกับการดูแลผู้สูงอายุ เช่น อาสาสมัครสาธารณสุข ชมรมผู้สูงอายุ และผู้สูงอายุ เป็นต้น เข้าร่วมงานดังกล่าว

สำหรับที่มาในการดำเนินการจัดงานฯ ดังกล่าว ได้นำย้อนไปที่ข้อมูลในปี พ.ศ. 2556 ที่ประเทศไทยมีประชากรทั้งหมดประมาณ 66 ล้านคน มีอัตราเพิ่มประชากรร้อยละ 0.5 ต่อปี เป็นประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปมากถึง 9.6 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 14 ของประชากรทั้งหมด ที่แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแล้ว ทั้งนี้พบว่าในปี พ.ศ. 2563 จำนวนผู้สูงอายุในประเทศไทย จะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 15.28 คือ 11.8 ล้านคน และในปี พ.ศ. 2568 จะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 19.8 คือ 14.4 ล้านคน และยังคาดว่าในปี พ.ศ. 2573 จะเพิ่มเป็นร้อยละ 25.1 ตามลำดับ ทำให้ประเทศไทยจะกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุระดับสุดยอด (Super aged society) ซึ่งมีสัดส่วนส่วนประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป มากกว่าร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมด ทั้งนี้ ภาคเหนือเปลี่ยนแปลงเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเร็วกว่าภาคอื่นในระดับประเทศ

นอกจากนั้น ในปี ค.ศ.2002 องค์การอนามัยโลก ได้เสนอแนวคิดการสูงวัยอย่างมีศักยภาพ (Active Ageing) ซึ่งมุ่งเน้นการส่งเสริมสุขภาพ ให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพทั้งด้านความสามารถ คุณค่า คุณประโยชน์ และศักยภาพของผู้สูงอายุในการดำรงชีวิต โดยเป็นแนวคิดที่ประกอบด้วยการมีสุขภาพดี (Health) การมีส่วนร่วม  (Participation) และการมีหลักประกันที่มั่นคง (Security) การนำแนวคิดการสูงวัยอย่างมีศักยภาพมาดำเนินการร่วมกันระหว่างภาคการศึกษา ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ในการยกระดับขีดความสามารถในการเป็นชุมชนต้นแบบของการดำเนินชีวิตสำหรับผู้สูงอายุของกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่างให้ครอบคลุมมีสุขภาพดี (Health) การมีส่วนร่วม  (Participation) และการมีหลักประกันที่มั่นคง (Security)

อย่างไรก็ตาม ประเทศไทย มีการพัฒนาเกี่ยวกับผู้สูงอายุมาอย่างต่อเนื่องในระดับมหภาค เช่น พระราชบัญญัติผู้สูงอายุฉบับที่ 1 พ.ศ. 2546 และในปี พ.ศ.2553 มีการออกพระราชบัญญัติที่แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 2 พ.ศ. 2553 นอกจากนี้มีการออกพระราชบัญญัติกองทุนการออมแห่งชาติ พ.ศ. 2554 ต่อมาปีพ.ศ.2558 กรมกิจการผู้สูงอายุเป็นหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบภารกิจเกี่ยวกับผู้สูงอายุโดยตรงได้จัดทำแผนกลยุทธ์กิจการผู้สูงอายุ พ.ศ.2560–2564 ความพร้อมของประชาชนในชุมชนสู่วัยสูงอายุ ต้องอาศัยความร่วมมือจากทั้งภาคราชการและภาคประชาสังคม ในส่วนของกระทรวงสาธารณสุข มีแผนงานส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุและผู้พิการ ปี พ.ศ. 2556 โดยมีตัวชี้วัดของแผน ใน 3 ยุทธศาสตร์คือ 1) ส่งเสริมผู้สูงอายุให้มีสุขภาพดีตามมาตรฐานสุขภาพผู้สูงอายุ 2) พัฒนาระบบบริการสุขภาพที่มีคุณภาพ เชื่อมโยงจากสถานบริการสู่ชุมชน และ 3) สร้างความเข้มแข็งการมีส่วนร่วมของท้องถิ่นในการส่งเสริมสุขภาพและดูแลผู้สูงอายุในชุมชน ดังนั้นการนำแนวคิดการสูงวัยอย่างมีศักยภาพและเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติ แผนงานส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุและผู้พิการสู่การปฏิบัติในชุมชน เป็นสิ่งจำเป็น

คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร มีพันธกิจด้านหนึ่งในการจัดบริการวิชาการ เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่างๆ พร้อมทั้งถ่ายทอดประสบการณ์ และเพื่อพัฒนาผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเป็นศูนย์กลางธุรกิจ และบริการสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุในพื้นที่กลุ่มภาคเหนือตอนล่าง 1 ดังนั้น เพื่อสร้างเครือข่ายของผู้กำหนดนโยบาย ผู้ปฏิบัติงาน และนักวิชาการ ในการรองรับสังคมผู้สูงอายุในอนาคต ให้สอดคล้องกับทรัพยากรและบริบทของพื้นที่ คณะฯ จึงจัดกิจกรรมมหกรรมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้โครงการพัฒนาบริการสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุ ตามแนวคิดอย่างมีศักยภาพ : การสูงวัยอย่างมีศักยภาพ จากแนวคิดสู่การปฏิบัติในชุมชนในครั้งนี้ขึ้นมา

Loading

แชร์รายการนี้
fb-share-icon