มหาวิทยาลัยนเรศวร โดย คณะสหเวชศาสตร์ จัดอบรมบุคลากรวิชาชีพด้านสุขภาพในการดูแลผู้สูงอายุ จาก 17 จังหวัดในภาคเหนือ เรื่อง “การคัดกรองความผิดปกติทางการมองเห็น” ภายใต้โครงการพัฒนาศักยภาพและสุขภาวะผู้สูงอายุในเขตภาคเหนือตอนล่าง
เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2561 เวลา 09.00 น. นายไพบูลย์ ณะบุตรจอม รองผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีเปิดการอบรมบุคลากรวิชาชีพด้านสุขภาพในการดูแลผู้สูงอายุ “การคัดกรองความผิดปกติทางการมองเห็น” ภายใต้โครงการพัฒนาศักยภาพและสุขภาวะผู้สูงอายุในเขตภาคเหนือตอนล่าง คณะสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ซึ่งได้มีการจัดงานวันที่ 5-6 กรกฎาคม 2561 ณ โรงแรมท็อปแลนด์ จังหวัดพิษณุโลก
สำหรับการจัดการอบรมฯ ดังกล่าว มีบุคลากรวิชาชีพจาก 17 จังหวัดในภาคเหนือเข้าร่วมอบรม กว่า 190 คน นอกจากนั้น คณะสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ได้รับเกียรติจากแพทย์ และบุคลากรผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางมาถ่ายทอดองค์ความรู้ อาทิ คุณบุศราคํา วิรบุตร์ โรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์, แพทย์หญิงวงศ์ศิริ ทวีบรรจงสิน โรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์, รองศาสตราจารย์แพทย์หญิงรสสุคนธ์ คชรัตน์ ภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร, อาจารย์นุชนารถ โต๊ะดี วิทยาลัยราชสุดา มหาวิทยาลัยมหิดล, นายแพทย์คณินท์ เหลืองสว่าง ภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร, อาจารย์ภาวศุทธิ์ ลีดาสวัสดิ์ ภาควิชาทัศนมาตรศาสตร์ คณะสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร เป็นต้น
โครงการพัฒนาศักยภาพและสุขภาวะผู้สูงอายุในเขตภาคเหนือตอนล่างนี้ ได้เล็งเห็นว่าปัจจุบันประเทศไทยเริ่มเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และมีการคาดการณ์ว่าในปี 2568 ประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุ
โดยสมบูรณ์ ปัญหาด้านสุขภาพของประชาชนที่เกิดจาการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุที่ต้องเผชิญคือความเจ็บป่วยและความบกพร่องในการทำงานของร่างกายในทุกๆ ด้าน รวมถึงปัญหาที่เกิดขึ้นกับสภาพจิตใจ ซึ่งจะก่อให้เกิดรายจ่ายมหาศาลของประเทศ ดังนั้นเพื่อป้องกันและรับมือแก้ไขปัญหาดังกล่าว จึงจำเป็นที่ต้องมีการวางแผนในการป้องกันการเจ็บป่วย การสร้างเสริมสุขภาพผู้สูงอายุและการเตรียมความพร้อมของผู้สูงวัยเพื่อเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างมีศักยภาพและมีสุขภาวะที่ดี การดูแลและการรองรับสังคมผู้สูงอายุที่เหมาะสมกับสถานการณ์และทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ หากไม่มีการเตรียมการรองรับหรือการวางแผนที่ดี จะนำมาสู่การเกิดปัญหาหรือวิกฤติในการดูแลผู้สูงอายุ