เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2564 ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.กาญจนา เงารังษี อธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวร ให้การต้อนรับผู้เข้าร่วมงานประชุมสัมมนาในโอกาสครบรอบ 10 ปี คณะโลจิสติกส์และดิจิทัลซัพพลายเชน ในหัวข้อ NU-Logistics, the 1st Decade and Next เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้และเป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านโลจิสติกส์และดิจิทัลซัพพลายเชนให้แก่ภาครัฐ ภาคเอกชน นักวิชาการ นิสิต และประชาชนที่สนใจทั่วไป อีกทั้งเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางด้านโลจิสติกส์และดิจิทัลซัพพลายเชน ของศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบันและเปิดโอกาสในการสร้างเครือข่ายความสัมพันธ์อันดี ระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน ตลอดจนผู้เข้าร่วมงานจากทั่วประเทศ โดยมี นายสมเกียรติ พูลสุขเสริม รองผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก เป็นประธานในพิธีเปิดงาน
โอกาสนี้ ได้รับเกียรติจาก นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ปาฐกถา ในหัวข้อ “บทบาทการพัฒนาคนและสังคมในการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน” โดยได้กล่าวว่า “วันนี้ทุกประเทศ มีปัญหาการจัดเก็บรายได้ และมีปัญหาการสร้างสิ่งพื้นฐานอำนวยความสะดวก แต่สิ่งที่รัฐบาลอยากจะเน้นตลอดเวลา คือ การเพิ่มมูลค่าระบบขนส่งอุปทานในทุกมิติ ไม่ว่าจะทำเรื่องอะไรต้องเน้นในเรื่องนี้ โลจิสติกส์เป็นหัวใจของการขับเคลื่อนประเทศ หัวใจของการเดินก้าวหน้าในศตวรรษที่ 21 เมื่อปี 2020 มูลค่าของโลจิสติกส์ในประเทศไทยมี 61,000 ล้านบาท และคาดการว่าหลังจากโควิดนี้แล้ว มีการเติบโตอย่างก้าวข้ามกระโดดใน ปี 2026 มูลค่าจะขึ้นไปถึง 200,000 ล้านบาท และประเทศไทยจะเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับที่ 2 ในอาเซียน ฉะนั้นเราต้องใช้ฐานองค์ความรู้ของมหาวิทยาลัยนเรศวร ใช้ฐานในการชี้เป้าชี้โอกาสของสภาหอการค้า สภาอุตสาหกรรมให้ดี เพราะว่าในประเทศที่เจริญแล้วเขาขับเคลื่อนได้ อย่างประเทศอังกฤษ โลจิสติกส์มีมูลค่าถึง 50% ฉะนั้นบอกได้เลยว่า เทคโนโลยีเป็นสิ่งสำคัญ คุณภาพมนุษย์เป็นสิ่งสำคัญมาก ดังนั้นต้องทำควบคู่ไปด้วยกัน
วันนี้กระทรวงวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมก็ได้ร่วมประชุมมหาวิทยาลัย ร่วมกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงมนุษย์นั้น จะพัฒนาอาชีพ อาชีพหลักๆที่เพื่อให้คนพิษณุโลก คนในประเทศไทยมีอาชีพใหม่ ต้องบอกกันว่าหลังจากโควิดแล้ว อาชีพเดิมๆที่มี 10 อาชีพ จะหายไปประมาณ 5 อาชีพ และจะมีอาชีพเพิ่มอีกใหม่ๆอีก 5 อาชีพ ดังนั้น 1 ใน 5 อาชีพนั้น เป็นอาชีพโลจิสติกส์ และจำเป็นต้องสร้างองค์ความรู้ สร้างทักษะ สร้างความเชี่ยวชาญ เพื่อจังหวัดพิษณุโลกนั้นได้เป็น 1 ในฮับของประเทศ ที่จะมีการทำการลงทุนเรื่องโลจิสติกส์และเป็นศูนย์กลางเรื่องสี่แยกอินโดจีนได้เป็นอย่างดี สุดท้ายก็อยากจะฝากมหาวิทยาลัยนเรศวร ฝากสภาหอการค้า ฝากสภาอุตสาหกรรม นี่คือนโยบายรัฐบาล รัฐบาลนั้นสนับสนุนที่จะพัฒนาเพิ่มมูลค่าขนส่งห่วงโซ่อุปทานอย่างเต็มที่ ก็ขอให้งานที่ผ่านมานั้น ได้ทบทวนและได้โตแบบก้าวกระโดด เพราะว่าสมมติฐานใหม่นั้นไม่มีอะไรที่บอกว่าเป็นไปไม่ได้อีกแล้วทุกอย่างเป็นไปได้ ขอให้มหาวิทยาลัยนเรศวรและกระทรวงต่างๆร่วมมือกันและผลักดันให้ประเทศไทยไปสู่แนวหน้าในการเป็นผู้มีบทบาทในอาเซียนอันดับที่สองให้ได้”
นอกจากนั้น ภายในงานจัดให้มีกิจกรรมด้านวิชาการ พร้อมรับรับฟังการเสวนาจากผู้ทรงคุณวุฒิด้านโลจิสติกส์และกิจกรรมอื่น ๆ อีกมากมาย อาทิ การปาฐกถา ในหัวข้อ “ทิศทางการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมของประเทศไทย” โดย นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม การเสวนาในหัวข้อ “การขับเคลื่อนด้านโลจิสติกส์เพื่อการพัฒนาประเทศ” และการบรรยายในหัวข้อที่น่าสนใจมากมาย อาทิ หัวข้อ “ทิศทางการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันผู้ประกอบการในปัจจุบันและอนาคต” หัวข้อ “กลยุทธ์การพัฒนาอุตสาหกรรมการบินเพื่อรองรับการเติบโตเศรษฐกิจไทย” เป็นต้น ทั้งนี้มีนิสิต นักวิชาการ รวมทั้งประชาชนที่มีความสนใจ ในด้านโลจิสติกส์และดิจิทัลซัพพลายเชนของไทย กว่า 100 คน ณ อาคารเอกาทศรถ คณะโลจิสติกส์และดิจิทัลซัพพลายเชน มหาวิทยาลัยนเรศวร