วันที่ 20 พฤศจิกายน 2564 ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.กาญจนา เงารังษี อธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวร ให้การต้อนรับ ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่หน่วย บพท. , ผู้แทนสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) พอช. , นักวิจัยจากส่วนกลาง และนักวิจัยโครงการวิจัยการแก้ไขปัญหาความยากจนจากสถาบันอุดมศึกษาในพื้นที่ ได้แก่ จังหวัดแม่ฮ่องสอน จังหวัดลำปาง จังหวัดชัยนาท และจังหวัดพิษณุโลก กว่า 80 คน ในโอกาสที่มาร่วมงาน โครงการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ “การเชื่อมโยงกรอบแนวคิดการดำรงชีพอย่างยั่งยืน (SLF) กับการพัฒนาโมเดลแก้จน” โดยมี ศาสตราจารย์ ดร.จิรวัฒน์ พิระสันต์ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวร เป็นหัวหน้าโครงการการศึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหาความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำภาคเหนือตอนล่าง : กรณีศึกษาจังหวัดพิษณุโลก เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการวิเคราะห์ข้อมูลครัวเรือนกับทุนการดำรงชีพของคนจนและความเข้าใจเกี่ยวกับแนวคิดการดำรงชีพอย่างยั่งยืน (SLF) รวมถึงเพื่อพัฒนายุทธศาสตร์แก้จนระดับพื้นที่/โครงการช่วยเหลือ (Operating Model) อย่างตรงเป้า สอดคล้องกับบริบทและศักยภาพของคนจนเป้าหมาย นำไปสู่การแก้ไขปัญหาคนจนอย่างยั่งยืนต่อไป ณ ห้องประชุม 301 อาคารเอกาทศรถ มหาวิทยาลัยนเรศวร
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2564 มหาวิทยาลัยนเรศวร ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ การศึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหาความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำภาคเหนือตอนล่าง : กรณีศึกษาจังหวัดพิษณุโลก ร่วมกับจังหวัดพิษณุโลก และหน่วยงานภาคีเครือข่าย จำนวน 12 หน่วยงาน ซึ่งประกอบไปด้วย จังหวัดพิษณุโลก สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดพิษณุโลก สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดพิษณุโลก สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพิษณุโลก สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดพิษณุโลก อำเภอบางระกำ อำเภอเนินมะปราง องค์การบริหารส่วนตำบลวังอิทก องค์การบริหารส่วนตำบลชุมแสงสงคราม เทศบาลตำบลไทรย้อย และหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) เพื่อบูรณาการประสานความร่วมมือจากหน่วยงาน ทุกภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ช่วยเหลือประชาชนกลุ่มเปราะบางรายครัวเรือนให้ครอบคลุมในทุกมิติแบบองค์รวม และให้สามารถเข้าถึงสิทธิและสวัสดิการ รวมทั้งพัฒนาคุณภาพชีวิตกลุ่มเปราะบาง ให้สามารถอยู่ในครอบครัวได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน เป็นรูปธรรมเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน และประเทศชาติอย่างยั่งยืนต่อไป
แชร์รายการนี้